การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลิตพืชที่ปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทุกขั้นตอน

การทำเกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ คืออะไร การทำการเกษตรอินทรีย์ หมายถึง ระบบการผลิตพืชที่ปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนสังเคราะห์ เป็นต้น โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยพืชสดเท่านั้น รวมถึงมีการจัดพื้นที่ปลูกพืชไม่ให้ปนเปื้อนกับแปลงปลูกพืชแบบเคมี และห่างไกลจากแหล่งมลภาวะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหรือถนนหลัก อีกทั้งยังมีการจัดการระบบน้ำและการใช้น้ำที่ไม่ปนกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและสารต้องห้ามอื่นๆ เป็นต้น

กว่าจะมาเป็นผู้ปลูกผักอินทรีย์ หากผลิตเพื่อเป็นอาชีพนั้น จะต้องมีมาตรฐานรองรับ จึงต้องมีการวางระบบตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ ด้านพื้นที่ที่เหมาะสมแหล่งน้ำที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ความรู้เรื่องดินและการปรับปรุงดินที่ไม่ใช้สารเคมีการจัดการองค์ความรู้ที่ต้องเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถหาปัจจัยการผลิตต่างๆ ทดแทนการใช้สารเคมีได้ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้จึงจะสามารถผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำเกษตรอินทรีย์
การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการผลิตพืชที่ปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทุกขั้นตอน

ตัวอย่างข้อกําหนดของการปลูกผักอินทรีย์ที่ควรรู้

  • ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด
  • เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้พืชแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช
  • ป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีจากภายนอกฟาร์ม ทั้งดิน น้ำและอากาศ โดยสร้างแนวกันชนด้วยการขุดคูหรือปลูกพืชยืนต้นหรือล้มลุก
  • การกำจัดวัชพืช ใช้การเตรียมดินที่ดีและแรงงานคนหรือเครื่องมือกล แทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
  • เคารพสิทธิมนุษย์และสัตว์ เช่น การใช้ปุ๋ยคอกจะต้องมาจากฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ปล่อยธรรมชาติ เป็นต้น
  • รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์พืชหรือสัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตลอดจนปลูกหรือเพาะเลี้ยงขึ้นใหม่

จะเห็นได้ว่า กว่าจะสามารถทำการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ได้นั้นไม่ง่ายเลย เพราะนอกเหนือจากการดูแลพืชพันธุ์ให้เจริญเติบโตด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์รอบตัวอีกด้วย

หัวใจของเกษตรอินทรีย์

การปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร ที่สำคัญคือไม่มีความเสี่ยงจากอันตรายที่มาจากการใช้สารเคมีทั้งตัวผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

รู้จักกับผักปลอดสารชนิดอื่นๆ

ผักสวนครัว
ผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว พริก ผักกาด กระเทียม
  • ผักปลอดภัยจากสารเคมี (Pesticide Free) หรือเรียกว่า “ผักปลอดสารพิษ ตามท้องตลาด เน้นการควบคุมการใช้สารเคมีในการปลูก โดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง แต่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและฮอร์โมนเร่งผลผลิต แต่เป็นสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผลผลิตจะมีสารเคมีตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ผักอนามัย (Pesticide Safe) หรือ “ผักกางมุ้ง” มีการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโต และใช้สารกำจัดแมลง แต่เป็นสารเคมีที่มีพิษตกค้างในระยะสั้น และหยุดฉีดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยใช้กางมุ้งหรือใช้ตาข่ายปลูก และปลูกแบบไม่ใช้มุ้ง แต่เน้นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานคือ เน้นปลูกผักตามฤดูร่วมกับผักประเภทกะหล่ำปลีที่ช่วยลดการระบาดของแมลง ส่วนการรับรองมาตรฐานจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผักปลอดสารพิษ
  • ผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) เป็นผักปลอดสารที่ปลูกโดยใช้น้ำแทนดิน ด้วยการผสมอาหารที่จำเป็นของพืชลงในน รากพืชที่สัมผัสน้ำจะดูดซึมสารอาหารมาสะสมไว้ที่ใบ ส่วนรากที่ไม่สัมผัสน้ำจะทำหน้าที่รับออกซิเจน ซึ่งยังคงมีการใช้สารเคมีและฮอร์โมนในกระบวนการเพาะปลูก
กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี มีลักษณะกลม ใบจะหุ้มลำต้นอัดกันแน่น

ดังนั้น ผักปลอดสารเคมีหรือผักปลอดสารพิษทั่วไปตามท้องตลาด จึงไม่ได้หมายถึงผลผลิตที่ไร้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช แต่สามารถมีสารเคมีตกค้างได้ไม่เกินระดับมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากผักเกษตรอินทรีย์หรือผักออร์แกนิกที่จะไม่มีการใช้สารเคมีในทุกระบบขั้นตอนการผลิต

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.thaihealth.or.th
https://www.flickr.com

Add a Comment