ใบย่านาง
ชื่ออื่นๆ : ย่านางขาว
ต้นกำเนิด : พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ในทุกภาคของประเทศไทย ภาคกลาง
ชื่อสามัญ : ย่านาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels
ชื่อวงศ์ : MENISPERMACEAE
ลักษณะของย่านาง
ต้น เป็นไม้เถาว์เลื้อย เกี่ยวพันไม้อื่น เป็นเถาว์กลมๆ ขนาดเล็ก แต่เหนียว มีสีเขียว เมื่อเถาว์แก่จะมีสีเข้ม บริเวณเถาว์มีข้อห่างๆ เถาอ่อน มีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ ราก มีหัวใต้ดิน รากมีขนาดใหญ่
ใบ เป็นใบเดี่ยวคล้ายใบพริกไทย ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ในภาคใต้ใบค่อนข้างเรียวยาวแหลมกว่า สีเขียวเข้ม หน้าและหลังใบเป็นมัน
ดอก ออกตามซอกใบ ซอกโคนก้าน จากข้อเถาว์แก่เป็นช่อยาว 2-5 ซม. ช่อหนึ่งๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลีอง 3-5 ดอก ออกดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก ขนาดโตกว่าเมล็ดงาเล็กน้อย ต้นเพศผู้จะมีดออกสีน้ำตาล อับเรณูสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยของต้นเพศผู้จะมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกมีขนสั้นๆ ละเอียด ปกคลุมหนาแน่น ออกดอกช่วงเดือนเมษายน
ผล รูปร่างกลมเล็ก ขนาดเท่าผลมะแว้ง สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดง หรือสีแดงสด และกลายเป็นสีดำในที่สุด
เมล็ด เมล็ดแข็งรูปเกือกม้า
แหล่งที่พบ ย่านางเป็นพืชที่พบในแหล่งธรรมชาติ ป่าทั่วไปที่มีความชุ่มชื้น บริเวณป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคอื่นๆ ก็มีกระจายทั่วไป
การขยายพันธุ์ของย่านาง
ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิด และปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาว์แก่ที่ติดหัว ปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายโดยปลูกเป็นหลุมหรือยกร่องก็ได้
ธาตุอาหารหลักที่ย่านางต้องการ
ประโยชน์ของย่านาง
ใบย่านางรสจืด
คุณค่าทางโภชนาการ ข้อมูลจากหนังสือ Thai Food Composition Institute of Nutrition, Mahidol University (สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) พบว่า ปริมาณสารสำคัญที่มีมากและโดดเด่นในใบย่านาง คือ ไฟเบอร์ แคลเซี่ยม เหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ
ประโยชน์ทางอาหาร
ย่านาง มีทุกฤดูกาล ให้ยอดมากในฤดูฝน และให้ผลในฤดูแล้ง
ส่วนที่กินและการปรุงอาหาร
คนไทยนิยมใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆ เช่น แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ (ย่านางสามารถต้านพิษกรดยูริกในหน่อไม้ได้) แกงอ่อม แกงเห็ด หรือขยี้ใบสดกับหมาน้อย รับประทานถอนพิษร้อนต่างๆ
ภาคอีสาน
เถาว์และใบของย่านางนิยมใช้เป็นเครื่องปรุงรส ใช้แต่งสีเขียวในอาหารคาว และช่วยทำให้น้ำแกงข้นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประกอบเป็นอาหารต่างๆ ดังนี้
- เถาว์ ใบอ่อน ใบแก่ ตำ คั้นเอาน้ำสีเขียว นำไปต้มกับหน่อไม้ ปรุงเป็นแกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ แกงต้มเปรอะ เชื่อว่าย่านางจะช่วยลดรสขม ของหน่อไม้ได้ดี ทำให้หน่อไม้มีรสหวานอร่อย
- นำไปแกงกับยอดหวาย
- นำไปแกงกับขี้เหล็ก
- นำไปใส่แกงขนุน แกงผักอีลอก
- นำไปอ่อมและหมก
ข้อควรระวัง (ขลำ) ต้องทำให้สุก
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนอีสานไม่มีข้อห้ามในการกินหน่อไม้ในคนที่สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากทางภาคอื่นๆ ที่มีข้อห้ามในการบริโภคหน่อไม้ เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเชื่อกันว่าหน่อไม้มีผลทำให้ปวดข้อ แต่คนอีสานมีวัฒนธรรมการกินหน่อไม้คู่กับย่านางเสมอ จึงไม่มีปัญหาเหมือนการกินหน่อไม้ของภาคอื่นๆ
ภาคใต้
- ใช้ยอด ใบเพสลาด (ไม้อ่อน ไม่แก่เกินไป) นำไปแกงเลียง ผัด แกงกะทิ
