สรรพคุณและประโยชน์ของขมิ้นชัน สมุนไพรพื้นบ้าน

ขมิ้นชันหรือขมิ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. เป็นพืชที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อของเหง้ามีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีแสด เอกลักษณ์ที่เด่นชัด คือ รสชาติที่จัดจ้าน สีสันมีความสวยงาม อีกทั้งยังได้มีการนำเอาสมุนไพรมาประยุกต์ผสมผสานลงไปในอาหารไทย ทำให้ได้รสชาติที่ดูแตกต่างแต่ลงตัว เมื่อพูดถึงเรื่อง สมุนไพร ที่คนไทยนิยมนำมาทำอาหาร เพราะว่าเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ทำให้อาหารมีสีสันสะดุดตา ตลอดจนมีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มพูนเป็นลำดับถัดมาจากความอร่อย ตอนนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดกันให้มากขึ้น เพราะเหตุใดจึงเป็นที่นิยม และประโยชน์ที่ได้จากสมุนไพรชนิดนี้มีอะไรบ้าง หากพร้อมแล้วมาเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ต้นขมิ้นชัน
ต้นขมิ้นชัน ลำต้นสูง เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่

วิตามินและแร่ธาตุในขมิ้นชัน

นอกจากเราจะเราสามารถนำขมิ้นชันไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาหาร ใช้ย้อมสี หรือใช้เพิ่มกลิ่นให้กับอาหารแล้ว ในขมิ้นชันยังมีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เกลือแร่ เส้นใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน

คนไทยรู้จักกันในฐานะของพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ นิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร ปัจจุบันยังได้เพิ่มการแต่งสี แต่งกลิ่น เพิ่มรสชาติให้อาหารมีความน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น อาหารที่นิยมใส่ขมิ้นชัน ได้แก่ แกงเหลือง ข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่ ขนมเบื้องญวน ไก่ทอด แกงไตปลา มัสตาร์ด เนย มาการีน เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของการที่คนเราหันมารับประทานขมิ้นชันนั้น เชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากชาวอินเดีย หรือที่เรียกว่า ชาวภารตะ ที่นิยมกินขมิ้นชันกันมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว ส่วนคนไทยก็มีความนิยมกินขมิ้นชันเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้นิยมใส่ขมิ้นชันลงไปในอาหารประเภทแกงเผ็ดเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้มีสีเหลืองและยังช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้อีกด้วย รวมทั้งการใส่ลงไปในอาหารก็จะช่วยไม่ให้อาหารบูดเสียง่าย เพราะในขมิ้นชันมีคุณสมบัติที่ช่วยต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนั้น การใช้ขมิ้นชันในอาหารจะช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ป้องกันการเหม็นหืนของน้ำมันและไขมันเมื่อต้องเก็บไว้เป็นเวลานานๆ นับว่าเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบในการช่วยถนอมอาหารและยังมีคุณค่าทางโภชนาการให้อาหารได้อีกด้วย

เหง้าขมิ้น
เหง้าขมิ้น เหง้าอยู่ใต้ดิน

สรรพคุณของขมิ้นชัน

ขมิ้นชันนอกจากที่จะมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ก็ยังถือเป็นพืชที่มีคุณค่าทางยาอีกด้วย ซึ่งชาวไทยนิยมนำส่วนต่างๆ มาใช้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นรับร่างกาย โดยสามารถดูรายละเอียดได้ดังนี้

  • เหง้า : เหง้ารสฝาดหวานเอียด ใช้สำหรับแก้อาการไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน ขับกลิ่นและสิ่งสกปรกในร่างกาย คุมธาตุ หยอดตาแก้ตาบวม ตาแดง น้ำคั้นจากเหง้าสดทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ลดอาการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง นำมาอัดเม็ดทำเป็นยารักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอ่อนแอ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด
  • ผงขมิ้น : (น้ำเหง้าแห้งมาบดเป็นผง) นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
  • ขมิ้นสด : (ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด) ตำกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบาดแผลและแก้เคล็ดขัดยอก เผาไฟ ตำกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด
ดอกขมิ้นชัน
ดอกขมิ้นชัน ดอกเป็นช่อใหญ่ ใบประดับ สีเขียวอ่อนหรือสีขาว

ตำรับยา

การใช้ขมิ้นเพื่อรักษาอาการแน่นจุกเสียด อาหารไม่ย่อย เป็นข้อบ่งใช้เดียวที่มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา
วิธีใช้

