ผักกาดเขียวปลี เป็นผักที่มีรสขมจึงไม่นิยมบริโภคสด นิยมนำมาดอง

ผักกาดเขียวปลี

ชื่ออื่นๆ : ผักกาดเขียวปลี, ผักกาดเขียว, ผักกาดแม้ว, Mustard Greens

ต้นกำเนิด : เอเซียใต้ เอเซียกลาง และเอเซียตะวันออก

ชื่อสามัญ : Chinese mustard, leaf mustard,Chinese green mustard,Indian mustard

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica juncea(L.) Czern.

ชื่อวงศ์ : CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ลักษณะของผักกาดเขียวปลี

เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกะหลํ่าปลี กะหลํ่าดอกและคะน้า  ผักกาดเขียวปลีเป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว และสองปีไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นตั้งตรง สูง 30-60 เซนติเมตร ไม่มีการแตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นค่อนข้างเรียบ มีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว

ใบ ใบมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบบขนนก มีก้านใบ ใบสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวเข้ม อาจมีขนหรือไม่มีขน มีการห่อของปลีหรือไม่มีขึ้นกับพันธุ์

ดอก ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ดอกย่อยบานจากด้านล่างขึ้นไปยังด้านบน มีดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกย่อยยาว 5-12 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4-6 มิลลิเมตร สีเขียว กลีบดอกสีเหลืองสดมี 4 กลีบ มีลักษณะโค้ง รูปไข่กลับ ยาว 6-10 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ยาวสี่อันสั้นสองอัน เกสรเพศเมียมีลักษณะกลม

ผล ผลแตกแบบผักกาด ยาว 25-75 มิลลิเมตร กว้าง 2-3.5 มิลลิเมตร ผลยาวตรง มีลักษณะพองและมีรอยคอด ปลายสอบเรียวหรืออาจเป็นจะงอยรูปกรวย ผลแตกเมื่อแก่จัด มี 10-20 เมล็ด เมล็ดกลมสีน้ำตาลจนถึงสีเทาดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มิลลิเมตร มีรอยร่างแหละเอียดบนเปลือกเมล็ด

ต้นผักกาดเขียวปลี
ต้นผักกาดเขียวปลี ลำต้นค่อนข้างเรียบ

การขยายพันธุ์ของผักกาดเขียวปลี

ใช้เมล็ด

ในประเทศไทยจะปลูกมากในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา และในเขตภาคตะวันตก คือ กาญจนบุรี

ธาตุอาหารหลักที่ผักกาดเขียวปลีต้องการ

ผักกาดเขียวปลีสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนซุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินนํ้าไหลทรายมูลสภาพของดินเป็นกลาง แปลงปลูกควรได้รับแสงแดดเต็มที่ ส่วนอุณหภูมิ ที่เหมาะสมคือ 15-20 องศาเซลเซียส

ประโยชน์ของผักกาดเขียวปลี

ผักกาดเขียวปลีเป็นผักที่มีรสขม บางที่นิยมนำมากินเป็นผักแนมลาบเพราะให้รสเผ็ดร้อนเข้ากันได้ดี ส่วนมากไม่นิยมบริโภคสด จะนิยมนำมาดอง

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1.เบต้าแคโรทีนปริมาณสูงในผักกาดเขียว จะเปลี่ยนเป็นวิตามินA ให้แก่ร่างกายเมื่อกินเข้าไปเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงสายตาให้มีประกายที่สดใส สุขภาพดี ป้องกันโรคทางสายตา เช่น ตาฟาง (Blurred vision) ตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือโรคความเสื่อมของดวงตา ต้อตาชนิดต่างๆ ในผู้สูงอายุได้ ช่วยบำรุงหลอดเลือดและหัวใจ และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็งได้ และนอกจากจะบำรุงสายตายังบำรุงให้ผิวชุ่มชื่น ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอีกด้วย

2. มีแคลเซียม ดีต่อระบบกระดูกและฟันของร่างกาย ช่วยป้องกันโรคไขข้อ ป้องกันโรคกระดูกพรุน

3. มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า glucosinolates ที่มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพและความสามารถดีท็อกซ์เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในร่างกาย จึงลดการสะสมของสารอนุมูลอิสระที่ทำร้ายร่างกาย

4. วิตามินซี ที่ดีต่อร่างกายมากๆ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ ป้องกันไวรัสและแก้อักเสบ จึงช่วยป้องกันหวัดและช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เหงือกแข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และบำรุงผิวให้แข็งแรง ผิวสวยสดใส เส้นใยอาหารที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ การย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะดังกล่าวทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ ส่งเสริมให้สุขภาพดีตามไปด้วย

5. กรดโฟลิค ดีต่อระบบเลือดและหลอดเลือด ช่วยบำรุงเลือด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์ดีเอ็นเอในระหว่างการตั้งครรภ์

ผักกาดเขียวปลี
ผักกาดเขียวปลี ใบสีเขียว ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าแบบขนนก

สรรพคุณทางยาของผักกาดเขียวปลี

  • เมล็ดของผักกาดเขียวมีสรรพคุณเป็นยา มีกลิ่นฉุน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร รักษาโรคหวัด ตลอดจนช่วยย่อยอาหารทำให้ท้องไม่อืด หรือแน่นเฟ้ออีกด้วย และน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดผักกาดเขียวยังช่วยแก้ปวดและแก้แพ้อากาศ หรือบรรเทาอาการคันได้ดีอีกชนิดหนึ่งด้วย
  • ผักกาดเขียวที่ต้นโตเต็มวัย จะมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนอย่างแรง มีสรรพคุณช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารได้ดีอีกด้วย
  • สรรพคุณอีกอย่างหนึ่งก็คือแก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ และยังช่วยให้มีความจำดีขึ้น
ลำต้นผักกาดขาวปลี
ลำต้นผักกาดขาวปลี ลำต้นมีการห่อปลี

คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดเขียวปลี

ส่วนที่รับประทาน 100 กรัม ประกอบด้วย
น้ำ 92 กรัม
โปรตีน 2.4 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม
แคลเซียม 160 มิลลิกรัม
เหล็ก 2.7 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 1.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี 73 มิลลิกรัม
เมล็ดหนักประมาณ 2 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

ผักกาดเขียวปลีดอง
ผักกาดเขียวปลีดอง การแปรรูปผัก

การแปรรูปของผักกาดเขียวปลี

การนำมาดองเปรี้ยวและดองเค็ม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9935&SystemType=BEDO
www.adep.or.th
www.flickr.com

6 Comments

Add a Comment