ลองกอง
ชื่ออื่นๆ : ลังสาดเขา (นครศรีธรรมราช)
ต้นกำเนิด : เกาะมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และภาคใต้ของไทย ในจังหวัดนราธิวาส และยังมีในประเทศทางแถบซูรินัม เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย และฮาวาย
ชื่อสามัญ : Longkong
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lansium domesticum Corr.
ชื่อวงศ์ : Meliales
ลักษณะของลองกอง
ต้น ลำต้นลองกองไม่จัดว่ากลมนัก มักมีสันนูน และรอยเว้าอยู่บ้าง ผิวเปลือกไม่เรียบ ค่อนข้างหยาบ กิ่งแขนงภายในทรงพุ่มไม่กลมตรง มีแอ่งเว้าไปตามรอยง่ามกิ่ง และตามลำต้นให้เห็นเป็นระยะๆ เป็นลักษณะรอยสูงต่ำ เป็นคลื่น อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลูก ถ้าปลูกอยู่ภายใต้ร่มเงาค่อนข้างทึบ มีไม้อื่นมาก ลำต้นจะสูงชลูด ผิวเปลือกก็ค่อนข้างเรียบ แต่ถ้าปลูกที่มีร่มเงาไม่มากนัก ต้นก็จะแผ่เป็นพุ่มกว้าง ผิวเปลือกก็จะหยาบ
ใบ ใบลองกองเป็นใบรวม 5-9 ใบย่อย กว้าง 2-6 นิ้ว ยาว 4-8 นิ้ว มีก้านใบย่อย ใบแก่ของลองกองมีสีเขียวเข้ม ดำเป็นมัน มีรอยหยักเป็นคลื่นหนากว่าใบลางสาด ใบมีลักษณะแบบ elliptical ปลายใบรูป acuminate ฐานใบแบบ acute ขอบใบแบบ entire ผิวใบด้านบนเป็นมันสีเขียวเข้มกว่าด้านใต้ของใบ เส้นใบแยกออกจากเส้นกลางใบมีลักษณะเหมือนร่างแห เมื่อสังเกตให้ดี เส้นใบที่ด้านใต้ใบของลองกอง จะเรียวเล็กนูน คมชัดมากกว่าเส้นด้านใต้ใบของลูกูน้ำ/ดูกูน้ำ
ดอก ตาดอกลองกองมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สีน้ำตาลอมเขียว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งส่วนนี้จะเจริญเป็น ช่อดอกยาว เรียก Spike อาจพบช่อดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มประมาณ 2-10 ช่อดอก โดยแตกออกตามลำต้น หรือกิ่งที่สมบูรณ์ ดอกบานเป็นสีเหลืองนวล กลีบเลี้ยงมีลักษณะอวบ สีเขียว และติดอยู่จนกระทั่งผลแก่ เกสรตัวผู้เป็นท่อสั้นๆ 10 อัน ฐานหลอมรวมกัน การบานของดอก ส่วนใหญ่จะเริ่มบริเวณ 2 ใน 3 ของช่อดอกจากปลายช่อบานลงมาถึงโคนช่อ (basipetally) จากนั้นจึงเริ่มบานขึ้นไป ถึงปลายช่อ (acropetally) ลองกองออกดอกเวลาปกติซึ่งจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล ผลลองกองเป็นช่อแน่นติดกับก้านช่อ มีทั้งผลกลมและยาวรี เปลือกหนากว่าลางสาดมาก เนื้อมีรสหวานหอม การที่ลองกองมีผลในช่อแน่น อาจทำให้รูปทรงของผลแตกต่างกันได้ ระยะเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วง ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม
เมล็ด ในลองกองผลหนึ่งจะมีเมล็ดน้อยมาก เพียง 1-2 เมล็ดเท่านั้น เมล็ดที่สมบูรณ์ค่อนข้างใหญ่ มีลักษณะรูปไข่ สีเขียวอมเหลือง เมล็ดมีรอยแตกร้าวเป็นส่วนมาก รสชาติของเมล็ดไม่ขม เมื่อเพาะจะขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว ภายในผลลองกองส่วนใหญ่ มี 5 locule และเมล็ดมักจะลีบ เริ่มมองเห็นเมล็ดชัดเจนในสัปดาห์ที่ 5 และเมล็ดที่ไม่มีการพัฒนา ตามการเจริญเติบโตของผลนั้นจะพบเป็นเพียงรอยสีน้ำตาล ซึ่งมีมากถึง 77.9%
รากแก้ว เกิดจากเมล็ด จะหยั่งลึกลงไปในดินเป็นแนวดิ่ง ทำหน้าที่ยึดลำต้น รากที่แตกออกจากรากแก้ว เรียกว่า รากแขนง รากแขนงของลองกองจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหยาบ เจริญแผ่ไปทางแนวราบบริเวณผิวหน้าดินเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้นลองกองมีอายุมากขึ้นจะมองเห็นรากส่วนนี้แยกจากโคนต้นที่ติดดินได้ชัดเจนขึ้น ต่อจากรากแขนงจะมีรากที่แยกออกมาอีก เรียกว่า รากฝอย รากนี้จะทำหน้าที่ดูดซับน้ำ อาหาร มีลักษณะนิสัยที่เจริญแผ่ไปตามหน้าดินตื้นๆ คล้ายรากตะขาบของทุเรียน การดูดซับน้ำ อาหาร จึงอยู่เพียงตื้นๆ ไม่ลึกจนเกินไปนัก ด้วยเหตุนี้ ลองกองจึงเป็นต้นไม้ที่ชอบอยู่ในร่มเงาของต้นไม้อื่น เพราะได้บรรยากาศที่ชุ่มชื้น และสภาพดินบริเวณนั้นจะไม่แห้งแล้งจนเกินไป แสงแดดจะไม่ทำลายรากที่หากินอยู่ในหน้าดินที่ตื้นๆ และยังได้ประโยชน์จากการนำเศษซากใบไม้ที่ร่วงหล่นมาคลุมโคนต้นอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการปฏิบัติต่อต้นลองกอง ที่จะไม่ทำลายระบบรากที่ตื้นของลองกอง เช่น การพรวนดิน การให้น้ำ การกำจัดวัชพืช เป็นต้น
การขยายพันธุ์ของลองกอง
ใช้เมล็ด
ลองกองที่ปลูกจากการเพาะเมล็ดจะให้ผลช้ากว่าลองกองที่ปลูกจากกิ่งทาบ ต้นที่ปลูกจากเมล็ดจะให้ดอกและผลในปีที่ 7-8 ในขณะที่ลองกองจากกิ่งทาบให้ผลในปีที่ 5-6 เท่านั้น ต้นลองกองอายุประมาณ 15 ปี เป็นขนาดที่กำลังให้ผลผลิตดี จะให้ผลถึง 120 กิโลกรัมต่อต้น ช่อผลขนาดใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักช่อละถึง 3 กิโลกรัม น้ำหนักช่อผลขนาดกลางประมาณ 1 กิโลกรัม
การปลูก
ลองกองสามารถปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดโดยตรง หรือต้นกล้าที่เปลี่ยนยอดแล้ว การเปลี่ยนยอดทำได้หลายวิธี คือ การเสียบยอด การเสียบข้าง การทาบกิ่ง และติดตา ก่อนปลูกลองกอง ควรเตรียมพื้นที่วางระบบน้ำ และปลูกพืชให้ร่มเงาให้เรียบร้อย
การเตรียมต้นกล้า
ต้นกล้าที่ใช้ควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปี สมบูรณ์แข็งแรง ใบยอดคู่สุดท้ายแก่เต็มที่ ก่อนปลูกค่อย ๆ งดน้ำและปุ๋ย และเพิ่มแสงให้มากขึ้นทีละน้อย
การเก็บเกี่ยว
ช่วงอายุที่เหมาะสมกับการเก็บ ผลลองกองแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว หลังจากดอกบาน 12-13 สัปดาห์ (180-200 วัน)
วิธีการเก็บ
ควรใช้กรรไกรตัดช่อผลเพื่อไม่ให้กิ่งช้ำ ช่อดอกที่เจริญในปีต่อไปไม่ถูกทำลาย
เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว
ควรมีการแต่งช่อผลตัดผลที่เน่า ผลแตกและผลแกร็นออก แล้วเป่าด้วยเครื่องเป่าลม ทำความสะอาดแล้วผึ่งลมให้ผิวเปลือกแห้ง จากนั้นคัดขนาดและจัดเกรด เกรดเอ ผลมีขนาดสม่ำเสมอ มี 2-3 ผลต่อ 100 กรัม ช่อผลมีน้ำหนัก 0.7 กก. ผลสีเหลืองนวล เปลือกนิ่ม กลิ่นหอม เนื้อในสีใสเป็นแก้ว
ธาตุอาหารหลักที่ลองกองต้องการ
ประโยชน์ของลองกอง
ผลรับประทานเมื่อสุก ลองกองเป็นผลไม้เมืองร้อนอีกชนิดหนึ่งที่มีรสอร่อยที่สุด ในสกุลลางสาดหรือดูกู รสชาติหวานหอม เมล็ดน้อย และยางที่เปลือก ไม่เหนียวติดมือ มีเปลือกหนา ทำให้เก็บได้นาน เมื่อผลสุกจะเบียดกันแน่นติดกับก้านช่อ ทำให้มีลักษณะขั้วผล รีแหลม โดยเฉพาะในช่อที่สุกเต็มที่ ถ้าผลภายในช่อห่างก็จะมีลักษณะผลค่อนข้างกลมใหญ่ สีของผลเมื่อสุกมีสีทองปนน้ำตาล สวยงาม เมื่อเปิดเปลือกออกตามรอยแยก จะพบกลีบขาวอ่อนนุ่ม มีเนื้อที่ชุ่มฉ่ำ น่ารับประทาน
สรรพคุณทางยาของลองกอง
- เปลือกของลำต้น มีรสฝาด ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้
- เมล็ด มีรสขม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
คุณค่าทางโภชนาการของลองกอง
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อลองกอง 100 กรัม พลังงาน 57 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 0.9 มิลลิกรัม
- ไขมัน 0.2 มิลลิกรัม
- คาร์โบไฮเดรต 15.2 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 19 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 27.5 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
- วิตามิน B1 0.07 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 3.0 มิลลิกรัม
- ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม
การแปรรูปของลองกอง
เป็นผลไม้ ใช้รับประทาน นำมาทำเป็นแยมลองกอง น้ำลองกอง ลองกองกวน
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11113&SystemType=BEDO
https://www.flickr.com
4 Comments