การปลูกกระท้อน ผลไม้เมืองร้อน สามารถปลูกได้ดีในทุกภาค

การปลูกกระท้อน

กระท้อนเป็นไม้ผลเมืองร้อนอีกชนิดหนึ่งที่มีปลูกกันในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ส่วนมากจะปลูกกันตามสวนหลังบ้านและ มักจะเป็น พันธุ์พื้นเมือง รสเปรี้ยวจึงไม่มีการเอาใจใส่ดูแลรักษาต่อมาระยะหลังนี้มีผู้นิยมปลูก กระท้อนพันธุ์ดีกันมากขึ้น ความต่องการของตลาดก็มีมากขึ้น ด้วย จึงทําให้พื้นที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ดีขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะดูแลรักษาง่ายแล้ว ผลผลิตยังจําหน่ายได้ราคาดีอีกด้วย เดิมแหล่งผลิตกระท้อนพันธุ์ดีจะมีเฉพาะที่จังหวัดนนทบุรีและบางเขตของกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ปัจจุบันกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ปราจีนบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

สภาพดินฟ้าอากาศ

เนื่องจากกระท้อนเป็นไม้ผลเมืองร้อน จึงสามารถปลูกได้ดีแทบทุกแห่งในประเทศไทย แต่เพื่อให้ผลผลิตที่ได้ มีคุณภาพดี ควรจะเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มีแหล่งน้ำให้อย่างเพียงพอ ดินที่เหมาะควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนดินเหนียวมีอินทรียวัตถุมาก อาจกล่าวได้ว่ากระท้อนที่ปลูกในดินร่วนหรือดินเหนียวจะทําให้คุณภาพของเนื้อและรสชาติดีกว่าที่ปลูกในดินร่วนทราย

กระท้อนเปรี้ยว กระท้อนพันธุ์พื้นเมือง

เป็นกระท้อนที่มีปลูกกันทั่วไป เป็นกระท้อนที่ให้ผลผลิตดกมาก ผลมีขนาดเล็ก เนื้อบาง รสเปรี้ยว เมล็ดมีขนาดโต สําหรับกระท้อนประเภทนี้นิยมใช้ในการแปรรูปเช่น ดอง กวน ตากแห้ง เป็นต้น

กระท้อนหวาน กระท้อนห่อ

เป็นประเภทที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบันเมื่อผลโตขึ้นจะต้องมี การห่อผล เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้เข้าทําลาย ผลจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อหนา มีรสหวานอมเปรี้ยวปุยหุ้ม เมล็ดฟู แทรกเนื้อ ทําให้เนื้อมีความนุ่มมากขึ้นเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมาก ดังจะเห็นว่าในแต่ละปีปริมาณของผลผลิต ที่ออกจําหน่าย ในท้องตลาดไม่พอกับปริมาณความต้องการจึงทำให้ราคาจำหน่ายค่อยข้างแพง

ต้นกระท้อน
ต้นกระท้อน เปลือกต้นสีเทา

พันธุ์

ในสมัยก่อนนิยมปลูกกระท้อนด้วยต้นที่เพาะจากเมล็ด จึงทําให้ได้กระท้อนพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งอาจได้พันธุ์ที่มีคุณภาพดีกว่าต้นแม่เสียอีก (แต่มีไม่มากนัก) เมื่อมีพันธุ์ใหม่ที่ดีเกิดขึ้นก็จะมีการตั้งชื่อ ตามชื่อของเจ้าของหรือตามลักษณะของผลหรือแหล่งที่ต้น กระท้อนขึ้นอยู่ จึงทําให้ในปัจจุบนั มีกระท้อนพันธุ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 พันธุ์ ได้แก่ ทับทิม เขียวหวาน ปุยฝ้าย นิ่มนวล ขันทองเทพรส อีล่า บัวลอย หลังท่อไหว ตาเชื่อม ทองหยิบ ทับทิมทอง อีจาน หมาตื่น ปุยเมฆ ทองใบใหญ่ตาอยู่ ไกรทอง เมล็ดในไหว กํามะหยี่ ผลกระท้อนส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกัน บางครั้ง ก็ทําให้เกิดความสับสนในการแยกพันธุ์ ต้องอาศัยความชํานาญมากๆ จึงจะสามารถบอกได้ว่า เป็นพันธุ์อะไรได้อย่างถูกต้อง

