กล้วยไข่ที่เสียหายก่อนส่งออก

กล้วยไข่

กล้วยไข่ พบได้ทุกภาคของประเทศ  กล้วยไข่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กล้วยกระ กล้วยไข่กำแพงเพชร ลำต้นมีความสูงไม่เกิน 2.5 เมตร กาบกล้วยด้านในมีสีเขียวอมเหลือง โคนก้านใบมีปีกสีชมพู ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ใบประดับรูปไข่เครือหนึ่งมีประมาณ 6-7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 12-14 ผล ลักษณะของผลค่อนข้างเล็กเวลาสุกจะมีสีเหลืองทอง กล้วยไข่ที่อร่อยและมีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ กล้วยไข่กำแพงเพชร กล้วยไข่เปลือกผลค่อนข้างบาง ผลสุกเนื้อผลสีเหลืองไพล เนื้อละเอียดนุ่ม รสหวาน กินกับกระยาสารท โดยเฉพาะเหมาะที่จะทำข้าวเม่าทอดมากที่สุด และผลดิบใช้ทำแป้งกล้วยสำหรับทำขนมไทย เป็นต้น

กล้วยไข่
กล้วยไข่ ผลทรงรี ผลสุกเปลือกมีสีเหลือง

สาเหตุที่ทำให้กล้วยไข่เสียหาย

การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในการปลูก และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว มีผลทำให้ผลกล้วยไข่ไม่ผ่านมาตรฐาน พบการเสียหายถึง 43.30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจาก ผิวมีตำหนิ สูงถึง 50.27 เปอร์เซ็นต์ ผลมีขนาดเล็กสูงถึง 30.61 เปอร์เซ็นต์ และ ลักษณะอื่นๆ 27.78 เปอร์เซ็นต์  ทำให้ผลมีขนาดเล็กเพราะ การจัดการปลูกไม่เหมาะสม ส่วนผิวมีตำหนิก็มีสาเหตุจาก แมลงทำลาย ผลเสียดสีกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเพราะการจัดการในแปลงปลูกไม่เหมาะสม ส่วนลักษณะอื่นที่เกิดขึ้น เล็กน้อย เช่น ผลเรียงไม่เป็นระเบียบ โรคที่ปลายผล ขั้วผลหัก ผลมีขนาดต่างกัน ผลแฝด ผลแตก จุดสีน้ำตาล ก้านผลหัก ผลสุก และรอยมีด เป็นต้น

ในขั้นตอนการส่งออกที่ประกอบด้วยการขนส่งในสภาพห้องเย็น การเก็บรักษา เพื่อรอการวางจำหน่าย นาน 16 วัน พบว่า มีกล้วยไข่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือตกเกรด ถึง 47.39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลักษณะที่พบคือ มีตำหนิ ราที่ขั้วหวี (35.29 เปอร์เซ็นต์) ราที่ปลายผล (26.40 เปอร์เซ็นต์) น้ำยางเปื้อนผล (82.02 เปอร์เซ็นต์) ผลมีขนาดต่างกัน (38 เปอร์เซ็นต์) แสดงว่าการคัดตั้งแต่การบรรจุผิดพลาด จึงมาพบในขั้นตอนนี้ ขั้วผลหัก ก้านผลหัก รอยสีน้ำตาลที่ก้านผล และอื่นๆ จากลักษณะที่พบสูงเห็นได้ว่า เมื่อเก็บรักษาไว้นานจะเกิดเชื้อราสูงแสดงว่าการจัดการหลังเก็บเกี่ยวไม่เหมาะสม อาจมีขั้นตอนที่ไม่สะอาด เกิดการกระแทก มีบาดแผลทำให้เกิดเชื้อราที่ก้านผล เป็นต้น ทั้งน้ำยางที่เปื้อนผล ถึง 82.02 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าการทำความสะอาดยังไม่เหมาะสม ส่วนลักษณะอื่นๆ เช่น ราที่ก้านผล ขั้วผลเน่า รอยแผลจากมีด ผลแตก ผลแฝด แผลที่ปลายผล ขั้วหวีเน่า และผลเน่า เป็นต้น

