เห็ดถั่วเหลือง
ชื่ออื่นๆ : เห็ดถั่ว, เห็ดถั่วเหลือง, เห็ดถั่วเน่า, เห็ดโคนน้อย, เห็ดโคนบ้าน, เห็ดโคนขาว (ภาคเหนือ) เห็ดคราม, เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เห็ดโคนเพาะ, เห็ดโคนน้อย, เห็ดหมึก (ภาคกลาง)
ต้นกำเนิด : –
ชื่อสามัญ : –
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coprinus fimetarrius
ชื่อวงศ์ : Basidiomycetes
เห็ดถั่วเหลือง (เห็ดโคนน้อย) เป็นเห็ดที่เพาะง่าย และให้ผลผลิตที่สูง มีรสชาติอร่อย จึงเริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคเฉพาะในท้องถิ่น เราสามารถนำมาบริโภคได้ภายใน 5-7 วันนับจากวันที่เริ่มเพาะเห็ด โดยใช้ ฟางข้าว เป็นวัสดุเพาะ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะใช้วัสดุเพาะอื่น ๆ เพาะได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นและใบถั่วต่าง ๆ ต้นและซังข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวา ต้นกล้วยและใบกล้วยที่นำมาหมักให้ย่อยสลายบางส่วน ซึ่งสามารถที่จะนำมาเป็นวัสดุเพาะได้ทั้งสิ้น และเป็นวัสดุเพาะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การเพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนสามารถทำได้ง่ายๆโดยวิธีการเพาะแบบกอง ไม่จำเป็นต้องเพาะในโรงเพาะเห็ด
เห็ดถั่วเน่า นำมาทานอาหารได้หลายชนิด เนื้อนุ่ม เหนียว กรอบ รสหวาน กลิ่นหอม
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเห็ด
- วัสดุใช้ในการเพาะเห็ดโคนน้อย (เห็ดถั่ว) เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด เปลือกมันสำปะหลัง ผักตบชวา ต้นหรือใบกล้วยแห้ง ทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
- ไม้แบบหรือกระบะเพาะ ขนาดที่มีความกว้าง 30 ยาว 50 สูง 30 เซนติเมตร หรือทำจากแผ่นโลหะก็ได้
- ก้อนเชื้อเห็ดโคนน้อย จะต้องเป็นเชื้อที่บริสุทธิ์ แข็งแรง และเป็นสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาแล้ว
- อาหารเสริมใส่ให้กับเห็ดโคนน้อย โดยใช้ปุ๋ยยูเรียในอัตราการใช้ 0.5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 70 ลิตร
- อุปกรณ์การต้มน้ำ ได้แก่ ถังน้ำมัน 200 ลิตร หรือหม้อต้ม และเชื้อเพลิง อาจใช้ฟืนหรือก๊าซหุงต้มก็ได้
- เชือกสำหรับมัดฟางข้าว
- พลาสติกสำหรับคลุมกองวัสดุเพาะเพื่อปรับอุณหภูมิที่เราต้องการ และเป็นการบ่มกองวัสดุเพาะด้วย
วิธีการเพาะเห็ด
อัดวัสดุเพาะในกระบะหรือแบบพิมพ์ เสร็จแล้วอัดฟางให้แน่นแล้วนำเชือกมามัดฟางให้เป็นก้อน หรือจะกะน้ำหนักให้ได้ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อมัด หลังจากนั้น ต้มน้ำแล้วละลายอาหารเสริมในน้ำที่เดือด ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส หรือพอน้ำเดือด จึงนำวัสดุเพาะฟางข้าวที่มัดเป็นก้อนจุ่มลงไป ในน้ำทิ้งเอาไว้นาน 5-10 นาที เพื่อให้อาหารเสริมได้ซึมเข้าไปในวัสดุเพาะ และเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดโรคและแมลง และวัชพืชเห็ดต่าง ๆ อีกด้วย จากนั้น นำขึ้นแล้วปล่อยให้เย็นลง ใส่เชื้อเห็ดลงไป
ถ้าใส่เชื้อเห็ดในขณะที่วัสดุเพาะที่ยังร้อนอยู่จะทำให้เชื้อเห็ดตายได้ ยีก้อนเชื้อเห็ดให้กระจายออก นำมาผสมกับรำข้าวในอัตราส่วน 1:1 แล้วหยอดเชื้อเห็ดเป็นจุด ๆ รอบ ๆ กองวัสดุเพาะ แต่ละจุดห่างกัน 10-15 เซนติเมตร และต้องลึกลงไปในวัสดุเพาะ 1 นิ้ว ใช้มือหรือไม้ทำเป็นรูใส่เชื้อเห็ดก็ได้ หลังจากนั้น นำพลาสติกมาคลุมที่กอง ใช้พลาสติกสีดำหรือสีฟ้าก็ได้ โดยพลาสติกจะเป็นตัวที่จะดึงดูดแสงและควบคุมอุณหภูมิได้ดี
จากนั้นคลุมด้านบนอีกชั้นด้วยกระสอบป่านหรือฟางข้าวก็ได้ เพื่อให้เกิดความร้อนภายในกองวัสดุเพาะ เชื้อเห็ดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 35-45 องศาเซลเซียส ระยะนี้ ไม่จำเป็นจะต้องนำอากาศเข้าไปในกองเห็ด เส้นใยเห็ดโคนน้อยจะเจริญเติบโตได้รวดเร็ว โดยปกติ 4-5 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญได้ทั่วทั้งวัสดุเพาะแล้ว
การกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดโคนน้อยเกิดดอก ต้องยกวัสดุคลุมกองให้สูงขึ้นกว่าในตอนแรก เนื่องจากเวลาเกิดดอกแล้วจะติดอยู่กับพลาสติกที่คลุมอยู่และเป็นการสะดวกในการเก็บผลผลิต การทำที่คลุมต้องทำเป็นลักษณะคล้ายฝาชีครอบลงไปเพื่อสะดวกต่อการเปิดปิดง่าย จะใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ หรือกรงเหล็กครอบกองก็ได้ ให้มีความสูง 20-30 เซนติเมตร และคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการระเหย และต้องเจาะรูเพื่อเป็นการระบายอากาศ ส่วนด้านบนและด้านหลังควรคุมด้วยฟางแห้งให้มิดชิด
สำหรับการดูแลรักษาโดยทั่ว ๆ ไป หลังการเพาะจะต้องดูแลเรื่องศัตรูพืช เช่น มด ไรต่าง ๆ ไม่ให้มารบกวน อาจโรยปูนขาวรอบๆกอง และควรจะให้อุณหภูมิอยู่ประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และรดน้ำบนพื้นหรือวัสดุคลุมกอง หากภายในกองแห้งเกินไป
การเก็บผลผลิต
การเก็บผลผลิตจะเริ่มเก็บช่วงบ่ายถึงเย็น วิธีเก็บให้ใช้มีดสอดไปที่ฐานของดอกเห็ดพร้อมทั้งบิดไปมา ซ้ายขวา ดอกเห็ดโคนน้อยมีขนาดเล็กจะหลุดได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วควรนำไปใส่ภาชนะที่สะอาด เช่น ตะกร้าหรือกะละมัง และไม่ควรใส่มากเกินไป จะทำให้ดอกเห็ดทับกันทำให้ช้ำได้ง่าย ดอกเห็ดจะบานและเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง การยืดเวลาไม่ให้เห็ดเกิดความเสียหายได้ง่าย จึงควรเก็บในที่เย็น ที่อุณหภูมิ ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และเก็บในลักษณะสูญญากาศ
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// stri.cmu.ac.th
https:// www.youtube.com