แม่กำปอง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

บ้านแม่กำปอง

บ้านแม่กำปอง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด บ้านแม่กำปองอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กิโลเมตรเศษ ลักษณะการตั้งบ้านเรือน ของบ้านแม่กำปองจะตั้งเรียงรายในหุบเขา และสองฝั่งของลำห้วย สภาพทั่วไปของชุมชนรายล้อมไปด้วยภูเขา มีไร่ชา กาแฟ และมีน้ำตก และป่าที่อุดมสมบูรณ์ (ดอยม่อนล้าน) รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี บ้าน แม่กำปอง ปัจจุบันมี 132 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 362 คน อาชีพหลักของชาวชุมชนบ้านแม่กำปองคือ การทำเมี่ยง (ชา) อาชีพรองคือ การปลูกกาแฟ ค้าขาย และรับจ้างชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ ลักษณะทางสังคมของบ้านแม่กำปองชาวบ้านอยู่กันแบบพึ่งพาเหมือนญาติพี่น้อง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ ของชุมชน มีความเคารพในกฎ ระเบียบ กติกาของชุมชน และสมาชิกมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนใน ทุกรูปแบบ บ้านแม่กำปองมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณตามธรรมชาติ มีอากาศ ที่สะอาดและแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ มีดอกไม้สีเหลือง-แดง ขึ้นบริเวณใกล้ๆ ลำห้วยตลอดแนว ชาวบ้านเรียกดอกไม้นี้ว่า ดอกกำปอง รวมกับมีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน จึงรวมเรียกว่า “แม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

หมู่บ้านแม่กำปอง
หมู่บ้านแม่กำปอง บ้านเรือนของบ้านแม่กำปองจะตั้งเรียงรายในหุบเข

ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน

บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง มีอายุมากกว่า 100 ปี ลักษณะสำคัญของหมู่บ้าน คือ มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้านหลายสาย ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของห้วยแม่กำปอง ตั้งแต่ในอดีตบริเวณใกล้ลำห้วยจะพบดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสีเหลืองแดงผสมกัน มีขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกชื่อดอกไม้นี้ว่า “ดอกกำปอง” ส่วนชื่อหมู่บ้านนั้นมาจากการที่นำเอาชื่อดอกไม้รวมกับชื่อแม่น้ำ “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มคนที่มาตั้งถิ่นฐานในบ้านแม่กำปองกลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนพื้นเมือง จากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่มีที่ดินทำกินจึงอพยพขึ้นมาประกอบอาชีพเก็บเมี่ยง เพื่อนำเมี่ยงที่เก็บได้ไปแลกซื้อข้าวและอาหาร โดยต้นเมี่ยงที่ชาวบ้านเก็บในตอนแรกนั้นเป็นต้นเมี่ยงที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น จึงมีการสร้างวัดคันธาพฤกษาขึ้น

เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ ต่อมากลุ่มชนเผาขมุจึงอพยพย้ายถิ่นเข้ามา เพื่อรับจ้างเก็บเมี่ยงให้กับคนพื้นเมือง นานวันเข้าก็แต่งงานกับคนเมือง และมีการผสมกลมกลืนทั้งทางสายเลือด และวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนเมืองทั้งหมด ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของบ้านแม่กำปองจะเริ่มต้นที่บริเวณปางกลางก่อนจะมีการขยายไปตั้งบ้านเรือนยังบริเวณปางนอก ปางขอน ปางโตน และปางใน

ปัจจุบันบ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 6.22 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,887.50 ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ดอน (Upland Area) ส่งให้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี บ้านแม่กำปองห่างจากตัวกิ่งอำเภอประมาณ 20 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 50 กิโลเมตร การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านสามารถเดินทางได้สะดวกในทุกฤดูกาล ในปี 2547 บ้านแม่กำปองมีจำนวนประชากร 418 คน 130 ครัวเรือน บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านที่ทำเมี่ยงเป็นอาชีพหลัก

แม่กำปอง
แม่กำปองมีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน

การท่องเที่ยวชุมชน

กิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Homestay ของหมู่บ้านแม่กำปองนั้นเริ่มมาจากที่ผู้นำองค์กรท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งในอดีตดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้มีความสนใจและได้ไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ หลายพื้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนที่จัดโดยภาครัฐ จึงเกิดความคิดว่า หมู่บ้านแม่กำปอง มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ จึงมีการพูดคุยปรึกษากันระหว่างกลุ่มผู้นำของหมู่บ้าน จากนั้นจึงเริ่มมีการจัดประชุมชาวบ้าน ทำเวทีชาวบ้านเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในลักษณะของ Homestay ขึ้น โดยเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนเมษายน ปี 2542 ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการในระยะแรกจำนวน 5 หลังคาเรือน ก่อนที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม 2543 ปัจจุบันมีบ้านที่สามารถให้บริการในลักษณะของ Homestay ได้ทั้งหมดจำนวน 12 หลัง ในส่วนของกิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน

น้ำตกแม่กำปอง
น้ำตกแม่กำปองและป่าที่อุดมสมบูรณ์

กิจกรรมการท่องเที่ยว

  • กิจกรรมที่ 1แบบไป-กลับ (วันเดียว)กลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบนี้ คือกลุ่มคนไทยหรือชาวต่างชาติที่เข้ามา โดยไม่มีกำหนดหรือแจ้งให้กับหมู่บ้านไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเข้ามาเที่ยวชมธรรมชาติและกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน
  • กิจกรรมที่ 2 แบบทัศนศึกษา กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จะเข้ามาศึกษาดูงานระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยว หรือการจัดการป่าชุมชนในขณะเดียวกันเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน
  • กิจกรรที่ 3 แบบพักค้างคืน กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการสัมผัสกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ โดยประกอบด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งจะติดต่อและจองที่พักล่วงหน้าทั้งผ่านบริษัททัวร์หรือจองโดยตรง

การเดินทาง

รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่

  • เส้นทางแรก เดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวง 1317 (แอร์พอร์ต-น้ำพุร้อน) ตรงไประยะทาง 50 กิโลเมตร ผ่านสันกำแพง ตัวอำเภอแม่ออน ผ่านปากน้ำพุร้อนสันกำแพง ระยะทาง18 กิโลเมตร ไปตำบลห้วยแก้ว ผ่านโครงการศูนย์ตีนตกแล้วเข้าสู่บ้านแม่กำปอง
  • เส้นทางที่สอง ดอยสะเก็ด ผ่านตำบลป่าเมี่ยง เข้าสู่ตำบลห้วยแก้ว และหมู่บ้านแม่กำปอง
  • เส้นทางที่สาม อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง เข้าสู่บ้านแม่กำปอง ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.chiangmaipao.go.th
https://www.flickr.com

Add a Comment