- ผลสุก ใช้กินเล่น
ภาคเหนือ
- ยอดอ่อน นำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
- ยอดอ่อน ใบแก่ คั้นน้ำนำมาใส่แกงพื้นเมือง เช่น แกงหน่อไม้ แกงแค
ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ
- น้ำสีเขียวจากใบย่านางนำไปใช้ย้อมผ้าได้อีกด้วย
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น กระบือ
- เถาว์ มีความเหนียว ใช้มัดสัมภาระได้
สรรพคุณทางยาของย่านาง
สารเคมีที่สำคัญ
รากย่านางมี isoquinolone alkaloid ได้แก่ Tiliacorine, Tiliacorinine, Nortiliacorinine A, Tiliacotinine 2-N-oxde และ tiliandrine, tetraandrine, D-isochondendrine (isberberine)
การทดลองทางห้องปฏิบัติการ
จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียชนิด ฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง ใบ รสจืดขม รับประทาน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้หัว ไข้กลับซ้ำ ใช้เข้ายาเขียว ทำยาพอก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง กวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดงเถา
ราก รสจืดขม กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้พิษ ไข้ผิดสำแดง ไข้เหนือ ไข้หัวจำพวกเหือดหัด สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ รับประทานแก้พิษเมาเบื่อแก้เมสุรา แก้พิษภายในให้ตกสิ้น บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้โรคหัวใจบวม ถอนพิษผิดสำแดง แก่ไม่ผูก ไม่ถ่าย แก้กำเดา แก้ลม
ทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ
- แก้ไข้
ใช้รากย่านางแห้ง 1 กำมือ ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำ 2 แก้วครึ่ง เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว ให้ดื่มครั้งละ ½ แก้ว ก่อนอาหาร 3 เวลา - แก้ป่วง (ปวดท้องเพราะกินอาหารผิดสำแดง)
ใช้รากย่านางแดงและรากมะปรางหวาน ฝนกับน้ำอุ่น แต่ไม่ถึงกับข้น ดื่มครั้งละ ½-1 แก้วต่อครั้ง วันละ 3-4 ครั้ง หรือทุกๆ 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีรากมะปรางหวาน ก็ใช้รากย่านางแดงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าให้ดียิ่งขึ้น ใช้รากมะขามฝนรวมด้วย - ถอนพิษเบื่อเมาในอาหาร เช่น เห็ด กลอย ใช้รากย่านางต้นและใบ 1 กำมือ ตำผสมกับข้าวสารเจ้า 1 หยิบมือ เติมน้ำคั้นให้ได้ 1 แก้ว กรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่เกลือและน้ำตาลเล็กน้อยพอดื่มง่ายให้หมดทั้งแก้ว ทำให้อาเจียนออกมา จะช่วยให้ดีขึ้น
- ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
ใช้หัวย่านางเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วนดื่มครั้งละ ½ แก้ว
การใช้เป็นยาพื้นบ้านในภาคอีสาน
- ใช้ราก ต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น
- ใช้รากย่านางผสมรากหมาน้อย ต้มแก้ไข้มาลาเรีย
- ใช้ราก ต้มขับพิษต่างๆ
คุณค่าทางโภชนาการของย่านาง
ใบย่านาง 100 กรัม ให้คุณค่าโภชนาการดังนี้
- พลังงาน 95 กิโลแคลอรี่
- เส้นใย 7.9 กรัม
- แคลเซี่นม 155 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
- เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 30625 IU
- วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม
- ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 141 มิลลิกรัม
- โปรตีน 15.5 เปอร์เซนต์
- ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซนต์
- โพแทสเซี่ยม 1.29 เปอร์เซนต์
- แคลเซี่ยม 1.42 เปอร์เซนต์
- ADF 33.7 เปอร์เซนต์
- NDF 46.8 เปอร์เซนต์
- DMD 62.0 เปอร์เซนต์
- แทนนิน 0.21 เปอร์เซนต์
การแปรรูปของย่านาง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9244&SystemType=BEDO
https:// th.wikipedia.org
https:// pharmacy.mahidol.ac.th
https://www.flickr.com