10 สมุนไพรที่ควรปลูกในบ้านพร้อมสรรพคุณและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร

สมุนไพรที่ควรปลูกในบ้านหรือสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวเรา เป็นผักสวนครัว สามารถปลูกทานเองได้ ปลูกง่าย โตเร็ว แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย การปลูกทานเองช่วยประหยัดเงินได้อีกด้วย หรือหากมีมากก็สามารถนำมาขายเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ผักที่นิยมปลูกกันมาก 10 อย่างมีอะไรบ้างมาดูกันเลยค่ะ

1. กะเพราแดง

สรรพคุณ : ใบกะเพรา มีรสเผ็ดร้อน แก้ปวดท้อง ท้องอืด แก้ลมลมจุกเสียดแน่นท้อง ขับลมทำให้เรอ เหมาสำหรับเด็ก

วิธีเตรียม : ใช้ใบกะเพราและยอด 1 กำมือ (ใบสดหนัก 25 กรัม , ใบแห้งหนัก 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม นอกจากใช้เป็นยาแล้วใบกะเพรายังเหมาะสำหรับปรุงเป็นอาการเพื่อช่วยลดการท้องอืด ท้องเฟ้อ เช่น ต้มจืดใบกะเพรา ต้มยำน้ำใส ผัดกะเพรา

กะเพรา
กะเพรา ใบมีปลายแหลมหรือรูปมน ขอบจักเป็นฟันเลื่อย

2. ขิง

สรรพคุณ : ขิงมีรสเผ็ดร้อนหวาน บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน จากอาการเมารถ เมาเรือ

วิธีเตรียม : ใช้เหง้าแก้สดขนาดเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม ขิงยังสามารถประกอบอาหารหลายชนิดทั้งคาวและหวาน เช่น ไก่ผัดขิง มันต้มขิง เต้าฮวย น้ำขิง

ขิง หัวขิงมีกลิ่นหอม รสหวานเผ็ดร้อน ทำเมนูอาหารได้หลากหลาย
หัวขิง

3. ตะไคร้

สรรพคุณ : ตะไคร้ มีรสปร่า กลิ่นหอม ขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ

วิธีเตรียม : ใช้ลำต้นและเหง้าแก่สดๆ ประมาณ 1 กำมือ (40 – 60 กรัม) ทุบพอแหลก ต้มกับน้ำประมาณครึ่งลิตร เอาน้ำดื่มต่างน้ำเมื่อมีอาการท้องอืด

ตะไคร้
ตะไคร้ ใบยาวเรียวมีขนหนามลำต้นรวมกันเป็นกอ

4. ช้าพลู

สรรพคุณ : ใบช้าพลูมีรสเผ็ดเล็กน้อย ช่วยเจริญอาหาร ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

วิธีเตรียม : นำช้าพลูทั้งห้า (ทั้งต้นจนถึงราก) 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละครึ่งแก้วกาแฟ ก่อนอาหาร 3 มื้อ ภาคใต้นิยมนำใบช้าพลูมาใช้ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ

ชะพลู ใบคล้ายรูปหัวใจรูปทรงคล้ายกับใบพลู มีกลิ่นฉุน นิยมมาทำห่อหมก
ใบชะพลู

5. บัวบก

สรรพคุณ : ตำรายาไทยใช้บัวบกเป็นยาแก้ไข้ ร้อนใน แก้ช้ำใน ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว และกล่าวว่าบัวบกมีรสเฝื่อน ขมเย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ลม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงและยาอายุวัฒนะ

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในคนพบว่าบัวบกมีฤทธิ์รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ช่วยให้คลายกังวล รักษาแผลที่ผิวหนัง รักษาแผลในทางเดินอาหาร

วิธีเตรียม : รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ใช้บัวบกสด 1 กำมือ (10 – 20 กรัม) ตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ดื่มน้ำละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 – 2 วัน

ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก : ใช้ใบสด 1 กำมือ (10 – 20 กรัม) ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณแผลบ่อยๆ ใช้กากพอก

บัวบกสามารถรับประทานเป็นผักสดๆ เพื่อเป็นยา โดยรับประทาน 1 – 2 ใบทุกวันเพื่อบำรุงสมอง

ใบบัวบก
ใบบัวบก ใบกลมประมาณ นิ้วครึ่ง มีสีเขียว

6. ฟ้าทะลายโจร

สรรพคุณ : ฟ้าทะลายโจรมีรสขม แก้ไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด

วิธีเตรียม : ใช้สด ใบฟ้าทะลายโจรสด 3 – 5 ใบ เคี้ยวแล้วกลืน รับประทาน 3 เวลา ก่อนอาหาร

ใช้ต้ม นำใบฟ้าทะลายโจรสด ประมาณหนึ่งหยิบมือ ต้มกับน้ำสะอาด 1 แก้ว รับประทาน 3 เวลา ก่อนอาหาร สำหรับผู้ที่มีอาการ ให้ต้มจนเหลือปริมาณน้ำเพียง 1 ใน 3 แก้ว แล้วนำมารับประทาน

ข้อควรระวัง : หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์

ข้อห้าม : ในสตรีมีครรภ์ และผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร ใบเกลี้ยง แคบ โคนและปลายใบแหลม

7. มะกรูด

สรรพคุณ : มะกรูดมีรสเปรี้ยว ผิวมะกรูด แก้อาการหน้ามืด วิงเวียน น้ำมะกรูด แก้ไอ ขับเสมหะและใช้บำรุงผม

วิธีใช้ : ใช้ผิวมะกรูดหรือใบมะกรูดขยี้ หรือ ตำ พอหยาบ นำมาดมแก้วิงเวียน ศีรษะ

วิธีใช้บำรุงผม : ผลมะกรูดผ่าครึ่งลูก ปิ้งไฟให้สุก ผ่าซีกแล้วนำมาสระผม ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม นิ่มสลวย แก้รังแค แก้คัน

นำมะกรูดผ่าครึ่ง ต้มกับน้ำเล็กน้อย สัดส่วน น้ำ : มะกรูด คือ 2 : 1 ตั้งไฟ ต้มจนเดือดยกลง ปิดฝาทิ้งไว้ จากนั้นนำมาคั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง นำมะกรูดที่ได้มาชโลมให้ทั่วเส้นผมและศีรษะ ใช้ทำความสะอาดเส้นผมแทนแชมพู หรือใช้เคลือบเส้นผมแทนครีมนวดก็ได้

มะกรูด ใบมีกลิ่นหอมช่วยในการดับกลิ่นคาว เพิ่มรสให้อาหาร
ต้นมะกรูด

8. มะระขี้นก

สรรพคุณ : มะระขี้นกมีรสขมจัด แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร ผลมะระอ่อน ใช้รับประทานเป็นยาเจริญอาหารโดยการต้มให้สุกรับประทานร่วมกับน้ำพริก

วิธีเตรียม : น้ำคั้นสด นำผลมะระขี้นกสด 8 – 10 ผล เอาเมล็ดในออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ครั้งละประมาณ 100 มิลลิลิตร (หรือรับประทานทั้งกากก็ได้) รับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหารทุกวัน

ชาชง :  นำผลมะระขี้นกสดเผาเอาแต่เนื้อหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วเอามาชงกับน้ำเดือดโดยใช้มะระแห้งครั้งละ 1 – 2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย ชงดื่มเป็นน้ำชา ดื่มครั้งละ 2 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา หรือจะต้มเอาน้ำดื่มก็ได้

มะระขี้นกเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ร่วมกับผักอื่น หรือนำไปแกงแทนมะระจีน นอกจากผลของมะระขี้นกแล้ว ภาคใต้นิยมนำใบหรือยอดมาลวก หรือต้มกะทิ

ผลสุกสีเหลืองห้ามรับประทาน เพราะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน

มะระขี้นก
มะระขี้นก ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา

9. ว่านหางจระเข้

สรรพคุณ : วุ้นของว่านหางจระเข้ มีรสเย็นจืด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

วิธีเตรียม : ใช้วุ้นจากใบโดยเลือกที่อยู่ล่างสุดของต้น ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผลให้ชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลาในชั่วโมงแรก จากนั้นทาวันละ 3 – 4 ครั้ง จนแผลหาย ช่วยทำให้แผลหายเร็ว และลดการเกิดแผลเป็น

ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ ต้นพืชที่มีเนื้ออวบอิ่ม

10. สะระแหน่

สรรพคุณ : บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ขับลม

วิธีเตรียม : นำมาปรุงรสอาหารไทยจำพวกยำ ลาบ ต้มยำ นำไปแต่งหน้าเครื่องดื่มบางชนิด และใช้เป็นส่วนผสมของไอศกรีมได้

สะระแหน่ มีรสชาติคล้ายคลึงกับ ตะไคร้หอม มะนาวและแอลกอฮอล์
สะระแหน่

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// thainews.prd.go.th
https://www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment