การใช้โภชนาการบำบัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ

โรคกระเพาะ

โรคกระเพาะหรือเรียกเป็นทางการว่าโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียดหรือจุกแน่น ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนกินอาหารหรือหลังกินอาหารใหม่ๆ และเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าวตอนเช้ามืด หรือก่อนนอนตอนดึกๆ ก็ปวดท้องโรคกระเพาะได้เช่นกัน ดังนั้นโรคนี้จึงพบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากภารกิจรัดตัวจนทำให้การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมาก กรดนี้ก็ไประคายเคืองกระเพาะจนทำให้เกิดแผลที่ผนังของกระเพาะอาหารหรือที่ลำไส้เล็กตอนบน บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เวลาเป็นมักจะปวดนานครั้งละ 15 – 30 นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร อาการปวดท้องจะบรรเทาลงถ้าได้กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมหรือกินยาลดกรด คนที่เป็นโรคกระเพาะถ้าไม่ได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร (มีอาการอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระดำ) กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ (มีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ) กระเพาะลำไส้ตีบตัน (มีอาการปวดท้องรุนแรงและอาเจียนทุกครั้งหลังกินอาหาร) โดยปัจจัยส่งเสริมการเป็นโรคกระเพาะที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อุปนิสัยการกินที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารอย่างรีบเร่ง กินไม่เป็นเวลา อดอาหารบางมื้อ และการกินสารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มน้ำชากาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกาเฟอีนมาก การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เบียร์ เป็นประจำ และการกินยาบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ เช่น การกินยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตอรรอยด์ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระเพาะได้

ดังนั้น หลักโภชนบำบัดในปัจจุบันคือ การกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่อย่างสมดุล เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน เพื่อช่วยรักษาเนื้อเยื่อแผลในกระเพาะให้หายเร็วขึ้น และเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการหลั่งของกรดมากเกินไป

เมนูผัดกะเพรา
เมนูผัดกะเพราใส่พริก (อาหารที่มีรสเผ็ด)

มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องกับนิสัยการบริโภคที่ผู้มีปัญหาโรคกระเพาะต้องปรับเปลี่ยนดังนี้

กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า ผลสุกสีเหลือง เนื้อในมีสีขาว
  • กินอาหาร เป็นเวลา กินน้อยๆ วันละ 4 ถึง 5 มื้อ ไม่กินจุบจิบโดยเฉพาะก่อนนอน เพราะทุกครั้งที่อาหารตกถึงท้องจะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะ
  • ปริมาณอาหาร ไม่กินอิ่มมากเกินไปมิฉะนั้นจะมีกรดหลั่งออกมามากเกินควร
  • เลี่ยงการดื่มนมบ่อยๆ นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาการย่อยน้ำตาลในนม (แลคโตส) อาจเกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส ปวดท้อง ท้องเสียดได้เพราะระบบย่อยขาดเอนไซม์แลคเตสซึ่งใช้ย่อยน้ำตาลนม
  • ระวังการใช้เครื่องเทศรสเผ็ดจัด เช่น พริกต่างๆ กินเท่าที่ระบบย่อยของตัวเองจะรับได้โดยไม่เกิดอาการ ตัวคุณเองเท่านั้นที่จะบอกได้
  • กินอาหารที่มีกากใยสูง เช่นผัก ผลไม้ และธัญพืช โดยเฉพาะใยอาหารประเภทละลายน้ำ เช่น กล้วย มะละกอ แอปเปิล ซึ่งมีใยอาหารชนิดเพคตินมาก ช่วยป้องกันโรคกระเพาะและมะเร็งในกระเพาะอาหาร นักวิจัยพบว่าในกล้วยมีสารชนิดหนึ่งซึ่งช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะแข็งแรงขึ้น ทนต่อกรดได้ดี
  • กินผักใบเขียวจัดให้มากขึ้น เนื่องจากผักใบเขียวจัดมีวิตามินเคสูง ช่วยให้แผลในกระเพาะหายเร็วขึ้น ป้องกันเลือดออกในกระเพาะ ช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหาร มีข้อมูลรายงานว่าผู้ที่มีโรคกระเพาะมักพบการขาดวิตามินเค ผักสีเขียวจัดบางชนิดเช่นบรอกโคลี มีสารซัลโฟราเฟน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะอ่อนๆ นักวิจัยพบว่าสารสกัดซัลโฟราเฟนช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเชื้อเอชไพโลไร และอาจป้องกันมะเร็งได้
  • ผักผลไม้ที่มีเบตาแคโรทีนสูง เช่น แครอท ฟักทอง ผักใบเขียวจัด แคนตาลูป ช่วยป้องกันเยื่อบุกระเพาะและลำไส้ เร่งให้แผลหายเร็วขึ้น การกินผักผลไม้ยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินซี ซึ่งช่วยให้แผลในกระเพาะหายเร็วและป้องกันการติดเชื้อ
เนื้อฟักทอง
เนื้อฟักทอง เนื้อสีเหลือง มีเมล็ดด้านใน
  • เลี่ยงกาแฟ รวมทั้งชนิดไม่มีกาเฟอีน เนื่องจากกาแฟกระตุ้นการหลั่งกรดและอาจทำให้อาหารไม่ย่อย ชาอาจจะพอรับได้สำหรับบางคน แต่ก็ยังมีส่วนกระตุ้นการหลั่งกรดอยู่ดี แม้จะน้อยกว่ากาแฟก็ตาม
  • เลี่ยงน้ำส้ม น้ำมะนาว ถ้าทำให้ไม่สบายท้อง เนื่องจากกรดไหลย้อนกลับทางทำให้เกิดอาหารแสบร้อนในลิ้นปี่ – เลี่ยงอาหารทอด อาหารเค็มและน้ำอัดลม
  • เลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัด ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ ทำให้ไม่สบายท้องได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์และไวน์ เพราะจะทำให้กระเพาะหลั่งกรดได้มากขึ้น
  • งดบุหรี่
  • เคี้ยวช้าๆ ในเวลากินไม่เร่งรีบ
บรอกโคลี
บรอกโคลี ดอกสีเขียวเข้ม ดอกมีขนาดใหญ่
  • ควรสังเกตตัวเองว่าอาหารชนิดใดที่ก่อให้เกิดปัญหาในระบบย่อย เพราะการตอบสนองต่ออาหารในแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่อาหารชนิดเดียวกันถ้ากินคนละเวลาร่างกายก็จะตอบสนองต่างกัน
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ถึงแม้ความเครียดจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดกระเพาะ แต่อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อาการโรคกระเพาะเลวร้ายลงไปอีก โดยทำให้หายช้า
  • ไม่ควรใช้ยาลดกรดมากเกินควร เนื่องจากกรดในกระเพาะจะช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารเช่นเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 12 ลดการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ แบคทีเรียในอาหารเมื่อตกถึงกระเพาะจะถูกกรดทำลาย จึงช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ก่อสารเกิดมะเร็ง การใช้ยาลดกรดมากจึงไม่ดีต่อระบบย่อย

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://medinfo2.psu.ac.th
https://www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment