ไม้กวาดทางมะพร้าว
ไม้กวาดทางมะพร้าวคือ ไม้กวาดที่ทำได้จากก้านใบย่อยของทางมะพร้าว โดยตัดก้านใบย่อยตรงโคนก้านออกจากทางมะพร้าว จากนั้น นำใบมะพร้าวมากรีดแยกแผ่นใบทั้งสองข้างออก ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้น ตัดโคนก้านให้เสมอกันก่อนนำมามัดติดเป็นแผงกับด้ามไม้ไผ่
ขั้นตอนการทำไม้กวาด
การเลือกใช้ทางมะพร้าว
- ไม้กวาดทางมะพร้าวสำหรับกวาดบนปูนซีเมนต์ จะต้องใช้ก้านใบมะพร้าวที่มีลักษณะอ่อน โค้งตัวได้ดี ได้จากทางมะพร้าวที่ไม่แก่มาก แผ่นใบ และก้านใบยังมีสีเขียวสด
- ไม้กวาดทางมะพร้าวสำหรับกวาดบนพื้นดิน จะต้องใช้ก้านใบมะพร้าวที่มีลักษณะแข็ง ได้จากทางมะพร้าวที่แก่เต็มที่แล้ว แผ่นใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเหลือง และก้านใบมีสีน้ำตาล มีลักษณะแข็ง
การเลือกใช้ด้ามไม้กวาด
ด้ามไม้กวาดทางมะพร้าว ทำได้จากไม้หลายชนิด ได้แก่ ไม่ไผ่ ไม้ข่อย ไม้กระถิน เป็นต้น แต่ที่นิยมมาก คือ ด้ามไม้กวาดจากไม้ไผ่ตัน เพราะขนาดลำไม้เหมาะแก่การจับ มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรง ทนทาน และตอกตะปูยึดได้ง่าย ทั้งนี้ ไม้ชนิดต่างๆที่ใช้ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ขนาดล ำหรือเส้นผ่าศูนย์กลางพอเหมาะกับมือจับ ประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร
- เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความแข็งแรง ไม่ผุหรือหักง่าย
- มีน้ำหนักเบา
- เพลา ตรง ไม้บิดงอ
- ไม่มีเสี้ยน ไม่มีตากิ่งหรือมีน้อย
การเตรียมด้ามไม้ไผ่
- เลือกตัดด้ามไม้ไผ่ชนิดไม้ไผ่ตัน เป็นลำต้นแก่ สีเขียวเข้มหรือมีปะสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ลำต้นต้องเพลา และตรงขนาดลำต้นประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร
- ใช้มีดเหลาวงข้อหรือตากิ่งออก และเหลาไม่ให้มีเสี้ยนติด
- นำลำไม้ไผ่มาลวกไฟ ส่วนที่บิดงอต้องดัดให้ตรง ไม่ควรลวกไฟนานจนไหม้ดำ จากนั้น นำตากแดด 15-30 วัน เพื่อให้ลำแห้งมากขึ้น
- นำลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนด้วยเลื่อย ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร หรือตามความยาวด้ามไม้กวาดที่ต้องการ โดยเลือกตัดบริเวณลำไม้ที่มีขนาดเหมาะกับมือจับ ส่วนที่เหลือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
- ใช้สิ่วเจาะรูทางด้านปลายด้าม ขนาด 0.5 x 1.0 เซนติเมตร และเจาะให้ห่างจากปลายด้ามประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ซึ่งจะได้ด้ามไม้ไผ่ พร้อมมัดหรือตอกติดกับก้านใบมะพร้าว ต่อไป
- ตัดไม้ไผ่ และเหลาให้เกลี้ยง สำหรับทำเป็นไม้สลักสอดเข้ารูด้ามไม้กวาด ขนาดหนา 0.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร และยาว 5 เซนติเมตร ทั้งนี้ ไม้สลักอาจใช้หรือไม่ใช้ก็ได้
การเตรียมก้านใบมะพร้าว
- เลือกตัดทางมะพร้าวอ่อนหรือแก่ตามที่ต้องการใช้งาน