  1. รับประทานผงขมิ้นชันในขนาด 1.5 – 4 กรัม/วัน แบ่งเป็นวันละ 3 – 4 ครั้ง ช่วงเวลาหลังอาหารและก่อนนอน
  2. ใช้ขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานช่วงเวลาหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3 – 5 เม็ด วันละ 3 เวลา

การใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย

วิธีใช้

  1. ใช้ขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานช่วงเวลาหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3 – 5 เม็ด วันละ 3 เวลา

การใช้ขมิ้นรักษาแผลและแมลงกัดต่อย

วิธีใช้

  1. ใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู 2 – 3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผล
  2. นำขมิ้นชันมาล้างให้สะอาดแล้วตำจนละเอียด คั้นเอาน้ำที่ได้มาใส่แผล
  3. เอาขมิ้นชันผสมกับน้ำปูนใสเล็กน้อย จากนั้นให้ผสมสารส้ม หรือดินประสิว พอกบริเวณที่เป็นแผลและแก้เคล็ดขัดยอก

การใช้ขมิ้นเพื่อรักษากลาก เกลื้อน

วิธีใช้
ผสมขมิ้นกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อน จำนวน 2 ครั้ง/วัน

การใช้ขมิ้นชันในการกำจัดและป้องกันศัตรูพืช
วิธีใช้
ตำขมิ้นชั้นแห้งครึ่งกิโลกรัมให้ละเอียด จากนั้นนำไปหมักในน้ำ 2 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน เมื่อได้ที่แล้วจึงกรองเอาเฉพาะน้ำไปผสมน้ำเพิ่มอีก 2 ลิตร ใช้ฉีดพ่นแปลงผักจะช่วยป้องกันหนอนใยผัก หนอนกระทูผัก และหนอนผีเสื้อทั่วไป

นอกจากขมิ้นชัน จะสามารถนำมาประกอบอาหารประเภทต่างๆ รวมถึงยังใช้เป็นยารักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายได้แล้ว สมุนไพรชนิดนี้ยังสามารถนำไปใช้รักษาโรคที่คาดว่าน่าจะเกิดจากอนุมูลอิสระ อย่าง โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด เป็นต้น สำหรับในโรคมะเร็งเองแล้ว ขมิ้นชัน จะมีฤทธิ์ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการแพร่กระจาย อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ปกติเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง โดยจากการทดสอบในห้องทดลองพบว่า ฤทธิ์ของขมิ้นชันจะช่วยยับยั้งการเติบโต หรือการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเซลล์มะเร็งหลายๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อนต่างก็ได้ผลที่ดีทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงเป็นข้อดีต่อผู้ป่วยมะเร็งระยะต้นๆ ที่จะหันมารับประทานขมิ้นชันในรูปแบบของการปรุงอาหาร ที่ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่สะดวกและปลอดภัยที่สุด หรืออาจนำผงขมิ้นชันผสมลงในเครื่องดื่มก็ได้ แต่หากต้องการจะรับประทานในรูปแบบอาหารเสริมอาจต้องระวังสักเล็กน้อย เพราะจากงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งบางรายช่วงที่ได้เคมีบำบัด อาหารเสริมอาจเข้าไปรบกวนประสิทธิภาพของยาได้

ยาสำหรับทาภายนอก

นอกจากการนำขมิ้นชันมาทานแล้ว ขมิ้นชันยังสามารถใช้เป็นยาสำหรับทาภายนอกได้อีกด้วย เพื่อรักษาอาการแพ้ ผื่นคัน ผิวหนังเกิดอาการอักเสียบ หรือแมลงกัดต่อย โดยวิธีการคือ ให้นำเอาเหง้าของขมิ้นชันมาต้มในน้ำจนสุก จากนั้นเอามาทาบริเวณที่มีอาการ หรือถูกแมลงกัดต่อย วันละ 3 เวลาก็จะช่วยบรรเทาที่เกิดขึ้นได้

การรับประทานขมิ้นชัน

การรับประทานขมิ้นชัน จะช่วยรักษาโรคได้หลากหลาย เมื่อสามารถรักษาจนโรคหายหรือดีขึ้นแล้วก็ควรหยุดทานขมิ้นชัน เพราะถึงจึงมีประโยชน์มากมาย แต่การที่ร่างกายรับมากจนเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เช่น มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ เพื่อเป็นการป้องกันผลเสียเหล่านี้จึงควรทานแต่พอดี เมื่อโรคหายแล้วก็หยุดในทันที หรือถ้าเกิดมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นก็ให้หยุดการทานขมิ้นชันและให้หายตัวอื่นมากินแทน

