แกงบอน

แกงบอน บางแห่งเรียก หลามบอน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479) หลามบอนบางท้องที่ เช่น อำเภอแม่แจ่ม หมายถึง แกงบอนที่เอาไปใส่กระบอกไม้ไผ่ดิบ แล้วนำไปย่างถ่านไม้ เหมือนข้าวหลาม ไม่ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันพืช (สุมาลี ทะบุญ, สัมภาษณ์, 24 มิถุนายน 2550) การเรียกแกงบอน บางคนถือเคล็ด ให้เรียกว่า แกงผักหวาน เพราะกลัวว่าจะทำให้คันปาก บางตำรับ ก่อนนำบอนมาแกง จะแขวนผึ่งลมไว้ 1 คืน ก่อนที่จะนำมาแกง (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479)
ส่วนผสม
- บอนต้นอ่อน 8 ต้น
- หูหมู 1/2 ถ้วย
- น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
- ข่าหั่น 5 แว่น
- ตะไคร้ 1 ต้น
- กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
- ใบมะกรูด 5 ใบ
- กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช 2 ช้อนชา
เครื่องแกง
- พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด
- กระเทียม 10 กลีบ
- หอมแดง 5 หัว
- ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- กะปิ 1 ช้อนชา
- ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
- บอนปอกเปลือก หั่นเป็นท่อน ล้างน้ำ แล้วนำไปนึ่ง
- นึ่งให้สุกจนเละ ประมาณ 30 นาที แล้วพักไว้
- โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
- เจียวกระเทียมพอให้เหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ใส่ข่าหั่น ตะไคร้ซอย ผัดให้เข้ากัน ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือ ผัดให้เข้ากัน ใส่หูหมู ผัดให้เข้ากัน
- ใส่บอนลงผัดให้เข้ากัน
- ใส่ใบมะกรูดฉีก คนให้เข้ากัน ปิดไฟ
**เมนูนี้ถ้าได้ทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ และแคบหมู จะอร่อยเข้ากันมากเลยทีเดียวค่ะ**
เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม
- เคล็ดลับในการปรุง
การนึ่งบอน ต้องให้สุก จับดูแล้วนิ่มจนเละ ถ้าบอนไม่สุก จะทำให้เกิดอาการระคายคอ - เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกใช้บอนต้นอ่อน พันธุ์สีเขียวสด และไม่มีสีขาวเคลือบอยู่ตามก้านและใบ บอนสีเขียวสด เรียกว่า บอนหวาน ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่า และนวลขาวกว่า เรียกว่า บอนคัน ส่วนของบอนที่นำมาแกงคือ หลี่บอน เป็นยอดอ่อน หรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้โคนต้น ในการปรุงแกงบอน ถ้าไม่ใช้น้ำมะขามเปียก ให้ใช้น้ำส้มป่อยแทนได้ (สิรวิชญ์ จำรัส, 2550; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479)
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://lannainfo.library.cmu.ac.th
ภาพประกอบ : Fb:อาหารเหนือพร้อมสูตรวิธีทำ
การนึ่งบอน ต้องนึ่งให้นิ่มจนเละ ไม่งั้นจะทำให้ระคายคอได้
แกงบอนหรือหลามบอน เมนูพื้นบ้านภาคเหนือ