สมุนไพรพื้นบ้าน
สมุนไพรพื้นบ้านใกล้ๆ ตัวเรามีสรรพคุณช่วยในการลดไขมันในเส้นเลือด คอเรสตอรอล และช่วยลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยในร่างกายได้หลายอย่าง ข้อดีของการใช้สมุนไพรคือมีผลข้างเคียงและสารพิษน้อย เนื่องจากมาจากธรรมชาติ ราคาถูก หาซื้อง่าย จะมีสมุนไพรอะไรบ้างมาดูกันเลยค่ะ
1. ใบย่านาง
ย่านาง เป็นไม้เลื้อย พบขึ้น ตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ทุกภาค ของประเทศไทย มีสรรพคุณเฉพาะ ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ ใบเป็นยาถอนพิษการช่วยถอนพิษ แก้ไข้และลดความร้อนในร่างกายได้ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ให้แคลเซียมและวิตามินซีค่อนข้างสูง และยังให้สารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และเบต้า-แคโรทีน หากกินทั้งใบก็จะมีเส้นใยมาก ส่วนรากของใบย่านางช่วยถอนพิษ แก้ไข้ แก้เมารถ เมาเรือ แก้โรคหัวใจและแก้ลมได้ด้วย และหากนำน้ำใบย่านางมาสระผม จะช่วยทำให้ผมดกดำ ชลอผมหงอกได้อีกต่างหาก
ใบย่านางกับความเชื่อเรื่องการลดน้ำหนัก
มีความเชื่ออยู่ว่าน้ำที่ต้มกับใบย่านางสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ก้ยังไม่มีงานวิจัยใดๆออกมายืนยันผลมีเพียงการทดลองและบอกต่อๆกันเท่านั้น มีสูตรลดความอ้วนด้วยใบย่างนางมีมากมายหลายสูตรและสูตร ที่ทำง่ายๆและได้ผลดีได้แก่ วิธีเอา “ย่านาง” ทั้งต้น มีขายตามแผงขายพืชผักพื้นบ้าน ตามตลาดสดทั่วไป เป็นกำ กำละ 5-10 บาท ใช้ทั้งกำล้างน้ำให้สะอาดต้มน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มขณะอุ่น 3 เวลาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ครั้งละ 1 แก้ว ต้มกินจนยาจืด ทำกินเรื่อยๆจะช่วยให้น้ำหนักค่อยๆลดลงได้ แต่ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบ เมื่อน้ำหนักอยู่ ในระดับที่ต้องการแล้ว จะหยุดกินก็ได้ ข้อสำคัญต้องควบคุมอาหารด้วยจะได้ผลดี และเร็ว ไม่ว่าคุณจะใช้สมุนไพรตัวใดเพื่อลดน้ำหนักก็ตาม ควรจะปฏิบัติควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดีขึ้น อย่าจดจ่อกับการใช้สมุนไพรอย่างเดียว เพราะการกินแค่สมุนไพรอาจจะทำให้คุณขาดสารอาหารและเสียชีวิตได้ จึงโปรดใช้วิจารณญาณในการใช้ด้วย
2. ดอกคำฝอย
ดอกคำฝอย มักจะนำมาทำเป็นชาที่เรารู้จักกันดีว่าชาดอกคำฝอย มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับเหงื่อและเป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ปัจจุบันนำมาใช้ในการลดความอ้วนด้วยการชงดื่ม สรรพคุณของดอก รสหวานร้อน เป็นยาขับระดู บำรุง ประสาท บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ดีพิการ ขับเหงื่อ ใช้ระงับประสาท บำรุง โลหิต แก้ไขข้ออักเสบ แก้หวัดน้ำมูกไหล เกสร รสหวานร้อน บำรุงโลหิตระดูและแก้แสบร้อนตามผิวหนัง เมล็ด รส หวานเย็น เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ แก้โรค ลมเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน แก้อัมพาต แก้ฝี แก้ขัดตามข้อและลดไขมันในเส้นเลือด
3. กะเพรา
กะเพราเป็นผักที่คนไทยนิยมสั่งมารับประทานเวลาที่นึกไม่ออก แต่ก็มีน้อยคนที่จะรู้ว่า กะเพรา มีสรรพคุณอะไรบ้าง ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ ใบกะเพรา มีฤทธิ์ขับลมช่วยแก้จุดเสียด แน่นท้อง แก้ปวดท้องอุจจาระ ส่วนน้ำสกัดทั้งต้น สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร สำหรับเมล็ดกะเพรา ก็สามารถพอกตาให้ผงหรือฝุ่นที่เข้าตาหลุดออกมาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้นแล้ว รากกะเพราแห้งๆ ยังนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแก้โรคธาตุพิการได้ด้วย และสรรพคุณเด็ดของกะเพราอีกประการก็คือ ช่วยขับไขมันและน้ำตาล เคยสงสัยบ้างไหมล่ะ ทำไมอาหารตามสั่งต้องมีเมนูผัดกะเพราเนื้อ กะเพราไก่ กะเพราหมู นั่นก็เพราะนอกจากใบกะเพราจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ขับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย อีกทั้ง กะเพราจะช่วยขับน้ำดีในตับออกมาให้ช่วยย่อยไขมันได้ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น หากบอกว่า รับประทานกะเพราแล้วจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ก็คงไม่ผิดนัก
4. ตำลึง
