กล้วยหอมเสียหายก่อนวางขาย

กล้วย

กล้วย เป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยหิน กล้วยหักมุก เป็นต้น ส่วนใหญ่ ปลูกเป็นพืชประจำบ้าน ผลิตผลกล้วยสามารถขายในตลาดท้องถิ่นภายในประเทศ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ผลดิบจนถึงสุก ผลดิบสามารถนำไปทำได้ทั้ง อาหารคาว เช่น แกงเผ็ดต่างๆ และอาหารขบเคี้ยว เช่น กล้วยฉาบ ผลสุกสามารถ นำไปทำอาหารหวาน เช่น กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม เค้กกล้วยหอม อีกทั้งสามารถ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน เช่น กล้วยตาก กล้วยฉาบ เป็นต้น นอกจากนั้นผลดิบก็ยังนำไปทำแป้งกล้วยเพื่อนำไปทำอาหารอื่นได้ เช่น ขนมดอกจอก จะเห็นว่ากล้วยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ในการปลูกกล้วยแต่ละชนิด ใช้เวลาต่างๆ กัน เช่น กล้วยไข่ ใช้เวลาประมาณ 6–8 เดือน และ กล้วยหอมใช้เวลา 8–10 เดือน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกกล้วยแบบ ไม่มีการดูแลมากนัก ผลิตผลส่งขายตลาดภายในประเทศ ราคากล้วยค่อนข้างต่ำ จะได้ ราคาสูงตามช่วงเทศกาลเท่านั้น เมื่อราคาต่ำมากๆ เกษตรกรนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา เป็นต้น เนื่องจากกล้วยทุกชนิดมีอายุการวางจำหน่ายค่อนข้างสั้น เมื่อผลสุกจะเสียหายอย่างรวดเร็ว ทำให้ขายไม่ได้หรือขายได้แต่ราคาต่ำมาก หรือ เหลือทิ้งเป็นขยะมากมาย ไม่มีมูลค่า ทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิตได้ค่าตอบแทนต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกิดปัญหาทางมลพิษ

กล้วยหอม
กล้วยหอมสำหรับจำหน่าย ต้องคุณภาพดี ผิวสวย ปลอดภัยจากสารเคมี

การผลิตเพื่อส่งออกหรือเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เงื่อนไขการผลิตค่อนข้างสูง เพราะคุณภาพผลิตผลเพื่อการส่งออกต้องมีคุณภาพดี ผิวสวย ปลอดภัยจากสารเคมี หรือไม่มีการใช้สารเคมีเลยในกรณีส่งออกประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกษตรกรบางรายไม่สามารถผลิตได้ตามต้องการ ทำให้ไม่สนใจเพราะคิดว่าเป็นงานที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก ต้องดูแลในการจัดการหลายขั้นตอน

ถ้าสามารถทราบสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลดการสูญเสีย เพิ่มปริมาณ ผลผลิตกล้วยคุณภาพ เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถขายผลผลิตได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถส่งออกผลผลิตกล้วยได้มากขึ้น รายได้ของประเทศก็จะสูงขึ้น ทั้งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในด้านการผลิตกล้วยที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี

การเสียหายของกล้วยหอม

สาเหตุที่เกิดขึ้นในการผลิตกล้วยหอม พบว่า การจัดการในการปลูกจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลิตผลกล้วยหอมมาก จากการเปรียบเทียบแปลงที่มีการจัดการในการปลูกต่างกัน 2 แปลง ทำให้เกิดการ สูญเสียเมื่อเก็บเกี่ยว พบว่า มีการสูญเสียทั้งหมด 40.28 และ 11.16 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลไม่ได้ขนาด 20.18 และ 4.87 เปอร์เซ็นต์ จากกล้วยที่การจัดการแบบ สวนที่ 2 และ 1 ตามลำดับ ผลมีตำหนิ 17.75 และ 14.97 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน และมีผลแตก เพียงเล็กน้อย 0.30 และ 0.25 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ อาจเป็นไปได้เพราะสวนที่ 1 มีการจัดการที่ดี เช่น การให้ปุ๋ยและน้ำเพียงพอและสม่ำเสมอ ส่วนสวนที่ 2 การจัดการน้ำไม่ดี และเป็นกล้วยตอ 2

การคัดบรรจุ

เมื่อนำกล้วยหอมจากแปลงมายังโรงคัดบรรจุ พบว่าเมื่อมีการจัดการหลังการ เก็บเกี่ยว คือ ทำความสะอาด ตัดแต่ง กำจัดโรคแมลงบนหวีและผล เพื่อบรรจุผลิตผล เพื่อจำหน่ายหรือส่งออก พบว่า การสูญเสียจากการปฏิบัติ ที่ทำห้ไม่ผ่านมาตรฐาน คือ น้ำยางเปื้อนผล 2.36 เปอร์เซ็นต์ มีรอยช้ำ 2.82 เปอร์เซ็นต์ ราที่ปลายผล 2.03 เปอร์เซ็นต์ และ อื่นๆ เช่น ราที่ขั้วหวี ราที่ก้านผล บาดแผลจากแมลง บาดแผล และมีผลสุก เพียงเล็กน้อย ประมาณ 1.84 เปอร์เซ็นต์

การวางจำหน่ายกล้วยหอม

หลังจากนำกล้วยไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส นาน 16 วัน แล้วนำมาบ่มให้สุก เมื่อกล้วยสุกแล้วนำไปวางจำหน่าย จากการทดลองหลังบ่ม พบลักษณะความเสียหายจากการปฏิบัติ เช่น น้ำยางเปื้อนผล รอยช้ำ คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ โรคที่พบ เช่น ราที่ปลายผล ขั้วหวี ก้านผล เป็นต้น และแมลง คิดเป็น 3.28 เปอร์เซ็นต์ ผลสุกเกิดบ้างเป็นเพราะเก็บเกี่ยวมาในอายุที่ไม่เหมาะสม หรือ สุกแก่เกินไป คิดเป็น 0.53 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งลักษณะเหล่านี้มีผลทำให้อายุ การวางจำหน่ายสั้นลง การส่งออกไปต่างประเทศจะไม่ยอมรับสินค้าที่มีลักษณะเหล่านี้ ดังนั้นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

กล้วยหอม
กล้วยหอม ผลสุกผิวสีเหลือง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :

www.flickr.com

Add a Comment