ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและระบบนิเวศตามธรรมชาติ

ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ

เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ (Bio-Energetic & Organic Agriculture) เป็นระบบเกษตรกรรมที่รวบรวมผสมผสานภูมิปัญญาวิธีทำการเกษตรของคนยุคโบราณ รวมทั้งหลักการแนวคิดและวิธีการที่เป็นข้อดีของระบบเกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพจากทั่วโลก เข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่เป็นระบบของยุคปัจจุบัน ด้วยความเข้าใจวิถีของธรรมชาติ โดยมองว่าทุกสิ่งในธรรมชาติมีความเกี่ยวโยงเป็นหนึ่งเดียว หัวใจของเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมือนระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดินด้วยกระบวนการธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีคุณภาพดีเหมือนดินในป่าธรรมชาติ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตทั้งใต้ดินและบนดิน ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง ต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืชได้ดี ให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบของธรรมชาติที่มีผลต่อการเติบโตของพืช ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เช่น สภาพภูมิอากาศ แรงดึงดูดของโลกและดวงดาวบนท้องฟ้า พลังงานจากธรรมชาติ เช่น จากสนามแม่เหล็กโลก เป็นต้น และพลังที่ผิดธรรมชาติ เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งล้วนมีผลต่อผลผลิตทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

เกษตรชีวภาพ
เกษตรชีวภาพ เน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าและปริมาณสารอาหาร รสชาติอาหารตามธรรมชาติ

เทคนิควิธีการที่นำมาผสมผสานรวมไว้ในระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ เพื่อการฟื้นฟูบำรุงดินและเพิ่มประสิทธิผลการผลิต รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง แนวทางตามหลักวิธีของระบบเกษตรชีวภาพแบบมีพลวัต (Bio-Dynamic) ระบบชีวภาพเข้มข้น (Bio-Intensive) ระบบเกษตรกรรมเข้มข้นของฝรั่งเศส (French Intensive Farming) และระบบเกษตรกรรมถาวร (Permaculture) ระบบเกษตรธรรมชาติแบบญี่ปุ่น (Japanese Natural Farming) ทั้งตามแบบของคุณลุงมาซาโนบุเ ฟูกูโอกะ และแบบของท่านโมกิจิ โอกาดะ หรือแบบเอ็มโอเอ (MOA) และคิวเซ ตลอดจนระบบเกษตรธรรมชาติแบบเกาหลี (Korean Natural Farming) ของคุณลุงโช รวมทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยโบราณ และของปราชญ์ชาวบ้านเกษตรกรไทยยุคใหม่ โดยเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมของดินให้เหมาะสมกับการดำรงอยู่ของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับพืชและระบบนิเวศ ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำการเพาะปลูก

นอกจากนี้ยังรวมเทคโนโลยีชีวภาพอย่างการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการเกษตร (Vermiculture) และการใช้ถ่านชีวภาพ (BioChar) ซึ่งเป็นผลผลิตของการอบอินทรีย์วัตถุด้วยความร้อนต่ำและอ๊อกซิเจนต่ำ (pyrolisis) ซึ่งทำให้ได้ถ่านชีวภาพที่มีสารประกอบคาร์บอนเหลืออยู่ในเนื้อถ่านสูง ถ่านที่ได้มีโครงสร้างที่เป็นรูพรุน สามารถกักเก็บน้ำได้ดี และเป็นที่อยู่อย่างดีของจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตร รวมทั้งยังสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนกลับมาเก็บไว้ในดินได้มากกว่าทีปล่อยออกไป (carbon negative technology) และยังรวมถึงการใช้พลังธรรมชาติลักษณะต่างๆ เพื่อเสริมช่วยการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิต และรักษาสมดุลของระบบนิเวศของธรรมชาติ เช่น การใช้ประโยชน์จากระดับความอ่อนเข้มของแสงอาทิตย์ การใช้ประโยชน์จากแรงดึงดูดของโลกและดวงจันทร์ช่วยเสริมการเติบโตของพืช การใช้พลังสนามแม่เหล็กและคลื่นพลังชีวิตเพื่อปรับรูปทรงของผลึกน้ำที่ใช้ และการป้องกันพลังด้านลบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อพืช ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเข้าใจหลักการทำงานพื้นฐานของพลังธรรมชาติเหล่านี้แล้ว จะสามารถปรับใช้พลังธรรมชาติเหล่านี้ด้วยเทคนิคต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับประเภทของพืชและในทุกสภาพแวดล้อม จึงทำให้ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนแบบองค์รวมที่มีพลวัตสูง ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยในการบริโภค มีแร่ธาตุสารอาหารและพลังชีวิตที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน และในปริมาณที่สูงกว่าระบบเกษตรกรรมเคมี รวมทั้งยังเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และบูรณาการวิธีการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาเพิ่มประสิทธิผลของระบบอยู่เสมอ

ดังนั้นความจริงแล้วระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นระบบเกษตรกรรมที่พึ่งพิงกระบวนการทางชีวภาพของธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนยุคก่อนในการรักษาความยั่งยืนในการผลิตอาหาร ที่สามารถพบได้ในทุกอารยธรรมโบราณทั่วโลก เป็นวิธีการที่ใช้กันมาแล้วเมื่อ 5,000 ปีก่อนในเอธิโอเปีย 4,000 ปีในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย 2,000 ปีในกรีซ 1,000 ปีในวัฒนธรรมชาวมายา และ 300 ปีในยุโรป เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ง่าย ตั้งอยู่บนความเข้าใจกระบวนการและสมดุลของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งแท้จริง ซึ่งให้ผลผลิตดีแบบยั่งยืน และเป็นระบบจัดการไร่และสวนแบบองค์รวมตามแบบธรรมชาติ ซึ่งทำให้

  • เป็นระบบการผลิตอาหารที่ครบวงจรอย่างสมบูรณ์ ใช้เพียงแรงคนและเครื่องมือทำสวนอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องพึ่งเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเทคโนโลยีราคาแพง ไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร จึงลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลในกระบวนการผลิตลงได้ถึงร้อยละ 95-99 ไม่ต้องใช้การวิจัยในห้องทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนควบคุมธรรมชาติซึ่งอาจมีผลพวงที่คาดเดาไม่ถึงในภายหลัง ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมเกษรตามธรรมชาติ จึงเป็นระบบเกษตรกรรมที่ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถทำได้ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย
  • ใช้วิธีการปลูกพืชที่หนาแน่นชิดกัน ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้มากกว่าเกษตรเคมีถึง 2-4 เท่าตัว เพราะดินที่มีการจัดการอย่างถูกหลักจะสามารถปลูกพืชต่อพื้นที่ได้มากกว่าถึง 4 เท่า และในระยะยาวจะสามารถให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 6-12 เท่า เมื่อมีการจัดการดินจนมีความอุดมสมบูรณ์เหมือนดินในป่าตามธรรมชาติ จึงทำให้ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลง โดยสามารถใช้ที่ดินเพียง 80 ตร.ว. ปลูกพืชพอเลี้ยงคน 1 คนได้ตลอดปีในระบบปิดที่ไม่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากภายนอกเลย
  • ใช้การขุดพรวนดินลึกเป็นสองเท่าของเกษตรเคมี เพื่อร่นระยะเวลาการพัฒนาดินให้เร็วกว่ากระบวนการธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกพืช มีระบบการปลูกพืชเพื่อใช้ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง และในระยะแรกใส่เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ในดินเพียงเล็กน้อยเพื่อปรับสมดุลของสารอาหารพืชในดิน ในระยะต่อๆ ไปสามารถลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึงร้อยละ 50-100 ลดวัชพืชลงได้กว่าร้อยละ 50 และใช้น้ำเพียงร้อยละ 12-33 ของการทำเกษตรแบบเคมี3 ทำให้สามารถลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากภายนอกได้โดยสิ้นเชิง
  • การปลูกพืชแน่นชิดกันสามารถช่วยรักษาความชื้นในดินได้ดี โดยปกติพืชที่ปลูกในดินอุดมที่มีสารอินทรีย์สูง จะทนแล้งและทนน้ำท่วมได้ดีกว่าพืชที่ปลูกแบบเกษตรเคมี จึงสามารถลดการพึ่งพิงน้ำซึ่งจะขาดแคลนมากยิ่งขึ้นในฤดูแล้ง และทนต่อภัยน้ำท่วมที่จะเกิดมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเพราะภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าพืชที่ปลูกด้วยระบบเกษตรกรรมแบบอื่น
  • สามารถปรับเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เร็วกว่ากระบวนการธรรมชาติถึง 60 เท่า สามารถเพิ่มหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อทุก 1 กิโลกรัมของอาหารที่เรารับประทาน จึงลดเวลาการปรับเปลี่ยนสภาพดินเสื่อม ดินเสีย และดินตายจากการทำเกษตรเคมี ให้สามารถให้ผลผลิตเทียบเคียงกับเกษตรเคมีจาก 3-7 ปีเหลือเพียง 1-2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินก่อนเริ่มการปรับเปลี่ยน
  • ผลผลิตมีปริมาณแร่ธาตุสารอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้นกว่าผลผลิตจากเกษตรเคมี สารอาหารบางชนิดสูงกว่าเป็นร้อยหรือเป็นพันเท่าตัว และเปี่ยมด้วยพลังชีวิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ จึงสามารถลดปัญหาด้านสุขภาพของทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพของประเทศลงได้อย่างมาก
  • ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเพื่อขยายที่ทำกิน เพราะความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกลดลง ทำให้มีป่าเหลือและมีที่ดินเพื่อปลูกป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและรายได้เสริมของชุมชน รวมทั้งมีต้นไม้ใหญ่ในป่ามากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซ CO2 ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเพิ่มก๊าซ O2 ให้กับโลกได้
  • เพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของดิน เพราะดินที่อุดมสมบูรณ์จากการทำเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจะเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์มีประโยชน์จำนวนมหาศาล จุลินทรีย์เหล่านี้นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ จากดิน ทั้ง คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ไนไตรท์ออกไซด์ (N2O) และ มีเทน (CH4) แล้ว ยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กลับมาเก็บไว้ในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ประมาณว่าดินที่มีอยู่ทั่วโลกสามารถดูดคาร์บอนจากอากาศได้ถึง 1,000 ล้านตันต่อปี
  • เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้สิ่งแวดล้อม
เกษตรอินทรีย์
เกษตรอินทรีย์ เพื่อการฟื้นฟูบำรุงดินและเพิ่มประสิทธิผลการผลิต

ระบบเกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพจึงเป็นวิธีทำการเกษตรยั่งยืนแบบองค์รวมที่ครบวงจรในตัวเอง ซึ่งหากทำแบบเต็มรูปไประยะเวลาหนึ่งแล้วจะสามารถเป็นระบบปิดที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเลย และนอกจากจะลดต้นทุนการผลิตต่อพื้นที่ลงแล้ว ยังเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างเสริมสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนทำให้ประเทศมีหลักประกันความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร จึงสามารถเป็นต้นแบบของคำตอบและให้ทางออกสำหรับปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรไทย และเกษตรกรรายย่อยในโลกได้ อีกทั้งยังอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่มนุษย์เรามีอยู่ในขณะนี้ สำหรับต่อสู่กับปัญหาและผลพวงทั้งหลายของวิกฤตภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งยังเป็นวิธีการทำเกษตรที่สร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศธรรมชาติ เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อเนื่องต่างๆ ตามมาอย่างมหาศาลอีกด้วย

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.nawachione.org/activity/knowledge-center/bio-energetic-organic-agriculture
https://www.flickr.com

Add a Comment