ขั้นตอนการเก็บกล้วยก่อนขนส่ง

การเก็บเกี่ยวกล้วย

เมื่อกล้วยถึงอายุเก็บเกี่ยวที่ต้องการ จะเก็บเกี่ยวด้วยมีดที่มีด้ามยาว มีความคม ตัดเครือ โดยใช้มือจับที่ส่วนของก้านเครือด้านที่ตัดปลีออก แล้วใช้มีดตัดก้านเครือด้าน ติดกับต้น เมื่อตัดเสร็จ จับเครือให้ลอยพ้นพื้นเพื่อป้องกันการกระแทก ถ้าต้นสูงมาก ให้ตัดต้นให้ต้นโน้มลงมาแล้วตัดเครือเพื่อง่ายต่อการป้องกันการกระแทก การขนมาที่ รถบรรทุกก็จะหิ้วแบบระมัดระวัง แล้วหุ้มด้วยถุงที่ห่อเครือหรือใช้พลาสติกกันกระแทกห่อเครือ

การห่อกล้วย
ใช้พลาสติกห่อกล้วยเพื่อป้องกันการกระแทก

ขั้นตอนการขนส่ง

ขั้นตอนการขนส่งจะมี 2 ระยะ คือ 1. ระยะที่ตัดจากแปลงไปยังโรงคัดบรรจุ 2. ขนส่ง ไปเพื่อการส่งออก การขนส่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะมีผลต่อคุณภาพกล้วย ระยะทาง อาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 1 เดือน ก่อนที่จะนำไปวางจำหน่าย เวลาเดินทางสั้น จะไม่มีผลต่อคุณภาพมากนัก แต่ถ้าใช้ระยะเวลาเดินทางนาน เช่น การส่งออกไป ต่างประเทศ การขนส่งจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ จึงต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การขนส่งจากแปลงปลูกไปยังโรงคัดบรรจุ ถ้าระยะทางระหว่างแปลงปลูก และโรงคัดบรรจุสั้น บางแห่งขนส่งในรูปเครือ จะขนด้วยรถปิคอัพที่ไม่มีแอร์คอนดิชั่น หรืออาจใช้รถแทรกเตอร์ แต่ในกระบะบรรทุกจะบุด้วยฟองน้ำหรือผ้าหนาๆ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ผลกล้วยได้รับการกระแทกและการเสียดสีหรือหามเครือกล้วย ออกมาจากแปลง เพื่อป้องกันการกระแทก บางแห่งขนส่งมาเป็นหวี โดยชำแหละหรือตัดจากแปลง ห่อด้วยโฟมบาง หรือ หุ้มด้วยถุงพลาสติกแล้วบรรจุในภาชนะเพื่อสะดวกในการขนส่งและป้องกันการกระแทก บางแห่งจะตัดเป็นหวีตั้งแต่ในแปลงแล้ววางบนแคร่ไม้ ไม่ให้แต่ละหวีสัมผัสกัน แล้วหามไปบรรทุกบนรถ ขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุแต่ถ้าระยะทางจากแปลงไปยังโรงคัดบรรจุไกลจะขนส่งในรูปหวีบรรจุ ในตะกร้าแล้วขนส่งด้วยรถปิคอัพหรือขนส่งโดยรถห้องเย็นหรือขนส่งในเวลากลางคืน ทำให้ผลกล้วยไม่ร้อนจัด จะเป็นการรักษาคุณภาพของกล้วยได้ในสภาพที่ปลูกบนร่องที่มีน้ำล้อมรอบ เมื่อตัดเครือกล้วยแล้วจะบรรทุก เครือกล้วยในเรือกั้นเครือด้วยใบตอง ขนส่งตามร่องน้ำในสวน เพื่อลดการกระแทก เพื่อส่งไปบรรทุกต่อด้วยรถไปยังโรงคัดบรรจุ
  2. การขนส่งเพื่อการส่งออก หรือตลาดระดับสูง กล้วยจะต้องได้มาตรฐาน และให้คงคุณภาพระหว่างเดินทาง ไม่มีกล้วยสุกก่อนถึงตลาดปลายทาง ซึ่งต้องใช้ ระยะเวลานานเกือบเดือน จึงต้องเก็บรักษาในห้องเย็นอุณหภูมิประมาณ 13–14 องศาเซลเซียส ต้องควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอมากที่สุดเพราะอุณหภูมิที่แปรปรวนจะทำให้คุณภาพกล้วยเสียหายอย่างรวดเร็ว

การทำความสะอาดหวีกล้วย

เมื่อขนส่งกล้วยจากแปลงมาถึงโรงคัดบรรจุทั้งในรูปเครือหรือเป็นหวี ต้องนำหวีกล้วย จากแปลงมาตรวจสอบคุณภาพและคัดออกถ้าคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนกล้วยที่ผ่านมาตรฐานนำมาทำความสะอาดตามขั้นตอน

  1. คัดแยกกล้วยที่ผ่านมาตรฐาน ถ้าไม่ผ่านมาตรฐานต้องคัดออก คัดกล้วยที่อายุการสุกแก่ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าผลกล้วยมีผลกลมไม่มีเหลี่ยม ต้องปาดดูเนื้อ ถ้ามีสีออกเหลือง ให้คัดหวีนั้นออก คัดทุกหวีถ้าหวีใดมีผลที่มีลักษณะ ไม่ผ่านมาตรฐาน ตามรายละเอียดในบทที่ 1 ให้คัดออกหรือตัดออกเป็นส่วนๆ ส่วนละไม่ต่ำกว่า 4 ผล อย่างมากไม่เกิน 6 ผล
  2. ทำความสะอาด เมื่อตัดและคัดเลือกผลให้ได้มาตรฐานแล้ว ต้องล้างผล ทำความสะอาดเอาเกสรกล้วยที่ปลายผลออกให้สะอาด ล้างทำความสะอาดขั้วหวี ให้ไม่มียางเปื้อนผล ทำความสะอาดในอ่างน้ำหลายๆ ครั้ง น้ำที่ใช้ล้างควรเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อลดการปนเปื้อนจากเชื้อโรค แมลงที่อาจติดมาจากแปลง
  3. การลดความชื้น หลังจากล้างทำควาสะอาดแล้ว นำผลกล้วยมาวางผึ่ง อาจใช้พัดลมเป่าให้ผิวเปลือกค่อนข้างแห้ง อาจวางทิ้งไว้เฉยๆ หรือวางบนถาดหมุน หรือผ่านเข้าอุโมงค์เป่าลมไล่ความชื้น
การล้างกล้วย
การล้างกล้วยทำความสะอาดน้ำยาง

การกำจัดแมลง

ในการส่งออกจะไม่อนุญาตให้มีแมลงติดไปกับผลิตผลเลย แมลงที่อาจติดมากับ หวีกล้วยตั้งแต่ในแปลง เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ ถ้าแมลงติดไป ผู้ซื้อจะส่งกลับหรือ เผาทำลายดังนั้นต้องมีการกำจัดแมลงอย่างดี แต่ลักษณะของหวีกล้วยมีที่หลบซ่อน ของแมลงมากจึงเลือกใช้ การเป่าด้วยลมแรงดันสูง

การบรรจุ

ขนาดบรรจุเพื่อการส่งออกขึ้นกับความต้องการของลูกค้า มีทั้งบรรจุเป็นหวีและ ตัดเป็นส่วนๆ ตามที่ผู้ซื้อกำหนด เช่น บรรจุหวีกล้วยที่แบ่งประมาณ 4–6 ผลวางเรียง ในถุงพลาสติกที่อยู่ในกล่องกระดาษ น้ำหนักประมาณ 10–12 กิโลกรัม ระหว่างผล คั่นด้วยโฟมบางๆ เมื่อได้น้ำหนักที่กำหนด ดูดลมออกจากถุงให้อากาศน้อยที่สุด มัดปากถุง ปิดปากกล่อง

เช่นเดียวกันการบรรจุกล้วยไข่จะบรรจุเป็นหวีในถุงพลาสติกในกล่องกระดาษ น้ำหนัก 10–12 กิโลกรัม วางคั่นระหว่างหวีด้วยโฟมบาง ปิดถุงให้สนิท ปิดกล่อง ที่มีช่อง

บางแห่งนำหวีกล้วยที่ตัดแต่งให้เหลือ 4–6 ผล ใส่ในถุงเล็ก แล้ววางรวมในกล่อง อีกที เพื่อสะดวกในการวางจำหน่ายหรือบรรจุเป็นผลเดี่ยวขาย ภายในประเทศ ขั้นตอนเช่นเดียวกัน แต่นำผลกล้วยดิบไปบ่ม ในห้อง บ่มด้วยก๊าซเอทธิลีนก่อนนาน 24 ชั่วโมง แล้วนำไปตัดผลออกเป็นผลเดี่ยว บรรจุในซองพลาสติก แล้ววางในลังพลาสติก ขนส่งด้วยรถห้องเย็นอุณหภูมิ 13–14 องศาเซลเซียส ไปยังศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรอการจำหน่าย เก็บรักษา ที่อุณหภูมิ 13–14 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกัน

การบรรจุกล้วย
การบรรจุกล้วยโดยการตัดแบ่งส่วนบรรจุตามความต้องการของผู้ซื้อ

การเก็บรักษากล้วยก่อนส่งออก

กล้วยที่บรรจุในภาชนะเรียบร้อยแล้ว เพื่อรอการส่งออก จะขนส่งโดยรถห้อง เย็น เพื่อส่งไปยังรถหรือเรือเดินทางไปยังประเทศผู้ซื้อ เก็บรักษาในห้องเย็นอุณหภูมิ 13–14 องศาเซลเซียส นานประมาณ 2 วัน เพื่อรอขนส่งทางรถเดินทาง ไปยังท่าเรือ เดินทางโดยเรือไปยังประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 วัน ตลอดการเดินทางจะเก็บรักษากล้วยหอม ในห้องเย็นอุณหภูมิ 13–14 องศาเซลเซียส

เช่นเดียวกันในการส่งออกกล้วยไข่ ที่ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนจะขนส่ง ทางรถบรรทุกอุณหภูมิ 13–14 องศาเซลเซียส แต่อาจต้องรอให้มีสินค้าเต็มรถประมาณ 2 วัน และใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน จนถึงผู้ซื้อ

วิธีบ่มให้สุก

เมื่อผลิตผลกล้วยขนส่งไปถึงผู้ซื้อ ก่อนนำออกจำหน่าย นำกล้วยที่ทำความสะอาด แล้วบรรจุในกล่องหรือในตะกร้าพลาสติกบ่มเพื่อให้ผลิตผลสุก ในห้องรม ที่ปิดสนิทไม่มีการรั่วของก๊าซ

การบ่มมีหลายวิธี คือ

  1. การรมก๊าซเอทธิลีนในห้องปิดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำออกมาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ประมาณ 2–3 วัน กล้วยจะสุก ผลเป็นสีเหลือง
  2. การจุ่มผลิตผลในสารละลายเอทธิฟอน แล้วนำออกมาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ประมาณ 2–3 วัน กล้วยจะสุก ผลเป็นสีเหลือง
บ่มกล้วย
นำกล้วยที่ทำความสะอาดแล้วมาทำการบ่ม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :

www.flickr.com

Add a Comment