  • พันธุ์ทับทิม
    เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกและแก่เร็วประมาณเดือนพฤษภาคมก็สามารถเรียกเก็บเกี่ยวได้ ขนาดผลค่อนข้างเล็กนํ้าหนักประมาณ 200 กรัมต่อผล ทรงผลกลมแป้นมีขั้วยาวผิวเปลืองเรียบบางมีสีเหลืองนวล เนื้อบางนิ่มปุยหนามีปุยแทรกเนื้อ เมล็ดมีขนาดโตปานกลาง เนื้อมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่ที่ปุยหุ้มเมล็ดมีรสหวานจัด ข้อเสียถ้าแก่จัดแล้วไม่เก็บผลจะแตกง่ายและถ้ามีฝนชุกจะทําให้ไส้แดงเป็นนําหมาก
    ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพฤษภาคม-มิถนายน
  • พันธุ์ปุยฝ้าย
    เป็นพันธุ์หนัก ผลมีอายุการเก็บเกี่ยวช้าจะเก็บผลได้ประมาณเดือนกรกฎาคม ผลมีขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่น้ำหนักผลประมาณ 400-800 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูงเล็กน้อย ด้านก้นผลเรียบ ขั้วสั้นที่ผิวมีขนอ่อนนุ่ม มือผิวเปลือกมีสีเหลืองอมน้ำตาลเปลือกบาง ด้านขั้วจะนูนขึ้นบางผลจะมีรอยขรุขระเล็กน้อย เนื้อหานุ่มไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อจนถึงเปลือก รสชาติหวานอมเปรี้ยว (รสกลมกล่อม) ไม้ฝาด ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโตแบน แก่จัด ไส้ไม่เป็นนํ้าหมาก
    ฤดูกาลเก็บเกี่ยว มิถุนายน-กรกฎาคม
  • พันธุ์นิ่มนวล
    เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลางจะเก็บผลได้ประมาณเดือนมิถุนายน ผลมีขนาดปานกลางน้ำผลประมาณ 300-600 กรัมต่อผล ทรงผลกลมแป้น มีขั้วสั้นผิวเปลือกเรียบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง เนื้อหนานิ่ม ไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดปานกลาง
    ฤดูกาลเก็บเกี่ยว มิถุนายน-กรกฎาคม
  • พันธุ์เทพรส
    เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง จะแก่ช้ากว่าพันธุ์ทับทิมเล็กน้อย จะเก็บผลประมาณเดือนมิถุนายน ผลมีขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 250-500กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูงเล็กน้อย มีขั้วสั้นผิวเปลือกเรียบมีขนอ่อนที่ผิวนุ่มมือ ด้านข้างผลจะมองเห็นสันนูนขึ้นมาตรงพูของเมล็ดชัดเจนกว่าพันธุ์อื่นๆ เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อหนานิ่ม ไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ มีรสหวานอมเปรี้ยวแต่ที่ปุยหุ้มเมล็ดมีรสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโต
    ฤดูกาลเก็บเกี่ยว มิถุนายน-กรกฎาคม
  • พันธุ์ทับทิมทอง
    เป็นพันธุ์เบาสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤษภาคม (พร้อม ๆ กับพันธุ์ทับทิม) ผลมีขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักผลประมาณ 400-800 กรัมต่อผลผลทรงกลมถึงทรงกลมสูงเล็กน้อย ด้านก้นผลเรียบ ผิวมีรอยขรุขระเล็กน้อย แต่ด้านขั้วผลขรุขระ มากขั้วสั้นเปลือกบาง ผิวเปลือกมีสีเหลืองทอง เนื้อหาแน่น มีปุยแทรกเนื้อรสหวานอมเปรี้ยวมีรสฝาดเล็กน้อย ปุยหุ้มเมล็ดฟูรสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโต
ผลกระท้อน
ผลกระท้อน ผลอ่อนสีเขียวมีน้ำยางสีขาว

การขยายพันธุ์

กระท้อนสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่ การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การเสียบยอดการติดตา เดิมนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เนื่องจากทําได้ง่ายแต่มักจะกลายพันธุ์ ปัจจุบันไม่นิยมปลูกต้นที่เพาะจากเมล็ด แต่จะทําการเพาะเมล็ด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการทําต้นตอ ในการทาบกิ่งหรือติดตาเท่านั้นส่วนการตอนก็ไม่นิยม เช่นกันเพราะปัญหาเรื่องการออกรากยาก และเมื่อตัดมาชํามักจะตายมากด้วย

