หญ้าแพรก หญ้าคลุมดินขึ้นตามริมทาง ลำต้นเป็นข้อ ใช้ในวันไหว้ครู
ชื่ออื่นๆ : หญ้าแผด (ภาคเหนือ), หนอเก่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ต้นกำเนิด : แถบเอเชียและยุโรป
ชื่อสามัญ : หญ้าแพรก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cynodon dactylon (L.) Pers.
ชื่อวงศ์ : GRAMINEAE
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bahana grass, Bermuda grass, Wire grass
ลักษณะของหญ้าแพรก
ลำต้น: เป็นพรรณไม้ประเภทเดียวกับหญ้า แตกกิ่งก้าน เลื้อยปกคลุมดิน ยาวประมาณ 1 เมตร และลำต้นที่ตั้งขึ้นสูงประมาณ 4-12 นิ้ว ลักษณะของลำต้นเป็นข้อ และมีรากงอกออกมา
ใบ: ใบออกที่ข้อลำต้น ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นเส้นยาว โคนใบมีสัน ปลายแหลมยาว ขนาดของใบมีความยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร
ดอก: ดอกออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีดอกอีกประมาณ 3-6 ช่อ ลักษณะของช่อดอกย่อย เป็นเส้นมีสีเขียวอมเทา หรือสีม่วง ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว และลักษณะของดอกย่อยจะออกเรียงเป็นแถว
ผล: เมื่อดอกร่วงก็จะติดผล มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์ของหญ้าแพรก
ใช้กิ่ง/ลำต้น/เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นเอง ตามที่ว่างริมถนน หรือบริเวณสนามหญ้า ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ต้องการความชื้นในปริมาณค่อนข้างมาก ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด กิ่ง และราก
ประโยชน์ของหญ้าแพรก
ส่วนที่ใช้ : ลำต้น ราก
สรรพคุณ : ลำต้น ใช้ลำต้นสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ขับลม อาเจียนเป็นเลือด แก้อัมพาต ปวดเมื่อยกระดูก แก้โรคเบาหวาน ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ริดสีดวงทวาร หรือใช้ลำต้นสดนำมาตำให้คั้นเอาน้ำและกาก ทา หรือพอกแก้ปวดข้อ ช่วยห้ามเลือด พิษไข้มีผื่นต่าง ๆ เช่น เป็นหัด เหือด อีสุกอีใส ดำแดง เป็นต้น
ราก ใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัมนำมาต้ม หรือบดให้ละเอียด ใช้กินเป็นยาแก้โรคหนองเรื้อรัง ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซิฟิลิสในระยะออกดอก ริดสีดวงทวารมีเลือดออก และเป็นยาแก้บวมน้ำ เป็นต้น
ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ดี แม้ในฤดูร้อนก็ยังเขียวชอุ่มให้สัตว์เล็มกินได้
สรรพคุณทางยาของหญ้าแพรก
ข้อมูล ทางเภสัชวิทยา :
1. จากการทดลองฉีดอัลคาลอยด์ ของหญ้าแพรก ในปริมาณ 2.5 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ฉีดเข้าในหลอดโลหิตดำ ของกระต่าย ผลปรากฏว่าเลือดจากบาดแผลของกระต่ายเกิดการแข็งตัวขึ้น
และเลือดหยุดไหลได้เร็วขึ้น
2. จากการสกัดลำต้นของหญ้าแพรก ด้วยอีเธอร์ จะได้สารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Streptococcus faecalis Salmonella typhi, Shigella dysenteriae, Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis แต่สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งมีการทดลองกับ Vaccinia virus
References : www.bedo.or.th
ภาพประกอบ : www.herb-health.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม