พริกรสเผ็ดร้อนกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพริกที่น่ารู้

พริกเรื่องเผ็ดร้อนที่น่ารู้

ในอาหารไทยส่วนใหญ่ มีพริกเป็นเป็นเครื่องปรุงอยู่ด้วยเสมอ เดิมเราจะได้ยินอยู่เสมอว่าการบริโภคพริกมากเกินไปไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพริกมากขึ้น ทำให้เราพบว่า นอกจากพริกจะมีสีสัน และความเผ็ดร้อนจะช่วยให้อาหารดูดีมีรสชาติขึ้นแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยา เป็นอาหารเสริมสุขภาพอีกด้วย

พริกเป็นพืชในวงศ์โซลานาซิอี (Solanaceae) เช่นเดียวกับมะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ และอยู่ในสกุลแคปซิคัม (Capsicum) ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และมีประวัติการใช้มายาวนานหลายพันปีก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะสำรวจพบทวีปอเมริกาเสียอีก เมื่อเขาได้ลิ้มลองรสชาติที่น่าพิศวง เขาจึงนำพืชชนิดนี้ไปเผยแพร่ในยุโรป โดยเรียกชื่อเสียใหม่ว่า พริกแดง (red pepper) ตามลักษณะของสี

ต้นพริก
ต้นพริกชี้ฟ้า เนื้อไม้อ่อนเปราะหักง่าย

หลายคนสงสัยว่าทำไมพริกจึงมีรสเผ็ด?

จากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์พบว่าในพริกมีสารเคมีชื่อ แคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้พริกมีรสเผ็ด แคปไซซินเป็นสารธรรมชาติจำพวกอัสคาลอยด์ มีสูตรโมเลกุลคือ C18H27NO3 เสน่ห์ของพริกไม่ได้อยู่ที่ความเผ็ดแต่เพียงอย่างเดียว แต่คุณค่าทางอาหารคือสิ่งที่ทำให้พืชชนิดนี้ได้รับความสนใจ ในการค้นคว้าและทดลองอย่างกว้างขวาง สีเหลือง สีส้ม และสีอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมายถึง 20 ชนิดในพริกก็เป็นสารที่ให้ประโยชน์ ที่สำคัญได้แก่ เบตาแคโรทีน (Beta-carotene ) เป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้พริกยังมีวิตามินซีอยู่ในปริมาณที่สูงมากโดยมีปริมาณที่สูงมากกว่าในผลส้มเสียอีก โดยในพริก 28 กรัม จะมีวิตามินซีสูงถึง100 มิลลิกรัม และวิตามินเอถึง 16,000 หน่วย

ในปี พ.ศ. 2456 หรือประมาณ 90 ปี มาแล้ว มีผู้ริเริ่มวัดค่าความเผ็ดของพริกเป็นคนแรก คือ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนี ชื่อ วิลเบอร์ สโควิลล์ (Willbur Scoville) โดยใช้กลุ่มคนที่ชอบทานพริกเป็นกลุ่มทดลอง ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องมือชื่อ เอช พีแอล ซี (HPLC – pressure liquild chromatography) เข้าช่วยวัด และปรากฏผลความเผ็ดดังนี้

  1. อันดับที่หนึ่ง ฮาบาเนโรแดงซาวีนา มีความเผ็ด 580,000 หน่วย นับว่าเผ็ดที่สุดในโลก
  2. อันดับที่สอง ฮาบาเนโร
  3. อันดับที่สาม พริกขี้หนู พริกสก็อต บอนเนท พริกจาเมก้า
  4. อันดับที่สี่ พริกชี้ฟ้า เป็นพริกที่มีความเผ็ดระดับปานกลาง
  5. อันดับที่ห้า พริกหยวก หรือพริกหวาน เป็นพริกที่ไม่มีความเผ็ดเลย มีความเผ็ดเป็น 0 หน่วย
พริกหวาน
พริกหวาน สีส้ม สีม่วง สีแดง

ประโยชน์ของพริก

  1. ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด และทำให้การหายใจสะดวกขึ้น สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกมีคุณสมบัติช่วยลดน้ำมูกหรือสารกีดขวางระบบทางเดินหายใจอันเนื่องจากการเป็นหวัด
  2. ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยลดความดัน ทั้งนี้ เพราะสารพวกเบต้าแคโรทีน และวิตามินซีช่วยเสริมสร้างหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้ปรับตัวเข้ากับแรงดันระดับต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
  3. ช่วยลดปริมาณสารคอเลสเทอรอล สารแคปไซซินช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเทรอลชนิดไม่ดี ( LDL)
  4. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
  5. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
  6. ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและอารมณ์ที่ดี
  7. เป็นเครื่องป้องกันตัว

สรรพคุณของพริกกับการรักษาโรค

  • ช่วยขับเสมหะ ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง เพราะในพริกจะมีสาร Capsacin ซึ่งจะสังเกตได้ว่าคนที่ทานพริกเข้าไป จะมีอาการน้ำตา น้ำมูกไหล
  • ช่วยสลายลิ่มเลือด ลดอาการอุดตันของเส้นเลือด อันเป็นสาเหตุขอโรคหัวใจตีบได้
  • ช่วยกระตุ้นสมองส่วนกลางให้หลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารสร้างความสุข ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง
  • ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารเนื่องจากพริกจะไปทำให้ต่อมน้ำลายทำงานมากขึ้น กระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหาร

** แต่ถ้ารับทานมากเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ในกระเพาะอาหารได้ **

พริก
พริกผลสุกสีแดง ผลเรียวยาว ปลายแหลม

วิธีแก้เผ็ดของพริก

ความเชื่อเก่า : ดื่มน้ำเย็นตามทันที เพื่อหวังดับความเผ็ดร้อนก่อนจะพ่นไฟเป็นมังกร

ผลที่ได้ : ไม่ได้ช่วยให้คุณหายเผ็ด แต่กลับกลายเป็นว่า การดื่มน้ำจะยิ่งไปกระจายความเผ็ดให้ทั่วปากมากขึ้นแทน

หนทางแก้เผ็ด

  • รับประทานข้าว ขนมปัง หรือจะดื่มนม จากนั้นค่อยอมลูกอมก็ได้ เพราะความหวานในอาหาร เครื่องดื่ม หรือลูกอมเหล่านี้ จะช่วยดูดซับสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่เป็นตัวการให้เกิดความเผ็ดร้อน เมื่อลิ้นหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปสัมผัสเจ้าพริกเม็ดจิ๋วเข้า
  • ดื่มน้ำมะนาว หรือน้ำมะเขือเทศสดๆ จะช่วยแก้เผ็ดได้ เพราะกรดจะไปทำปฏิกิริยากับสารดังกล่าว ซึ่งเป็นด่าง ทำให้ความเผ็ดแผลงอิทธิฤทธิ์น้อยลง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11231&SystemType=BEDO
https://www.lib.ru.ac.th
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment