การขยายพันธุ์ต้นมะปราง ผลไม้เมืองร้อน

มะปรางเป็นไม้ผลเมืองร้อนไม่มีการผลัดใบคือ จะมีใบสีเขียวตลอดทั้งปี มีชื่อสามัญว่า Marian plum ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boueaburmanica Griff ตระกูลเดียวกันมะม่วง มะกอก คือ ตระกูลAmacardiaceae มีถิ่นกำเนิดทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว และมาเลเซีย

ประเภทของมะปราง

  1. ชนิดผลเล็ก มะปรางชนิดนี้มีผลขนาดเล็ก ปลูกกันมากทั่วประเทศ ขนาดของผลกว้างประมาณ 2.5 – 3.5 เซนติเมตร ยาว 3 – 4 เซนติเมตร ใน 1 กิโลกรัมมีจำนวนผลมากกว่า 25 ผลต่อกิโลกรัม
  2. ชนิดผลใหญ่ มะปรางชนิดนี้มีผลขนาดใหญ่ มีการปลูกเป็นการค้าเป็นบางจังหวัด เช่น สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อ่างทอง นนทบุรี นครนายก และปราจีนบุรี โดยขนาดของผลกว้างมากกว่า 3.5 เซนติเมตร ใน 1 กิโลกรัมจะมีผลน้อยกว่า 25 ผล เช่น พันธุ์ท่าอิฐ น้ำหนักผลประมาณ 18 – 20 ผลต่อกิโลกรัม มะปรางชนิดผลใหญ่นี้เป็นมะปรางที่มีศักยภาพสูง เกษตรกรที่คิดจะปลูกมะปรางเพื่อการค้าควรคัดเลือกปลูกเฉพาะมะปรางชนิดผลใหญ่ ซึ่งจะให้ผลผลิตต่อไร่สูง และมีราคาดีกว่ามะปรางชนิดผลเล็ก

แบ่งตามรสชาติของผล มี 3 ประเภท ดังนี้

  1. มะปรางเปรี้ยว เป็นมะปรางที่มีรสเปรี้ยวทั้งผลดิบและผลสุก ขนาดของผลมีทั้งผลขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เหมาะที่จะนำมาแปรรูปเป็นมะปรางดอง มะปรางแช่อิ่ม และน้ำมะปรางมากกว่าบริโภคสดโดยตรง มะปรางเปรี้ยวที่มีขนาดน่าสนใจ ได้แก่ พันธุ์กาวางของสุโขทัย นครนายก และนนทบุรี
  2. มะปรางหวาน มะปรางชนิดนี้จะมีรสหวานทั้งผลดิบและผลสุก ผลมีขนาดเล็กและผลขนาดใหญ่ ความหวานจะแตกต่างกันไป ซึ่งจะหวานมากหรือหวานน้อย รับประทานแล้วไอระคายคอหรือหวานสนิท แตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ มะปรางหวานชนิดผลใหญ่ที่มีรสชาติหวานสนิท ได้แก่ พันธุ์ลุงชิดสุโขทัย , พันธุ์สุวรรณบาทอุตรดิตถ์ , พันธุ์ท่าอิฐนนทบุรี และพันธุ์ทองใหญ่จากปราจีนบุรี
  3. มะยง เป็นมะปรางที่มีรสชาติหวานและเปรี้ยวอยู่ในผลเดียวกัน หรือเรียกว่าหวานอมเปรี้ยว มีทั้งชนิดผลเล็กและผลใหญ่ ซึ่งจะหวานมากกว่าเปรี้ยวหรือเปรี้ยวมากกว่าหวานแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ถ้าหวานมากกว่าเปรี้ยวเรียกว่า มะยงชิด ถ้าเปรี้ยวมากกว่าหวานเรียกว่า มะยงห่าง มะยงชนิดผลใหญ่ เนื้อหนา
มะปราง
มะปราง ผลทรงกลมรูปไข่และกลม ผลสุกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม

การขยายพันธุ์ของมะปราง

  1. การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถขยายพันธุ์มะปรางได้จำนวนมาก มีข้อเสียที่มีการกลายพันธุ์และให้ผลผลิตช้าประมาณ 7 – 8 ปี แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางแห่งปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพันธุ์มะปรางที่เป็นต้นกิ่งทาบ หรือต้นต่อยอด มีราคาแพง ต้นละ 150 – 500 บาท พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะปรางได้ 25 ต้น (ระยะปลูก 8×8 เมตร) ใน 1 ไร่ จะเป็นค่าพันธุ์มะปรางชนิดผลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมะปรางหวานหรือมะยงจากสวนที่มีชื่อเสียงดีและเชื่อถือได้มาเพาะเมล็ด ซึ่งต้นเพาะเมล็ดดังกล่าวนั้นอาจจะให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ คอยหาทางเปลี่ยนยอดพันธุ์ภายหลัง และเท่าที่ศึกษายังพบว่ามีเกษตรกรบางแห่ง เช่น สุโขทัย อุตรดิตถ์ ใช้วิธีการปลูกมะปรางจากต้นเพาะเมล็ดลงไปในสวนก่อนพอมีอายุได้ 1 – 2 ปี ดำเนินการเปลี่ยนยอดพันธุ์ชนิดผลใหญ่ภายหลัง ซึ่งวิธีหลังนี้จะใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการซื้อมะปรางพันธุ์ดีมาปลูกโดยตรง ลดความเสี่ยงจากการที่มะปรางบางต้นตาย หรืออาจจะมีขโมยมาลักไปก็ได้ แต่มีข้อจำกัดตรงที่การเปลี่ยนยอดภายหลังนั้น เกษตรกรจะต้องมีความรู้ ความสามารถในการเปลี่ยนยอดพันธุ์มะปรางพันธุ์ดีเป็นอย่างดี จึงจะประสบความสำเร็จ การเพาะเมล็ดมะปรางมีหลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันแล้วแต่วัตถุประสงค์ เช่น การเพาะเมล็ดมะปรางเพื่อปลูกโดยตรง เพื่อใช้เป็นต้นต่อยอด เพื่อใช้เป็นต้นตอติดตา เพื่อใช้เป็นต้นตอเสริมราก และเพื่อใช้เป็นต้นตอการทาบกิ่ง ซึ่งแต่ละวัตถุประสงค์มีวิธีการเพาะเมล็ด ดังนี้1.1 การเพาะเมล็ดมะปรางเพื่อปลูกโดยตรง เป็นต้นตอต่อยอด เป็นต้นตอติดตา และเพื่อเป็นต้นตอเสริมราก ขั้นตอนการเพาะเมล็ด – ดำเนินการผสมดินปลูก ซึ่งประกอบด้วยดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบดำ 2 ส่วน ผสมวัสดุดังกล่าวให้เข้ากันดี แล้วนำไปกรอกดินใส่ถุงพลาสติกสีดำที่จัดเตรียมไว้แล้วขนาดถุง 4×7 นิ้ว หรือ 5×9 นิ้ว จัดเรียงไว้ในเรือนเพาะชำ หรือไว้ในที่ร่ม เช่น ใต้ต้นไม้ ไม่ควรเพาะเมล็ดมะปรางกลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดโดยตรง เพราะต้นกล้ามะปรางที่ขึ้นมาใหม่ ยอดจะไหม้และมีเปอร์เซ็นต์ต้นตายมาก และถ้าเป็นไปได้ก่อนเรียงถุงพลาสติกสีดำที่กรอกใส่ถุงดังกล่าวแล้วนั้น ควรมีการปูพื้นด้วยผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันรากมะปรางบางต้นออกมานอกถุงและดิน ซึ่งเวลาเคลื่อนย้ายถุงต้นมะปรางออกไปปลูก รากมะปรางอาจฉีกขาด มีผลให้มะปรางเหี่ยวเฉา ตายได้ และในการจัดเรียงถุง เพื่อเพาะเมล็ดนั้น ควรจัดเรียงถุงให้เป็นแถวทางด้านกว้าง ประมาณ 10 – 15 ถุง ส่วนความยาวตามความเหมาะสมจัดเป็นชุด 500 – 1,000 ถุง และแต่ละชุดควรเว้นช่องว่างไว้ประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาต้นกล้า มะปรางในโอกาสต่อไป – นำผลมะปรางที่จะใช้เพาะเมล็ด โดยเลือกเฉพาะผลที่สุกและสมบูรณ์มาล้างเอาเนื้อออกให้หมด ผึ่งไว้ในร่ม ไม่ควรนำออกตากแดดเมล็ดมะปรางจะตายนึ่ง หลังจากล้างเอาเนื้อมะปรางออกแล้ว สามารถนำเมล็ดมะปรางไปเพาะเมล็ดได้ ซึ่งก่อนเพาะเมล็ดควรมีการนำเมล็ดมะปรางไปจุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ก่อนทำการเพาะเมล็ดถุงแต่ละเมล็ด แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะเพาะเมล็ดได้ ก็สามารถเก็บเมล็ดมะปรางไปเพาะในวันต่อๆ ไปได้ แต่ไม่ควรเกิน 30 วัน เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไป เปอร์เซ็นต์การงอกจะลดลงมาก ในการเพาะเมล็ดควรใช้ไม้ไผ่กลมเล็กๆ แทงลงไปในดินลึกประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดมะปรางมาหยอดลงในแนวนอนกลบเมล็ดด้วยดินเพาะ นำฟางข้าวหรือเศษหญ้าที่แห้งมาคลุมถุงเพาะชำมะปรางบางๆ ลดน้ำให้ความชื้นอยู่เสมอ อย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไปประมาณ 5 – 10 วัน เมล็ดมะปรางจะงอกเป็นต้นกล้าขึ้นมา – เมื่อเมล็ดมะปรางงอกเป็นต้นกล้าแล้ว ควรมีการรดน้ำให้ปุ๋ยทางใบและมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงมะปรางแตกใบอ่อนใหม่ๆ มักจะมีเพลี้ยไฟมาดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบอ่อนมะปรางใบไหม้ ใบไม่สมบูรณ์ในที่สุด การเลี้ยงต้นกล้ามะปรางในเรือนเพาะชำประมาณ 1 ปี ต่อจากนั้นจึงนำมะปรางดังกล่าวไปปลูกโรงแปลงหรือไปใช้เป็นต้นตอต่อยอด เป็นต้นตอติดตาหรือใช้เป็นต้นตอเสริมรากตามแต่ละวัตถุประสงค์1.2 การเพาะเมล็ดเป็นต้นตอทาบกิ่ง ขั้นตอนการเพาะเมล็ด – จัดทำกระบะเมล็ดมะปรางในเรือนเพาะชำหรือใต้ร่มไม้ ซึ่งจะใช้กระบะอิฐบล็อกหรือกระบะไม้ไผ่ก็ใช้ได้ นำผ้าพลาสติกกันฝนมาปูที่พื้น เพื่อป้องกันรากมะปรางลงไปในดินมาก เวลาถอนต้นตอ รากจะขาดมีผลให้ต้นต้นมะปรางเหี่ยวเฉาหรือใช้เวลาตั้งตัวนานหลายวัน – นำขุยมะพร้าวมาใส่ลงในกระบะอิฐบล็อก หรือกระบะไม้ไผ่ให้มีความสูงของขุยมะพร้าวประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร รดน้ำให้ความชื้นกระบะอยู่เสมอ – นำเมล็ดมะปรางที่จัดเตรียมไว้เช่นเดียวกันการเพาะลงถุงพลาสติกสีดำ มาจุ่มสารเคมีป้องกันเชื้อราแล้วนำเมล็ดดังกล่าวไปหว่าน ลงกระบะเพาะ ให้เมล็ดมะปรางกระจัดกระจายทั่วกระบะ อย่าให้เมล็ดมะปรางติดกันเป็นกระจุก ต่อจากนั้นนำขุยมะพร้าวมาหว่านกลบเมล็ดมะปรางอีกครั้ง ความหนาประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ให้ฟางข้าวหรือเศษหญ้าคลุมกระบะบางๆ รดน้ำให้ความชื้นกระบะเพาะอยู่เสมออย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไป ประมาณ 5 – 10 วัน เมล็ดมะปรางจะงอกเป็นต้นกล้า – เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าแล้ว ควรมีการรดน้ำ ให้ปุ๋ยทางใบและมีการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงเสมอ เลี้ยงต้นกล้าอยู่ในกระบะเพาะ 6 เดือน – 1 ปี ถอนต้นตอไปทาบกิ่งได้