ตำลึงเป็นผักพื้นบ้านริวรั่วคู่ครัวไทย ที่คนไทยใช้ยอดและใบตำลึงกินเป็นผักสด อาจนำไปต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมูตำลึง นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือใส่ในไข่เจียว ผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายแตงกวา หรือดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน กินได้ อุดมด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานินที่ต้านอนุมูลอิสระและดูแลผนังหลอดเลือดให้ อ่อนนิ่มใช้งานได้ยืนยาว ใบตำลึงเป็นอาหารที่มีบีตาแคโรทีนสูงมาก องค์การอาหารและสิ่งแวดล้อมเพื่อชนกลุ่มน้อยระบุว่า ตำลึงเป็นพืชที่มีบีตาแคโรทีนที่ดีที่สุดสำหรับชาวไทยภูเขา บีตาแคโรทีนเป็นสารกลุ่มคาโรทีนอยด์ทำหน้าที่กรองแสงให้กับดวงตา ป้องกันไฟเบอร์ของเลนส์ตาจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกออกซิไดซ์ ด้วยแสง ป้องกันการเกิดต้อ บีตาแคโรทีนเป็นสารที่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ จัดเป็นสารกลุ่มคาโรทีนอยด์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานดีที่สุด ดังนั้น ที่กล่าวกันว่า “ตำลึงบำรุงสายตา” ก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
นอกจาก นี้ บีตาแคโรทีนเป็นสารต้านออกซิเดชันลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระในร่างกาย ยับยั้งการทำลายของออกซิเจนเดี่ยวและอนุมูลเปอรอกซิลอิสระ เชื่อว่าเป็นสารต้านมะเร็ง โดยเสริมประสิทธิภาพของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ซ่อมแซมสารพันธุกรรมได้ ใยอาหารจากตำลึง สามารถดูดจับสารพิษในระบบทางเดินอาหารได้ดีกว่าผักที่มีในท้องตลาดทั่วไป พบว่าการกินตำลึงจะสามารถลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้การดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้านของไทยเชื่อว่า การกินตำลึงจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้เอายอดตำลึงประมาณครึ่งกำมือ โรยเกลือพอให้มีรส ห่อใบตอง นำไปเผาไฟให้สุก กินก่อนนอนติดต่อกัน 3 เดือน กล่าวว่าน้ำตาลในเลือดก็จะลดลง
5. กระเทียม
กระเทียมถูกใช้เป็นผักและอาหารมากกว่าด้านอื่น อาจกล่าวได้ว่าในครัวของคนไทยจะขาดกระเทียมไม่ได้เลยเพราะเอกลักษณ์ของอาหารไทยสองกลุ่มใหญ่ๆ คือแกงและน้ำพริกนั้น ล้วนแต่มีกระเทียมเป็นเครื่องปรุงสำคัญทั้งสิ้น
สรรพคุณด้านยาของกระเทียมนั้นมีมากมายมหาศาลจริงๆ ในที่นี้จะยกมาเป็นตัวอย่างเฉพาะที่มีการทดลองยืนยันผลในประเทศไทยแล้ว เท่านั้น หากผู้อ่านสนใจอาจหาหนังสือที่มีผู้เขียนถึงกระเทียมเป็นเล่มโดยเฉพาะได้ใน ท้องตลาด ซึ่งจะบรรยายถึงสรรพคุณทางยาและวิธีการใช้กระเทียมไว้อย่างละเอียด ในที่นี้จะยกมาแต่สรรพคุณบางอย่างเท่านั้น เช่น แก้กลาก เกลื้อน หิด แก้ความดันเลือดสูง ลดไขมันและโคเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว ใส่แผลสดและแผลเป็นหนอง แก้คออักเสบ แก้ปวดหู แก้ทอนซิลอักเสบ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ขัดเบา รักษาวัณโรค รักษาปอดบวม รักษาโรคลำไส้ ท้องเดิน อาหารไม่ย่อย แก้บิด รักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ขับเสมหะ รักษาโรคไอกรน แก้หืดและโรคหลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรังแก้ธาตุพิการ จุกเสียด แน่นท้อง ควบคุมโรคกระเพาะ ขับพยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวกลม แก้เคล็ดขัดยอก แก้เท้าแพลง แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย ปวดข้อมือและนิ้วมือ ต่อต่านเนื้องอก กำจัดพิษตะกั่วและโลหะหนัก แก้ปวดหัวและปวดหัวข้างเดียว ป้องกันผมหงอก แก้ตาต้อตาฟางตาเจ็บ รักษาริดสีดวงจมูก แก้ไซนัส แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน แก้เลือดกำเดาไหล แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้สิวแก้หูด แก้ลมพิษผื่นคัน แก้ช้ำใน ขับประจำเดือน แก้โรคเท้าเปื่อย ป้องกันการติดเชื้อในการเดินทาง เป็นยาระบาย แก้ไข้ ฯลฯ
6. กระเจี๊ยบแดง
หลายคนนำใบและยอดของกระเจี๊ยบแดงไปใส่ในแกง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารแล้ว ใบกระเจี๊ยบแดงยังแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด แก้ไอ ละลายเสมหะ ส่วนดอกใช้แก้โรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด แต่ส่วนที่มีสรรพคุณมากเป็นพิเศษก็คือ ส่วนกลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล สามารถช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต นำไปทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดความเหนียวข้นของเลือด ขับปัสสาวะ ป้องกันต่อมลูกหมากโตให้คุณผู้ชายได้ด้วย และมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า หากรับประทานกระเจี๊ยบแดงต่อเนื่อง 1 เดือน จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว (LDL) ลดลง และยังเพิ่มไขมันชนิดดีคือ HDL ได้ด้วย ทั้งนี้การนำกระเจี๊ยบมาทำเป็นเครื่องดื่มควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาลที่ใช้ด้วย เนื่องจากเมื่อกระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยวมาก ก็ต้องปรุ่งให้หวานเป็นเงาตามตัวเพื่อให้รสชาติดีดื่มง่ายขึ้นนั้นเอง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://fund.dtam.moph.go.th
https://www.flickr.com