แต่อย่างไรก็ตามต้องหมั่นสังเกตให้ดีๆ ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับคุณนั้นเกิดจากผลค้างเคียงที่มาจากขมิ้นชัน หรืออาหารอย่างอื่น หรือมาจากโรคที่คุณเป็นอยู่เดิมอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง

ผงขมิ้นชัน
ผงขมิ้นชัน สีเหลืองอมส้ม

ประโยชน์ของขมิ้นชันในการดูแลผิว

สูตรพอกหน้าลดสิวด้วยขมิ้นชัน

การใช้ขมิ้นชันพอกหน้ารักษาสิว เป็นตำรับการประทินผิวที่มีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยวิธีรักษาตามแบบฉบับธรรมชาติที่ให้ความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดสิวได้เป็นอย่างดี สูตรพอกหน้าที่มีส่วนผสมของขมิ้นชัน มีด้วยกันหลายสูตรดังนี้

สูตร 1  ผงขมิ้นชัน – ดินสอพอง – นมสด

ผสมผงขมิ้นชันประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ กับดินสอพอง 1 ช้อนโต๊ะ (ดินสอพองสตุ) แล้วค่อยๆ ผสมนมสดตามลงไปในสัดส่วนที่ไม่มากจนทำให้ส่วนผสมกลายเป็นน้ำเหลว ค่อยๆ คนจนส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเนียนเหมือนครีมทาผิว จากนั้นล้างหน้าให้สะอาด นำส่วนผสมทั้งหมดพอกเอาไว้บนใบหน้า นวดเบาๆ ประมาณ 5 นาที ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยล้างออกตามปกติ จะช่วยให้ผิวหน้านุ่ม ลดแบคทีเรียที่เป็นตัวการทำให้เกิดสิว และช่วยให้ผิวแลดูขาวขึ้น

สูตร 2 ผงขมิ้นชัน – น้ำมะนาว

ผสมผงขมิ้นชันประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ กับน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ถ้าหากหนืดเกินไป ให้ผสมน้ำเปล่าลงไปจนส่วนผสมเหนียวข้นได้ที่ สามารถเกลี่ยให้ทั่วผิวหน้าได้แล้ว นำมาพอกให้ทั่ว สำหรับคนที่มีปัญหาสิวอักเสบและสิวอุดตัน น้ำมะนาวจะช่วยลดการอักเสบ เพิ่มระดับการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นตอของสิวร่วมกับสรรพคุณของขมิ้นชัน จากนั้นทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออก แต่หากรู้สึกแสบผิวหน้า สามารถล้างออกก่อนเวลาก็ได้

สูตร 3  ผงขมิ้นชัน – น้ำผึ้ง

ผสมผงขมิ้นชัน 2 ช้อนโต๊ะ กับน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ คนจนได้ส่วนผสมที่เข้ากันได้ดี จากนั้นนำมาพอกให้ทั่วใบหน้า เน้นจุดที่มีสิวอักเสบเป็นหลัก ซึ่งสรรพคุณของน้ำผึ้งจะช่วยลดการอักเสบ ไม่ให้สิวลุกลามมากไปกว่าเดิม และช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ทดแทนเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เมื่อขมิ้นชันช่วยป้องและกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวแล้ว จะช่วยให้ปริมาณสิวลดลง ส่วนสิวที่เป็นอยู่จนกลายเป็นแผลเป็น น้ำผึ้งจะทำหน้าที่ช่วยสมานแผล ลดรอยแผลเป็นที่ลึกให้ตื้นมากขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้นชัน

สำหรับในสตรีมีครรภ์ ขมิ้นชันอาจทำให้เกิดการแท้งได้ในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ไม่มีผลต่อการตกไข่ เพราะฉะนั้นจึงควรระวังในการใช้ขมิ้นชันกับหญิงมีครรภ์ โดยการใช้ขมิ้นชันในปริมาณมากๆ อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ การใช้ขมิ้นชันเป็นเวลานานๆ สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด งุ่นง่าน หรือตื่นกลัว เป็นต้น

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพนมนคร
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment