ชะพลู ช้าพลู
ชะพลู มีชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb. อยู่ในวงค์ Piperaceae เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ลำต้นแบ่งเป็นข้อโดยตามข้อจะมีรากช่วยในการยึดเกาะ ใบมีสีเขียวสดเป็นมัน ฐานใบกว้าง ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจรูปทรงคล้ายกับใบพลู เห็นเส้นใบชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย ดอกสีขาวมีขนาดเล็ก ใบชะพลูจะมีรสเผ็ดร้อน เจริญอาหาร ขับเสมหะ ทำเสมหะให้งวด ทำให้เลือดลมซ่าน และมีสรรพคุณทางยาพร้อมวิธีการใช้ดังนี้
สรรพคุณทางยา
ส่วนที่ใช้ : ใบ ทั้งต้น ผล ราก
- ใบ ขับลม พบสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำต้มใบช้าพลู ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และ ปกป้องเซลล์ตับ
- ทั้งต้น ขับเสมหะ รักษาเบาหวาน
- ผล เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหืด แก้บิด
- ราก แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อขับลม แก้บิด
วิธีและปริมาณที่ใช้
- รักษาโรคเบาหวาน
ใช้ชะพลูสดทั้ง 5 จำนวน 7 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้พอท่วม ต้มให้เดือดสักพัก นำมาดื่ม เหมือนดื่มน้ำชา
ข้อควรระวัง – จะต้องตรวจน้ำตาลในปัสสาวะก่อนดื่มและหลังดื่มทุกครั้ง เพราะว่าน้ำยานี้ทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก ต้องเปลี่ยนต้นชะพลูใหม่ทุกวันที่ต้ม ต้มดื่มต่อไปทุกๆ วัน จนกว่าจะหาย - แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
ใช้ราก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว - แก้บิด
ใช้รากครึ่งกำมือ ผล 2-3 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว - โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ (โรครำมะนาด)
เอาต้นชะพลูทั้งราก 6-9 ต้น เกลือ 1กำมือใส่น้ำให้ท่วมยา ต้มเคี้ยวรากครึ่งชั่วโมงเอาน้ำที่ได้มาอม หรือเอารากชะพลูกับเกลือมาตำให้ละเอียดแล้วพอก
ข้อมูลตามตำรายาไทย
- ราก รสร้อน บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ แก้คูถเสมหะ ขับเสมหะให้ตกลงทางทวารหนัก ทำให้เสมหะแห้ง
- ราก ผล และใบ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดกระเพาะเนื่องจากความเย็นพร่องในธาตุ แก้ธาตุน้ำพิการ แก้ไอเย็น ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้ปวดฟัน ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ฟกช้ำ ใช้ภายนอก รักษาขาเน่าขาเปื่อย
- ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด
ข้อมูลตามบัญชียาจากสมุนไพร
ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ช้าพลูในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของรากช้าพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ ตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของช้าพลู (ทั้งต้น) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
ปรากฏในตำรับพระโอสถพระนารายณ์
64 มหาจุลทิพย์ 66 น้ำมันมหาวิศครรภราชไตล
องค์ประกอบทางเคมี:
การแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดใบช้าพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ได้สารประกอบ hydrocinnamic acid (1) และ β- sitosterol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ศึกษาในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley ให้หนูได้รับอาหารร่วมกับสารสกัดน้ำของรากช้าพลู เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารร่วมกับยามาตรฐาน metformin เมื่อเลี้ยงหนูจนครบ 4 สัปดาห์ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดน้ำจากรากช้าพลูสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงโครงสร้างทางจุลกายวิภาคของเซลล์ไอส์เลต และเซลล์อะซินาร์ของตับอ่อนให้มีลักษณะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ภาวะการอักเสบ และการชราภาพของตับอ่อนงดีขึ้น โดยการควบคุมการแสดงออกของยีน NF-kappa B p65 และลดระดับ MDA ที่ตับอ่อน เพิ่มการตอบสนองของอินซูลินผ่านการแสดงออกของยีน IRS-2 ในขณะที่สามารถปรับปรุงการรับสัญญาณของกลูโคสโดยการเพิ่มการแสดงออกของยีน GLUT-2 ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากช้าพลูมีความเหมาะสม สำหรับการปรับสมดุลของน้ำตาลกลูโคสได้
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.ananhosp.go.th
https://www.flickr.com