- ตัดใบย่อยออก ให้ตัดบริเวณโคนก้านใบติดกับทางมะพร้าว หรือ นำทางมะพร้าวตากแดดให้แห้ง แล้วค่อยตัดก้านใบออก แต่การตัดขณะสดจะตัดง่ายกว่า
- นำแผ่นใบมะพร้าวสดมากรีดแผ่นใบทั้งสองข้างออก จากนั้น นำไปตากแดดให้แห้ง 7-10 วัน ส่วนใบมะพร้าวที่แห้งแล้ว นำไปตากแดดเพียง 1-2 วัน ก็ใช้ได้
- เมื่อก้านใบมะพร้าวแห้ง ให้มัดเก็บไว้ในที่ร่ม รอมัดติดกับด้ามไม้กวาด ต่อไป
วิธีทำไม้กวาดทางมะพร้าว
วัสดุและอุปกรณ์
- ก้านใบมะพร้าว ประมาณ 250-300 ก้าน
- ด้ามไม้ไผ่ ยาว 1-1.5 เมตร
- มีดหรือกรรไกรเหล็ก
- ลวด และครีมตัดลวด
- เชือกไนล่อน และเชือกที่กรีดได้จากแผ่นสายรัดพลาสติก (มีสีต่างๆ)
- ตะปู ขนาด 1-2 นิ้ว
- สีน้ำมันกันสนิม
วิธีถักติดก้านมะพร้าว
- นำก้านใบมะพร้าวมัดรวมกัน ก่อนตัดโคนก้านให้เสมอกัน
- นำไม้สลักสอดเข้ารูที่ปลายด้าม พร้อมจัดให้อยู่กึ่งกลาง จากนั้น ตอกตะปู และมัดด้วยลวดยึดให้แน่น
- ตอกตะปูเหนือไม้สลัก 2 จุด คือ จุดแรกเหนือไม้สลัก ประมาณ 12 เซนติเมตร จุดที่ 2 เหนือไม้สลัก 3-4 เซนติเมตร ทั้ง 2 จุด ตอกให้หัวตะปูเหลือโผล่ ประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้น นำเชือกหรือลวดมัดติดกับหัวตะปูให้แน่น
- นำก้านใบมะพร้าว 250-300 ก้าน วางล้อมปลายด้ามไม้ไผ่ โดยให้โคนก้านสูงกว่าตะปู ประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้น ใช้เชือดหรือลวดที่มัดติดหัวตะปูมัดรอบโคนก้านมะพร้าวให้แน่น
- แบ่งก้านมะพร้าวบริเวณไม้สลักออกเป็นมัด ประมาณ 4-6 มัด (ไม่รวมตรงกลางด้ามไม้ไผ่) จากนั้นใช้เชือกหรือลวดมัดเรียงติดกับไม้สลักทั้งสองข้างให้แนบชิดกัน
- ใช้ลวดหรือเชือกที่มีหัวตะปูจุดที่ 2 มัด ก้านมะพร้าวติดกับปลายด้ามให้แน่น หรืออาจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ มัดด้านข้าง 2 ส่วน และตรงกลางทับด้าม 1 ส่วน แล้วมัดให้เรียงชิดติดกัน
- แบ่งก้านมะพร้าวบริเวณถัดจากไม้สลักออกเป็นมัดเล็กๆ จากนั้น ใช้เชือกจากแผ่นรัดพลาสติก รัด และถักให้เรียงชิดติดกัน
- ใช้มีดหรือกรรไกรเหล็กตัดปลายก้านใบมะพร้าวที่อ่อนออก และตัดให้ปลายเสมอกัน
- สุดท้ายทาสีน้ำมันกันสนิม (สีดำ) บริเวณมัดก้านใบมะพร้าวให้ทั่ว ก่อนน าไปตากแดด 3-5 วัน ก็พร้อมใช้งาน
การใช้งาน
ไม้กวาดทางมะพร้าวเหมาะสำหรับการใช้กวาดพื้นในพื้นหยาบ พื้นซีเมนต์ พื้นหญ้า ตามถนนหนทาง หรือแม้กระทั่งพื้นเปียก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก จัดเก็บได้ง่าย มีความทนทาน หรือหากชำรุดเสียหายก็สามารถหาซื้อใหม่ได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง ไม้กวาดทางมะพร้าวจึงยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในหลายชุมชนก็มีการส่งเสริมอาชีพโดยการผลิตไม้กวาดทางมะพร้าวเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมถึงมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม้กวาดทางมะพร้าว โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http:// banmai-sao.go.th
https:// www.sac.or.th