มะม่วงมหาชนก
ชื่ออื่นๆ : ราชามาโปรด, มหาชนก
ต้นกำเนิด : เป็นมะม่วงพันธุ์ผสมขึ้นใหม่ ระหว่างมะม่วงหนังกลางวันเป็นแม่พันธุ์ผสมกับมะม่วงพันธุ์ซันเซท (sunset) จากประเทศอินเดีย
ชื่อสามัญ : มะม่วงมหาชนก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Mahachanok หรือ Rainbow Mango
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE
ลักษณะของมะม่วงมหาชนก
ต้น เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 เมตร มีเนื้อไม้ ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางใส เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกแกมรูปรี กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ แผ่นใบหนา มีสีเขียวเป็นมัน
ดอก ดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้บนช่อเดียวกัน เมื่อสุกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
ผล ผลดิบมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีแดงเรื่อ เนื้อสีเหลืองสด มีรสหวาน หนึ่งผลมี 1 เมล็ด ขนาดผลสม่ำเสมอ ทรงผลยาวรี เนื้อหนา รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกงอมรสหวานจัดขึ้น เนื้อไม่เละ มีกลิ่นหอม เส้นใยน้อย เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน
การขยายพันธุ์ของมะม่วงมหาชนก
การเพาะเมล็ด, การทาบกิ่ง
มะม่วงมหาชนก เป็นต้นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและความร้อนได้ดี แต่หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจะช่วยกระตุ้นการออกดอกได้ดีกว่า โดยในประเทศไทยเราสามารถปลูกได้แทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ เพราะหากฝนตกชุกเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการออกดอก ทำให้ไม่ได้ผลผลิต
การปลูก วิธีปลูกมะม่วงมหาชนก
โดยทั่วไปควรยกร่องขึ้นราว 1 เมตร ให้ดินสามารถระบายน้ำได้ดี ป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม ความกว้างของแปลงราว 4-6 เมตร เว้นระยะห่างระหว่างแปลงราว 1.5-2 เมตรเพื่อให้เกิดการระบายน้ำได้ดี การเตรียมดินให้เติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์คลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน หากพื้นที่ปลูกเป็นดินเปรี้ยว ต้องทำการปรับสมบัติดินด้วยปูนขาวก่อน แล้วจึงปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เป็นการเพิ่มสมบัติในดินซึ่งจะช่วยทำให้ต้นมะม่วงเติบโตและให้ผลผลิตดี ซึ่งมักนิยมปลูกปอเทืองกันเป็นส่วนใหญ่
ควรขุดดินให้มีขนาดความกว้างและความลึก 30 เซนติเมตร แล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูกพร้อมกลบดินบริเวณโคนต้นให้พูนเล็กน้อย และใช้ไม้มาค้ำยันลำต้นไว้ ก่อนที่จะรดน้ำให้พอชุ่ม ระยะห่างระหว่างต้นควรมากกว่า 4-8 เมตร เพื่อให้แสงแดดส่องถึงผลมะม่วงอย่างทั่วถึง
มะม่วงพันธุ์มหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ผสมขึ้นใหม่เป็นพิเศษคือ ผสมพันธุ์ระหว่างมะม่วงหนังกลางวันเป็นแม่พันธุ์ผสมกับมะม่วงพันธุ์ซันเซท (sunset) จากประเทศอินเดีย ได้พันธุ์ใหม่ขึ้นมาให้ชื่อว่า “มะม่วงมหาชนก” ต้นกำเนิดพันธุ์เกิดจากการเพาะเมล็ดจากสวนทิวทอง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เริ่มปลูกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2529
ธาตุอาหารหลักที่มะม่วงมหาชนกต้องการ
ประโยชน์ของมะม่วงมหาชนก
- “มะม่วงมหาชนก” เป็นมะม่วงที่มีจุดเด่นคือ ผลมีขนาดใหญ่ รูปทรงยาว เปลือกหนา รสชาติอร่อย เหมาะสำหรับส่งออก ผลดิบเป็นสีเขียว รสเปรี้ยว ผลสุกผิวสีเหลืองทองจนถึงสีแดงทั้งผล ทั่วไปนิยมกินผลสุก เมื่อสุกจัดจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติหวาน หอม เนื้อแน่น เปลือกหนา เมล็ดลีบบาง
- เนื้อผลเยอะ เมล็ดแบนขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีเสี้ยน เหมาะแก่การรับประทานผลสุกแบบสดๆ
- ที่มาของชื่อมะม่วง “มหาชนก” หรือ “ราชาทรงโปรด” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ครองราชย์ 50 ปี
- ผล มีเปลือกหนา จึงสามารถเก็บรักษาได้นาน
สรรพคุณทางยาของมะม่วงมหาชนก
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่าภายในเนื้อมะม่วงมหาชนก มีสารต่อต้านระเร็ง (สารแบต้าแคโรทีน) มีประโยชน์ทางยาต่อการรักษา ดังนี้
- ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด
- ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
- ป้องกันเส้นเลือดอุดตันในสมอง
- ป้องกันโรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม
คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงมหาชนก
การแปรรูปของมะม่วงมหาชนก
แปรรูปเป็นมะม่วงปั่น ไอศกรีมมะม่วง มะม่วงกวน เชอร์เบทมะม่วงมหาชนก น้ำมะม่วงคั้น มะม่วงมหาชนกอบแห้ง นอกจากนี้ยังนำมะม่วงมหาชนกมาใส่ในเมนูอาหารอย่างแกงส้ม อีกด้วย
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11207&SystemType=BEDO
www.wisdomking.or.th, http://blog.arda.or.th/, https://train.cdd.go.th/, www.doa.go.th, FB Kamsa Farm
ภาพประกอบ : FB มะม่วงมหาชนก ไร่สกุลมาตร จ.กาฬสินธุ์
มะม่วงมหาชนก เป็นมะม่วงที่เหมาะแก่การส่งออก เพราะมีเปลือกหนา รสชาติอร่อย
มะม่วงมหาชนก นิยมนำมาทำเมนูอาหารอย่างเมนูแกงส้ม
มะม่วงมหาชนก นิยมรับประทานสุก มีเนื้อเยอะ รสหวาน มีกลิ่นหอม เส้นใยน้อย