วิธีปลูกกล้วยนาก ลักษณะกล้วยนาก

ลักษณะพันธุ์กล้วยนาก

กล้วยนาก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Musa acuminata ‘Red Dacca’ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กล้วยโบราณหายาก ที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก ความจริง ตระกูลกล้วยนากที่พบในประเทศไทยมีอยู่  2 สายพันธุ์  ได้แก่  ชนิดแรก เรียกว่า กล้วยนากทั่วไป ชนิดที่สองเรียกว่า กล้วยนากยักษ์ หรือ กล้วยนากทองผาภูมิ

  1. กล้วยนากทั่วไป นิยมปลูกกันตามสวนหรือบริเวณบ้าน กล้วยนากมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กล้วยกุ้ง กล้วยกุ้งแดง หรือกล้วยครั่ง ก็เรียกกันกล้วยนากชนิดนี้บางทีเรียกว่ากล้วยนากธรรมดา ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28-35 เซนติเมตร สูง 300-420 เซนติเมตร ส่วนกาบมีสีแดงปนเขียว แผ่นใบกว้างและหนา มีสีเขียวอมแดงในหนึ่งเครือมี 4-5 หวี

    กล้วยนากทั่วไปแต่ละหวีมี 14-18 ผล ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ผลดิบมีสีแดงสดใส เมื่อแก่จัดสีเขียวอมแดง และผลสุกมีสีแดงอมส้ม ผลมีลักษณะกลม ก้านสั้น เนื้อสีส้ม รสหวาน ตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่จัด ใช้เวลา 95-110 วัน นิยมนำผลมารับประทานสด เช่นเดียวกับกล้วยหอม ส่วนผลดิบใช้ทอดและฉาบน้ำตาล บริโภคหรือขาย

  2. กล้วยนากยักษ์ หรือ กล้วยนากทองผาภูมิ พบมีปลูกกันตามบริเวณชายแดนไทยพม่า จากแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงกาญจนบุรี กล้วยนากยักษ์ ชนิดนี้มีขนาดผลใหญ่กว่า และมีจำนวนหวีมากกว่ากล้วยนากทั่วไป ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28-35 เซนติเมตร สูง 320-400 เซนติเมตร ส่วนของกาบลำต้นสีแดงคล้ำใบค่อนข้างยาว แผ่นใบกว้าง สีเขียวอมแดงค่อนข้างหนา ร่องใบกว้าง ก้านใบมีสีแดงอมชมพู ในหนึ่งเครือจะให้ 7-11 หวี

    กล้วยนากทองผาภูมิ แต่ละหวีมี 14-18 ผล ขนาดของผลกว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 18-12 เซนติเมตร ผลดิบมีสีแดงสดใส ผลแก่จัดสีเลือดหมู แต่เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม ลักษณะผลโค้งงอคล้ายกล้วยหอม ก้านยาวกว่ากล้วยนากทั่วไป เนื้อสีส้มค่อนข้างแข็ง รสหวานกลิ่นฉุนเมื่อสุกงอม ตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่ ใช้เวลาใกล้เคียงกับกล้วยนากทั่วไป คือ 95-110 วัน ผล ใช้รับประทานสด ส่วนผลดิบฝานบาง ๆ ทอด พร้อมอบเนยจะให้สีเหลืองเข้มน่ารับประทาน

ต้นกล้วยนาก
ต้นกล้วยนาก กาบด้านนอกมีสีเขียวปนแดง

วิธีปลูกกล้วยนาก

การปลูก ขุดหลุมขนาด 30x30x30 เซนติเมตร วางหน่อลงปลูกกลางหลุม กลบดินโดยรอบให้แน่น หลังปลูก 1 เดือนให้ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จากนั้นให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ทุก 3 เดือน

ระยะปลูก กล้วยเป็นพืชที่มีใบยาว หากปลูกในระยะใกล้กันมาก อาจทำให้ใบเกยกัน หรือซ้อนกัน ทำให้ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และดูแลลำบาก การกำหนดระยะปลูกจึงควรคำนึงถึงเรื่องแสงแดด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน หากต้องการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวก็อาจปลูกถี่ได้ แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวหลายครั้งต้องปลูกให้ห่างกัน เพื่อมีพื้นที่สำหรับการแตกหน่อ

กล้วยนาก
กล้วยนาก ผลคล้ายกล้วยไข่ มื่อดิบจะมีสีแดงสดใส ผลสุกสีแดงอมเหลือง

กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย ถ้าหากอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส กล้วยจะชะงักการเจริญเติบโต หรือมีการเติบโตช้าลง และการออกดอกและติดผลจะช้าด้วย กล้วยมีลักษณะแผ่นใบใหญ่จึงไม่ทนต่อแรงลม เพราะใบจะต้านลม ทำให้ใบแตกได้ หากใบแตกมากจนเป็น ฝอย จะทำให้มีการสังเคราะห์อาหารได้น้อย ต้นไม่เจริญเท่าที่ควร โดยพื้นที่ที่มีลมแรงมาก ควรปลูกต้นไม้อื่นทำเป็นแนวกันลมให้ต้นกล้วย ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกกล้วย คือ ดินตะกอนธารน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล ซึ่งเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำ และการหมุนเวียนอากาศดี ถ้าดินเป็นดินเหนียว ควรใส่ปุ๋ยคอก จะทำให้ดินร่วนโปร่งขึ้น 

สามารถติดตามความรู้ ข่าวสาร การเกษตรและความรู้เกี่ยวกับเรื่องกล้วย ได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :  www.rlocal.kru.ac.th, www.otop.dss.go.th, www.flickr.com

 

2 Comments

Add a Comment