    มะยงชิด
    มะยงชิด ผลรูปทรงไข่ ผลสุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม
  2. การตอน เป็นวิธีการทำให้มะปรางออกรากในขณะที่กิ่งยังติดอยู่กับต้นพันธุ์ดี เป็นวิธีที่ปฏิบัติมานานแล้ว แต่มีข้อจำกัดที่กิ่ง ตอนไม่มีรากแก้ว การเพาะเมล็ดหรือต้นทาบกิ่งอาจเจริญเติบโตช้า หรือโค่นล้มได้ง่าย อย่างไรก็ตามสามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยการปลูกต้นกิ่งตอนลงไปก่อน แล้วมีการเสริมรากภายหลัง ในการตอนมะปรางควรตอนในช่วงฤดูฝน วิธีการตอน – เลือกต้นมะปรางที่จะตอนจากต้นมะปรางพันธุ์ดีที่สมบูรณ์ มีอายุ 4 – 5 ปีขึ้นไป ซึ่งกิ่งที่จะใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เป็นกิ่งเพสลาด สังเกตที่ผิวเปลือกของกิ่งเป็นสีน้ำตาลปนเขียวเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ไม่เป็นกิ่งที่เป็นโรคหรือแมลงรบกวนกิ่งขนาดเท่าแท่งดินสอดำหรือมีขนาดเล็ก กว่าเล็กน้อย – ควั่นกิ่งที่จะตอนรอบกิ่งมะปรางสองรอยตรงบริเวณใต้ทางแยกของกิ่ง ให้รอยแผลห่างกันเท่ากับความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งหรือประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ต่อ จากนั้นใช้มีดกรีดระหว่างรอยควั่นเป็นแนวตรงจากรอยควั่นด้านบนลงล่างแล้วลอกเปลือกออกให้หมด นำสันมีดตอนมาขูดเยื่อเจริญของรอยควั่นออกโดยขูดเบาๆ และที่สำคัญอย่าใช้ด้านคมของมีดตอนขูดเนื้อเจริญ เพราะอาจขูดเข้าไปในเนื้อไม้ลึกเกินไป มีผลทำให้กิ่งมะปรางแห้งตายได้ หลังจากควั่นกิ่งแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน ค่อยหุ้มกิ่งตอนด้วยขุยมะพร้าวต่อไป – นำสารเร่งรากที่ใช้กับไม้กึ่งเนื้อเข็งทาบบริเวณแผลด้านบนเพื่อกระตุ้นให้มะปรางออกรากได้เร็วขึ้น – นำขุยมะพร้าวที่พรมน้ำบีบจนน้ำหมดแล้ว ใส่ในถุงพลาสติกขนาด 3x 7 นิ้ว หรือ 4×6 นิ้ว มัดปากถุงให้เรียบร้อย – นำดินที่จัดเตรียมไว้แล้วมาหุ้มรอยแผลด้านบนบีบดินให้แน่น แล้วนำขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ในถุงพลาสติกมาหุ้มกิ่งตอนโดยใช้มีดกรีดตรงกลางถุงแล้วแบะถุงออกหุ้มรอบแผล นำเชือกฟางมัดด้านบนและล่างให้แน่น ไม่ให้ขุยมะพร้าวที่หุ้มหมุนได้ ซึ่งถ้ามัดไม่แน่นแล้ว วัสดุที่หุ้มกิ่งตอนจะสูญเสียความชื้นเร็วเกินไป มะปรางจะออกรากช้าหรือไม่ออกรากเลย ซึ่งช่วงที่ตอนอยู่นั้นควรมีการรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ อย่าให้ขุยมะพร้าวแห้ง หลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 เดือน จะมีรากงอกออกมา ทิ้งเอาไว้ก่อนจนกว่ารากมะปรางจะมีสีน้ำตาลและมีรากฝอยออกมา – เมื่อกิ่งตอนมะปรางออกรากดีแล้ว ให้ตัดกิ่งตอนมะปรางไปแช่น้ำประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ตัดแต่งกิ่งและใบที่มากเกินไปออกเพื่อลดการคายน้ำ ต่อจากนั้นนำกิ่งตอนไปชำลงถุงพลาสติกสีดำ ขนาดถุง 8×10 นิ้ว ซึ่งประกอบด้วยดินปลูกเป็นดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบดำ 2 ส่วน ดูแลรักษาต้นกิ่งตอนในเรือนเพาะชำหรือใต้ต้นไม้ที่มีแสงแดดรำไร มีการรดน้ำให้ความชื้นอยู่เสมอ มีการพ่นปุ๋ยทางใบและสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะตามความเหมาะสม หลังจากนั้น 2 – 3 เดือน เมื่อเห็นต้นกิ่งตอนแข็งแรงดีแล้ว ให้นำไปปลูกลงแปลงหรือปลูกลงสวนต่อไป

มะยงชิดลอยแก้ว

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=10393&SystemType=BEDO
http:// www.nakhonnayok.go.th
https://www.flickr.com

Add a Comment