การปลูก

การปลูกกระท้อนในประเทศไทยแบ่งตามสภาพพื้นที่ได้ 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทสวนยกร่อง
    พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางที่ลุ่มภาคกลาง พื้นที่ เดิม เป็นท้องนามีน้ำท่วมถึง จึงต้องยกร่องขึ้นเพื่อสะดวกในการระบายน้ำขนาดของสันร่อง โดยทั่วไปจะกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร จะมีร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร ระยะปลูกสําหรับพื้นที่ยกร่องจะใช้ระยะระหว่างต้นประมาณ 6 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 35 ต้น
  2. ประเภทสวนที่ดอน
    เป็นพื้นที่ที่นอกเหนือไปจากประเภทแรก และมักไม่มีปัญหาเรื่องนํ้าท่วมจึงไม่ต้องยกร่อง เมื่อไถปรับพื้นที่แล้วก็สามารถขุดหลุมปลูกได้เลย ตามปกติกระท้อนเป็นไม้ผลที่ทรงพุ่มขนาดใหญ่ แต่เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและห่อผลซึ่งจะต้องทําทุกปี จึงนิยมตัดแต้งกิ่ง นําที่จะทําให้ทรงพุ่มสูงขึ้นไปออกเสีย ทรงพุ่มจะขยายออกด้านข้างแทนด้านบน จึงสะดวกในการปฏิบัติงานสําหรับพื้นที่ดอนสามารถใช้ระยะปลูกตั้งแต่ 6 x 8 เมตร ถึง 5 x 8 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 25 – 30 ต้น

การเตรียมหลุมปลูก
ควรจะขุดหลุมให้มีขนาดไม่ต่ำ 50 x 50 x 50 เมตร (กว้าง x ยาว x ลึก) หลุมถ้ามีขนาดใหญ่ยิ่งดี จะช่วยให้ต้นกระท้อนโตเร็วมากยิ่งขึน้ ผสมดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่า ๆ (ประมาณ 10 กก. ต่อหลุม) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหลุม กลบดินผสมลงในหลุมให้พูนขึ้นกว่าระดับปากหลุมเล็กน้อย วางต้นกระท้อนที่เตรียมไว้ (เอาถุงที่ชําออกก่อน) ปลูกลงกลางหลุมกดดินให้แน่น ใช้ไม้หลักป้ายยึดลําต้นกันลมพัดโยก รดนํ้าให้ชุ่ม ถ้ามีแดดจัดควรมีการพลางแดดให้ด้วยจะทําให้ต้นกระท้อนตั้งตัวเร็วขึ้น

การดูแลรักษา

หลังจากปลูกแล้วจะต้องคอยดูแลรักษาต้นกระท้อนอย่างสมํ่าเสมอ ถึงแม้ว่า กระท้อนจะเป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวนมากนัก แต่การบํารุงรักษาให้ดีอยู่เสมอจะช่วยให้ต้นกระท้อนเจริญเติบโตเร็วมาก การดูแลรักษาโดยทั่วไปมีดังนี้

การให้น้ำ
ปกติกระท้อนเป็นพืชที่ชอบนํ้าแต่ขณะเดียวกันก็ทนสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่กระท้อนยังเล็กอยู่จะต้องให้นํ้าอย่างสมํ่าเสมอ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นการใหน้ำก็จะมีช่วงห่างขึ้นอย่างไรก็ดีในช่วงที่ต้นกระท้อนเริ่มออกช่อดอกและติดผลจะตองให้น้ำอย่างต่อเนื้อง จะช่วยให้
1. ช่อดอกมีความสมบูรณ์ การติดผลดี
2. ผลที่ติดแล้วมีการเจริญเติบโตอย่างสมํ่าเสมอ สวนที่มีการให้น้ำดีจะทำให้ผลมีขนาดโตกว่าส่วนที่ขาดแคลนน้ำ
3. ลดปัญหาเรื่องผลแตกได้ ซึ่งปัญหานี้จะพบเสมอในสวนที่ขาดแคลนน้ำ

การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งกระท้อนในแต่ละปีจะทําเพียงเล็กน้อย สําหรับต้นที่ยังไม่ให้ผลมักจะให้มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ มีการตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบออกบ้าง เมื่อกระท้อนเริ่มให้ผลผลิตแล้ว การตัดแต่งจะมีมากขึ้นเล็กน้อย โดยจะทําการตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วสิ่งที่ควรพิจารณาตัดแต่งออกมี
– กิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทําลาย กิ่งแห้งตาย
– กิ่งที่แน่นทึบอยู่ในทรงพุ่ม
– กิ่งนําซึ่งมักจะเจริญไปในทางด้านสูง ซึ่งจะทําให้ทรงพุ่มสูงขึ้น ควรจะทําการตัดเพื่อควบคุมทรงพุ่มให้มีการเจริญออกทางด้านกว้างมากกว่า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ตลอดจนการห่อผลและเก็บเกี่ยวผลผลิต

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยต้นกระท้อนที่ยังไม่ให้ผลจะเน้นไปที่เพื่อบํารุงต้นให้มีการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านเป็นส่วนใหญ่ ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ย คอกและปุ๋ย เคมีสูตรเสมอเป็นหลัก เช่น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราที่ใส่ควรจะไม่มากนักแต่ควรใส่บ่อยครั้ง จะดีกว่า เช่น 3 เดือน/ครั้ง เมื่อต้นกระท้อนให้ผลผลิตแล้ว การใส่ปุ๋ยจะเปลี่ยนสูตรไปตามระยะเวลาของความต้องการ กล่าวคือ
1. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เชน 15-15-15 เพื่อช่วย บํารุงต้นให้มีความสมบูรณ์เหมือนเดิม
2. ช่วงก่อนที่ต้นกระท้อนจะพักตัว ควรจะมีการใส่ปุ๋ยเพื่อช่วยให้ต้นมีการเก็บสะสมอาหารเพื่อการสร้างตาดอกดีขึ้น โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 9-24-24 หรือ 12-24-12 ในเดือนตุลาคม
3. ระยะติดผลแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 เพื่อบํารุงผลให้เจริญเติบโต อย่างเต็มที่
4. ระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 20 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง เช่น 13-13-21 เพื่อช่วยให้มีการปรับปรุงคุณภาพของผลให้ดีขึ้น เช่น เนื้อมีความนุ่มขึ้นรสชาติหวานขึ้น

สําหรับอัตราที่ใช้ควรพิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม สภาพความสมบูรณ์ของต้นและปริมาณผล ผลิตในแต่ละปีตัวอย่างเช่น ต้นอายุ 10 ปี มีขนาดทรงพุ่มกว้างประมาณ 8 เมตร มีการให้ผลผลิตดีอย่างสมํ่าเสมอ ก็ควรให้ปุ๋ย ไม่ต่ำกว่า 8 กก./ปี แบ่งใส่เป็น 4 ครั้ง (ครั้ง ละ 2 กก.) โดยพิจารณาใช้สูตรตามช่วงระยะเวลาที่ได้กล่าวแล้ว ส่วนปุ๋ย คอกอาจใส่ในช่วงหลังจากเก็บผลแล้วครั้ง เดียวก็พอ อัตราการใส่แล้วแต่ชนิดของปุ๋ยคอกที่ใช้สําหรับต้นอายุ 10 ปี อาจใช้ อัตราตั้ง แต่ 25 – 50 กก./ต้น

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชในสวนกระท้อนถ้าเป็นสวนขนาดเล็ก อาจใช้จอบดายหญ้าก็ได้ แต่ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ควรใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ หรืออาจจะเป็นแบบรถเข็นตัดหญ้าก็ได้จะทําให้สะดวกมากขึ้น การใช้สารเคมี กำจัดวัชพืชก็ได้ผลดีเช่นกัน แต่ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะบางครั้ง อาจทําให้เกิดความเสียหายกับต้นกระท้อนขึ้นได้ในแต่ละปีจะทำการกำจัดวัชพืชประมาณ 3-4 ครั้ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูฝน นับตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นต้นไป จนหมดฤดูฝนแต่ถ้ามีวัชพืชมากก็อาจจะทําการกําจัดวัชพืชในช่วงออกดอกอีกครั้ง

กระท้อน
กระท้อน ผลแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

การออกดอกติดผล

เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ใบของกระท้อนจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองส้มและร่วงในเวลาต่อมา จากนั้นจะมีการแทงยอดอ่อนและช่อดอกออกมาประมาณมกราคม ดอกจะเริ่ม บานติดผลเล็กๆ ตามปกติกระท้อนจะติดผล ค่อนข้างมากแต่ก็จะร่วงไปในขณะที่ผลยังเล็กอยู่เป็นจํานวนมากด้วยเช่นกัน เมื่อถึงเวลาห่อ ก็จะมีการเด็ดผลที่ไม่ดี หรือช่อที่ติดผลมากไปทิ้งด้วย จนในที่สุดจะเหลือผลกระท้อน ที่ห่อได้ประมาณ 400-600 ผลต่อต้น

การห่อผล
หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 80-100 วัน ผลจะมีขนาดโตประมาณ 5-6 ชม. ผิวจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวขี้ม้าและหลังจากนี้อีก 7-10 วัน จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีกระดังงา ซึ่งเป็นช่วงที่แมลงวันผลไม่จะเริ่มเข้าทําลายแล้ว จึงจะต้องทําการห่อผลตั้งแต่สีผิวเป็นสีเขียวขี้ม้าวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเข้าทําลายของแมลงวันผลไม้ และผลที่ได้ตามมาคือ ผิวของผลจะสวย ผลมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื้อมีคุณภาพดีขึ้น แต่ไม่ควรห่อผลตั้งแต่ผลที่ยังเล็กอยู่เพราะจะทำให้ผลแคระแกรนและร่วงอยู่ในถุงห่อเป็นจำนวนมากด้วย

สําหรับวัสดุที่ใช้ห่อนั้น เดิมนิยมใช้ใบตองแห้ง มาพับเป็นถุงสำหรับห่อเรียกว่า กระโปรง มีการพับไว้เป็นจํานวนมากเพื่อใช้เองและขายด้วย เวลาจะใช้จะแช่น้ำใหใบตองอ่อนตัว ผึ่งให้แห้งก่อนจึงนําขึ้น ไปห่อผล การใช้ใบตองห่อผลจะทําให้ผลมีผิวเป็นสีนํ้าตาลและมีนวลสวยงามแต่บางครั้งอาจมีคราบของเชื้อราขึ้นเป็นคราบที่ผิวได้

ปัจจุบัน ใบตองแห้งหายากขึ้นจึงมีการเอากระดาษสีน้ำตาลซึ่งได้จากถุงบรรจุปูนซิเมนต์หรือถุงบรรจุอาหารสัตว์ นํามาตัดให้มีขนาด 12 x 18 นิ้ว บางแห่งจะนํามาพับเป็นถุงห่อคล้ายกับการพับกระโปรงใบตอง แต่บางแห่ง จะพับเป็นถุงก้นกว้างก็ได้เช่นกัน การใช้ถุงกระดาษห่อจะทําให้ผิวเป็นสีเหลืองทอง สะอาด แต่ไม่มีนวลที่ผิวเหมือนกับใบตอง ส่วนถุงพลาสติกถ้านํามาห่อผลแล้วจะทําให้ผิวไม่สวย ผิวจะกร้านบางครั้งที่ด้านขั้วผลจะยังมีสีเขียวเหลืออยู่จนถึงระยะผลแก่ด้วย นอกจากนั้นยังทําให้ผลร่วงมากด้วยจึงไม่แนะนําให้ใช้ถุงพลาสติกในการห่อผล

ก่อนห่อผล ประมาณ 2-3 วัน ควรทําการพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง เช่น คาร์บาริล โมโนโครโตฟอสเพื่อป้องกันกําจัดแมลงก่อน ขณะห่อจะทําการตัดแต่งผลไปพร้อมกัน โดยเลือกเด็ดผลที่มีลักษณะไม่ดีและช่อที่ผลเบียดกันออกบ้าง ควรเหลือเฉพาะผลเดี่ยวๆ จะทําให้ผลเจริญเติบโตอย้างมีคุณภาพ นิยมใช้ไม้ดอกสําหรับมัดปากถุง เนื่องจากสะดวกในการมัด การขึ้นไปห่ออาจใช้บันไดหรือพะอง พาดกิ่งปีนขึ้นไปห่อ บางส่วนที่สามารถหาไม้ไผ่ได้ง่าย อาจมีการทํานั่งร้านรอบๆ ต้น ให้คนห่อปีนขึ้นไปปฏิบัติงานได้สะดวกอีกทางหนึ่ง

หลังจากห่อผลแล้ว 45-60 วัน ผลจะแก่ แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ พันธุ์ด้วยบางพันธุ์อาจจะช้า กว่านี้อีกก็ได้

เนื้อผลกระท้อน
เนื้อผลกระท้อน ภายในผลจะมีเมล็ด 3-5 เมล็ด และมีปุยสีขาวหุ้มอยู่

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ผลกระท้อนแต่ละพันธุ์จะทะยอยแก่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของแต่ละปี การสังเกตผลแก่อาจจะดูได้หลายวิธี ได้แก่ การนับอายุของผล เช่น พันธุ์เบา (ทับทิม, เขียวหวาน, ทับทิมทอง) จะมีอายุตั้งแต่ดอกบานถึงเก็บเกี่ยวประมาณ130 – 150 วัน ถ้าเป็นพันธุ์หนัก (เทพรส ปุยฝ้าย อีล่า นิ่มนวล) จะประมาณ 170 – 180 วัน เป็นต้น นอกจากนั้นอาจสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของผล เช่น เนื้อนุ่มขึ้นความฝาดลดลงหรือลักษณะภายนอกผล เช่น การเปลี่ยนสีผิวเป็นสีเหลือง หรือสีนาตาลจนถึงก้นผลเป็นต้น เมื่อผลกระท้อนแก่แล้ว หากปล่อยไว้บนต้นต่อไปอีก เป็นระยะเวลานานจะทําให้เกิดการเปลี่ยนสีที่ไส้กลางผลเป็นสีนาตาลและมีกลิ่นบูดเกิดขึ้นเรียกว่าไส้เป็นนํ้าหมาก และยังทําให้ผลร่วงมากขึ้นด้วย การเก็บเกี่ยวผลอาจใช้บันไดหรือพะองสําหรับขึ้นไปเก็บผลได้โดยใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลใส่ตะกร้าหรือใช้กรรไกรสำหรับเก็บผลไม้ที่มีที่หนีบขั้วผลด้วยก็จะสะดวกขึ้น นำไปแกะเอาวัสดุที่ใช้ห่อออกเพื่อคัดขนาดเพื่อของผลและทําความสะอาดรอการจําหน่ายต่อไป

การป้องกันและกำจัดโรคแมลง

โรคไรแดง
โรคไรแดง ใบจะมีลักษณะหงิกงอ เป็นปุ่มปม

ไรแดง
ไรแดงจะเข้าทําลายกระท้อนในระยะตั้งแต่ใบอ่อนจนถึงใบแก่ ทําให้ ใบหงิกงอ เป็นปุ่มปม ด้านใต้ใบจะมีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลถ้ามีระบาดมากจะทําให้ใบอ่อนหงิกงอหมดเมื่อพบว่าเริ่มมีไรแดงระบาดควรทำการตัดแต่งใบที่ถูกทำลายไปเผาทําลายทิ้งและฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดไรแดง เช่น กำมะถัน  ผงไดโคโฟล อามีทราส ไดโนบูตัน โดยฉีดพ่นหลังจากตัดแต่งกิ่ง และเริ่มแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง ทุก 4 วัน

หนอนผีเสื้อ
หนอนผีเสื้อยักษ์จะมีขนาดตัวใหญ่สีฟ้า จะเข้ากัดกินใบและยอดอ่อนทําให้ต้นกระท้อนชะงัก การเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ถ้ามีระบาดควรจับตัวหนอนมาทําลายและฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง เช่น เมทโธมีลประมาณ 1-2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน

หนอนร่านกินใบ
ตัวหนอนมีขนาดเล็กมีขนถ้าถูกผิวหนังจะรู้สึกแสบและคัน ตัวหนอนเข้ากัดกินใบเสียหาย ถ้ามีระบาดมากจะพบว่าตัวหนอนจะรวมกันเป็นกระจุกกัดกินใบแหว่งเป็นวง กําจัดโดยตัดใบที่มีตัวหนอนอยู่ด้วยไปทําลายทิ้งและฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง เช่น เพอร์เมททริน เมทโธมมีล ประมาณ 1-2 ครั้ง

หนอนเจาะขั้วผล
หนอนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรังที่ทําจากกลีบดอกกระท้อนแห้งๆ และเข้ากัดกินขั้วผลขณะที่ผล กระท้อนยังเล็กอยู่ ทําให้ผลแห้งและร่วงหล่น การป้องกันกําจัดหนอนชนิดนี้ โดยการตัดแต่งกิ่งให้มีทรงพุ่มโปร่ง เมื่อเริ่มติดผลขนาดเล็ก ควรมีพ่นละอองน้ำล้างช่อดอกจะช่วยลดการทําลายลงได้ ถ้าระบาดมากควรพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง เช่น โมโนโครโตฟอส ประมาณ 3-4 ครั้ง ทุก 7-10 วัน

เพลี้ยไฟ
จะเข้าทําลายกระท้อนตั้งแต่ระยะยอดอ่อน ระยะช่อดอกจนถึงติดผลขนาดเล็กทําให้ดอกแห้งร่วง ผลจะมีผิวลายและจะติดไปจนผลแก่ หากพบว่ามีเพลี้ยไฟระบาาดควรรีบทําการพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง เช่น คาร์โบซัลแฟน ฟอรมีทาเนท ในช่วงเริ่มออกช่อดอกและก่อนดอกบาน แต่งดการฉีดพ่นช่วงดอกบานหลังจาก ติดผลแล้วจึงฉีดพ่นใหม่ประมาณ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

แมลงวันผลไม้
แมลงวันผลไม้จะเข้าวางไข่บนผลที่ผิวเปลือกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีกระดังงาเป็นต้นไป ตัวหนอนจะ ชอนไช เข้าไปกัดกินเนื้อทําให้ผลเน่าและร่วงหล่น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การห่อผลในระยะที่ผลกระท้อนเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีขี้ม้า (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสีกระดังงา) ก็จะป้องกันได้

หนอนผลไม้
หนอนชนิดนี้จะพบว่า ระบาดในสวนกระท้อนที่ไม่มีการดูแลรักษา เช่น ไม่มีการตัดแต่งกิ่ง ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปในกิ่งหรือลําต้นเข้าทําลายท่อน้ำ ท่ออาหารทําให้กิ่งแห้งตาย การป้องกันกําจัดโดยดูแลตัดแต่งกิ่งให้มีทรงพุ่มโปร่ง ถ้าพบว่ามีตัวหนอนเจาะเข้าไปในกิ่งหรือลําต้น โดยจะสังเกตจากมีขุยอยู่ตรงรูที่หนอนเจาะเข้าไป ให้ใช้เข็มฉีดยา ใส่สารป้องกันกําจัดแมลง เช่น ไดโครวอส ฉีดเข้าไปในรูที่หนอนเจาะ แล้วใช้ดินหรือดินน้ำมันปิดรูไว้

โรคใบจุด
โรคใบจุดเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เมื่อมีการระบาดจะทำให้เกิดเป็นจุดขนาดเล็กๆ บนใบ ขอบแผลมีสีเข้มตรงกลางมีสีเหลืองจุดเล็กๆ จะขยายไปจนทั่วใบตามความยาวของใบ เมื่อ พบว่ามีโรคดังกล่าวระบาดมากควรทําการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดเชื้อรา เช่น บิโนมีล คาร์เบนดาซิม ทุก 10-15 วัน

แมลงวันผลไม้
แมลงวันผลไม้ จะเข้าวางไข่ และตัวหนอนชอนไช เข้าไปกัดกินเนื้อทําให้ผลเน่าและร่วงหล่น

ราคาขายกระท้อน

  • กระท้อนปุยฝ้าย ใหญ่สวย ราคากิโลกลัมละ 55 บาท / กลางสวย ราคากิโลกลัมละ 38 บาท/ เล็กสวย ราคากิโลกลัมละ 33 บาท  ราคา ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2564
  • กระท้อนอีล่า ใหญ่สวย ราคากิโลกลัมละ 38 บาท / กลางสวย ราคากิโลกลัมละ 32 บาท/ เล็กสวย ราคากิโลกลัมละ 28 บาท ราคา ณ วันที่ 25 กันยายน 2564
  • กระท้อนทับทิม ใหญ่สวย ราคากิโลกลัมละ 18 บาท / กลางสวย ราคากิโลกลัมละ 15 บาท/ เล็กสวย ราคากิโลกลัมละ 13 บาท ราคา ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564
  • กระท้อนดอง ใหญ่สวย ราคากิโลกลัมละ 50 บาท  ราคา ณ วันที่ 8 เมษายน 2565

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

Add a Comment