ข้าวเป็นธัญญาหารหลักของชาวโลกจัดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับหญ้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นหญ้าที่มีขนาด ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพสามารถปลูกขึ้นได้ง่าย มีความทนทานต่อทุกสภาพภูมิ ประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นถิ่นแห้งแล้งแบบทะเลทราย พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง หรือแม้กระทั่งบนเทือกเขาที่หนาวเย็น ข้าวก็ยังสามารถงอกขึ้นมาได้อย่างทรหดอดทน แต่อย่างไรก็ตามข้าวมักจะแสดงอาการเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกับมนุษย์ มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีโรคภัย มีศัตรูเฝ้ารุมเร้าทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวนาไทยต้องคอยสังเกตสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สังเกตสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อการแก้ไขปัญหาป้องกันโรคภัย และป้องกันศัตรูเข้ามาทำลายต้นข้าว
ปัจจุบันในการปลูกข้าวของประเทศไทยยังพบปัญหาที่สำคัญและระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (brown planthopper) ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำมีรูปร่าง 2 ลักษณะคือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกลโดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบโดยวางไข่เป็นกลุ่มเรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอมมีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย นอกจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะจัดเป็นแมลงศัตรูข้าวสำคัญทางเศรษฐกิจประเภทปากดูด ยังมีแมลงศัตรูข้าวสำคัญชนิดอื่นๆ เช่น แมลงประเภทเพลี้ยต่างๆ เช่น เพลี้ยกระโดดหลังขาว เพลี้ยจักจั่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง เป็นต้น
ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก “อาการไหม้” (hopperburn) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวงซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2–3 (generation) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวนาข้าวที่ขาดน้ำ ตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิก (rice ragged stunt) มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็นต้นเตี้ยใบสีเขียวแคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น
ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาด
วิธีการปลูกข้าว การปลูกข้าวแบบนาหว่านน้ำตมมีปัญหาการระบาดมากกว่านาดำ เพราะนาหว่านมีจำนวนต้นข้าวหนาแน่นทำให้อุณหภูมิและความชื้นในแปลงนาเหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับนาหว่านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายข้าวได้อย่างต่อเนื่อง
การใช้ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยอัตราสูงโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้การเพิ่มจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจนทำให้ใบข้าวเขียวหนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำเหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
การควบคุมน้ำในนาข้าว สภาพนาข้าวที่มีน้ำขังในนาตลอดเวลา ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสภาพที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราวเพราะมีความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
การใช้สารฆ่าแมลง การใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นตัวเต็มวัยชนิดปีกยาว หรือช่วงที่อพยพเข้าในนาข้าวใหม่ ๆ (ข้าวระยะ 30 วันหลังหว่าน) ศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย และสารฆ่าแมลงก็ไม่สามารถทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีโอกาสรอดชีวิตสูง
การจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
- ปลูกข้าวพันธุ์ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น สุพรรณบุรี 1, สุพรรณบุรี 2, สุพรรณบุรี 90, สุพรรณบุรี 60, ปทุมธานี 1, พิษณุโลก 2, ชัยนาท 1, ชัยนาท 2, กข 29 และกข 31 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอ ปานกลาง โดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง
- ในแหล่งที่มีการระบาด และควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
- เลือกใช้สารเคมีควบคุม เช่น สารฆ่าแมลงเมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน พบตัวอ่อนของแมลงศัตรูจำนวนมากกว่า 10 ตัวต่อต้นให้ใช้สารฉีดพ่นดังนี้
– บูโพรเฟซิน อัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– อีโทเฟนพรอกซ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– บูโพรเฟซิน อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– ไอโซโพรคาร์บ อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรและเมื่อพบว่าแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อ 1 ต้นให้ใช้สารฉีดพ่นดังนี้
– อีโทเฟนพรอกซ์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์โบซัลแฟน อัตรา 110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– ไอโซโพรคาร์บ อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– ฟีโนบูคาร์บ อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรส่วนในระยะที่ข้าวตั้งท้องถึงออกรวง เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัวต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อ 1 ต้นให้ฉีดพ่นสารดังนี้
– ไทอะมิโทแซม อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– ไดโนทีฟูเรน อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– โคลไทอะนิดิน อัตรา 6-9 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– อิทิโพรล อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์โบซัลแฟน อัตรา 110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร - ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดการเพิ่มระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (resurgence) หรือสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แอลฟาไซเพอร์เมทริน ไซเพอร์เมทริน ไซแฮโลทริน เดคาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์เมทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนเฟนฟอส ไอโซซาไทออน ไฟริดาเฟนไทออน ควินาลฟอส และเตตระคลอร์วินฟอส เป็นต้น
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// www.scimath.org
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com
One Comment