ตะคร้อ บักค้อ ประโยชน์และสรรพคุณ

ตะคร้อ

ตะคร้อ ชื่อเรียกอื่น กาซ้อง, คอส้ม (เลย) เคาะ (นครพนม, พิษณุโลก) ค้อ (กาญจนบุรี) เคาะจ้ก, มะเคาะ, มะจ้ก, มะโจ้ก (ภาคเหนือ) ตะคร้อไข่ (ภาคกลาง) ซะอู่เสก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) กาซ้อ, คุ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ปั้นรั้ว (เขมร-สุรินทร์) ปั้นโรง (เขมร-บุรีรัมย์) บักค้อ, ตะค้อ, หมากค้อ เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปมและพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยสามารถพบได้ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูงถึง 1,200 เมตร

ผลบักค้อ
ผลบักค้อ ทรงกลม เปลือกหนาคล้ายแผ่นหนัง

ประโยชน์ของตะคร้อ

  1. ผลสุกหรือเนื้อหุ้มเมล็ดใสสีเหลืองและฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะนิยมรับประทานกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเนื่องจากเนื้อผลมีฤทธิ์เป็นยาระบาย การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้หรือนำผลมารับประทานจิ้มกับเกลือหรือนำมาซั่วกิน ส่วนผลที่หวานมากก็นำมากินกับข้าวได้ ส่วนเปลือกผลส่วนก้นสามารถนำมาตำใส่เปลือก ผสมกับเนื้อ หรือนำมาตำเหมือนตำส้มตำ นอกจากนี้ยังสามารถนำผลมาทำเป็นอาหารหวานได้อีกหลายชนิด เช่น ตะคร้อแก้ว น้ำตะคร้อ ลูกกวาดตะคร้อ แยม ไวน์ เป็นต้น
  2. เปลือกต้นนำมาขูดเอาแต่เนื้อเปลือกตำใส่มดแดง (เปลือกนางกินกับตำเหมี่ยงโค่น กินกับใบส้มกบ ส้มลม ตำใส่เครื่องข่าตะไคร้ พริก)
  3. ใบอ่อนตะคร้อสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักแกล้มกับอาหารอีสานได้
  4. เมล็ดใช้รับประทานได้แต่อย่าเกิน 3 เม็ด เพราะจะทำให้เมา หรือที่นิยมก็คือนำมาสกัดทำเป็นน้ำมันสำหรับเป็นยาสมุนไพร หรือใช้เป็นน้ำมันสำหรับจุดประทีป
  5. เปลือกนอกของต้นนำมาขูดผสมกับเกลือ ใช้เป็นยารักษาสัตว์ (ไม่ได้ระบุว่าใช้รักษาอะไร)
  6. เปลือกต้นใช้สกัดทำเป็นสีย้อมได้ โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาล ส่วนเปลือกตะคร้อผสมกับเปลือกก่อจะให้สีกากี
  7.  เนื้อไม้ตะคร้อสามารถนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมไม้ทั่วไปได้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ทำไม้เสาเรือนบ้าน อาคารบ้านเรือน ด้ามเครื่องมือ ตะลุมพุก ลูกหีบน้ำมัน ลูกหีบอ้อย ทำเขียง ครก สาก สากตำข้าว กระเดื่อง ฟันสีข้าว ดุมล้อเกวียน ส่วนประกอบของล้อเกวียน ฯลฯ (แต่ต้องเป็นต้นมีอายุมากหน่อย) หรือนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง ทำฟืนและถ่านชนิดดี
  8.  ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน สามารถนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับล้างจาน ล้างห้องน้ำได้
  9.  ต้นตะคร้อใช้เป็นต้นไม้เพาะเลี้ยงครั่งได้ดี ซึ่งในประเทศอินเดียมีการใช้มานานแล้ว
  10.  ต้นตะคร้อสามารถนำมาใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาได้ดี เพราะพุ่มใบมีลักษณะหนาทึบ เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่กว้าง อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนกได้อีกด้วย
ผลตะคร้อ
ผลด้านใน สีเหลือง ฉ่ำน้ำ

สรรพคุณทางยาของตะคร้อ

  1. ราก เปลือกราก หรือทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้กษัย (ราก, เปลือกราก)
  2. ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ โดยใบแก่นำมาขยี้กับน้ำแล้วนำมาเช็ดตัว (ใบแก่)
  3.  เนื้อผลเป็นยาระบาย รับประทานมากไปจะทำให้ท้องเสียได้ (เนื้อผล)
  4. เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง (เปลือกต้น)
  5.  ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[2],[5]บ้างว่าใช้แก้บิด มูกเลือดได้ด้วย โดยนำเปลือกต้นมาตำกิน (เปลือกต้น)
  6. เปลือกต้นตะคร้อนำมาแช่กับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย โดยใช้ร่วมกับเปลือกต้นมะกอก เปลือกต้นเป๋ยเบาะ เปลือกต้นตะคร้ำ (เปลือกต้น)
  7. ช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งห้า)
  8. ทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน (ทั้งห้า)
  9. น้ำต้มจากเปลือกต้นตะคร้อช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ (Mahaptma and Sahoo, 2008) (เปลือกต้น)
  10.  ใบใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ)
  11. ทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้ฝีในกระดูก ปอด กระเพาะ ลำไส้ ตับ และม้าม (ทั้งห้า)
  12.  ใบแก่นำมาเคี้ยวให้ละเอียด ใช้ใส่แผลสดเพื่อปิดปากแผลไว้ จะช่วยห้ามเลือดได้ (ใบ)
  13.  ช่วยรักษาบาดแผลสดจากของมีคม ด้วยการนำเปลือกต้นบริเวณลำต้นที่วัดความสูงตามบาดแผลที่เกิด ขูดเอาเปลือกตะคร้อ นำมาผสมกับยาดำ (เส้นผม, ขนเพชร) แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล (เปลือกต้น)
  14. รากเป็นยาถอนพิษ เช่น อยากหยุดเหล้า ก็ให้นำน้ำต้มกับรากมาผสมกับเหล้าและใช้ดื่มตอนเมาจะทำให้ไม่อยากกินอีก ปริมาณการใช้เท่ากับราก 1 กำมือผู้กิน เหล้า 1 ก๊ง (ราก)
  15. ใบใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกษัย (ใบ)
  16. รากหรือเปลือกรากช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็น ช่วยถ่ายฝีภายใน (ราก, เปลือก)
  17. เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ฝีหนอง (ส่วนแก่นตะคร้อก็ใช้ได้เช่นกัน) (เปลือก)
  18. น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้นวดแก้อาการปวดไขข้อได้ (Palanuvej and Vipunngeun, 2008) (น้ำมันจากเมล็ด)
  19.  น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ ช่วยแก้ผมร่วง (น้ำมันจากเมล็ด)
  20.  น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้รักษาอาการคัน สิว แผลไหม้ได้ (Palanuvej and Vipunngeun, 2008) (น้ำมันจากเมล็ด)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะคร้อ
       มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากเปลือกและลำต้นของต้นตะคร้อพบว่า สามารถช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการตายของเซลล์มะเร็งได้ (Pettit et al.,2000, Thind et al., 2010) และมีฤทธิ์ในต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย (Ghosh et al., 2011)

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9792&SystemType=BEDO
https://arit.kpru.ac.th
https://www.youtube.com

Add a Comment