ก่อนจำหน่าย นำกล้วยไข่ที่เก็บรักษามาบ่มด้วยก๊าซเอทธิลีนนาน 24 ชั่วโมง แล้วออกมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นาน 2–3 วัน เมื่อกล้วยสุกเหลือง นำออกวางจำหน่าย พบว่า มีกล้วยที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือตกเกรดถึง 64.19 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะที่พบสูงมากคือ ขั้วหวีเน่า (41.39 เปอร์เซ็นต์) ขั้วผลเน่า ถึง 96.89 เปอร์เซ็นต์ ราที่ขั้วหวี 18.58 เปอร์เซ็นต์ ผิวมีตำหนิ จุดสีน้ำตาลที่ผิว ปื้นสีน้ำตาล รอยสีน้ำตาล ที่ก้านผล ไม่สุก 11.29 เปอร์เซ็นต์ ราที่ปลายผล 7.45 เปอร์เซ็นต์ รอยตัดแต่งหรือ รอยมีด 8.69 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ จากลักษณะที่พบสูงเห็นได้ว่า เมื่อเก็บรักษาไว้นาน จะเกิดเชื้อราสูงแสดงว่าการจัดการหลังเก็บเกี่ยวไม่เหมาะสม ส่วนลักษณะอื่นๆ ประมาณ 25.60 เปอร์เซ็นต์ เช่น รอยช้ำ รอยเสียดสี รอยสีน้ำตาล ปลายผลเน่า ปลายผลช้ำ ราที่ก้านผล และปลายผล เป็นต้น

เชื้อราที่ติดอยู่กับเกสร
เชื้อราที่ปลายผล เกิดจากอากาศที่ชื้น

จากข้อมูลเห็นได้ชัดเจนว่าการเสียหายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพเกิดได้ใน ทุกขั้นตอนการผลิต เช่น การจัดการในการปลูก การขนส่ง การคัดแยก การเก็บรักษา มีปริมาณการสูญเสียสูงมาก มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในทุกขั้นตอน ผลิตผลบางส่วน อาจจำหน่ายได้แต่ได้ราคาต่ำมาก คือถ้าผลิตผลมีขนาดตามความต้องการ ผิวไม่มี รอยตำหนิ ก็จะได้ราคาสูง ประมาณ 14–16 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าผลขนาดเล็กมาก น้ำยางเปื้อนผล ผิวมีตำหนิแต่ไม่ทำลายเนื้อผลก็จะขายได้แต่ราคาต่ำมาก ในกล้วยไข่ กิโลกรัมละ 5 บาท ในกล้วยหอมประมาณ 10 บาท เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่ไม่สามารถ นำไปขายได้สูง เช่น กล้วยตีนเต่าที่ไม่มีเนื้อ ผลที่มีบาดแผลลึกถึงเนื้อ เช่น รอยมีด รอยช้ำถ้าผลสุกก็จะเน่า ผลเน่าตั้งแต่ในแปลง เป็นต้น เป็นเหตุให้รายได้ของเกษตรกร ผู้ประกอบการลดลง บางครั้งมีผลถึงการส่งคืนผลิตผลในการผลิตเพื่อส่งออก แล้วผลิตผล ไม่ได้คุณภาพ เห็นได้ว่าถ้าสามารถลดการสูญเสียได้จะทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ประกอบการ จนถึงรายได้ประเทศจะสูงขึ้น

แนวทางการลดการสูญเสียด้านปริมาณ แนวทางหนึ่งทำได้โดยการจัดการในการปลูก ถ้าสามารถเพิ่มขนาดผลให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ โดยทั่วไปในเครือ หวีบนหรือหวีที่ เกิดออกมาก่อนจะได้รับอาหารก่อนและได้ปริมาณมากทำให้ได้หวีขนาดใหญ่ รองลงมาคือหวีที่อยู่ในลำดับถัดมาเรื่อยๆ ส่วนหวีสุดท้ายจะเป็นหวีที่ได้รับอาหารสะสมต่ำที่สุด ทำให้บางผลไม่ได้อาหาร ที่เรียกหวีตีนเต่า ถ้าสามารถเพิ่มขนาดผลได้ คือ การเพิ่มอาหาร หรือการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม ทำให้ผลกล้วยได้อาหารสะสมทุกผล ก็จะไม่เกิดปัญหาผลลีบ การมีโรค แมลงทำลาย โดยต้องหมั่นตรวจดูแปลงเพื่อสามารถป้องกันโรคแมลงที่จะเข้าทำลายได้ทัน หมั่นทำความสะอาดแปลง เป็นต้น

รอยตำหนิที่ผิว
รอยตำหนิที่ผิวกล้วย เกิดจากการเสียดสีของผลกับใบกล้วย

ส่วนผลที่มีการปฏิบัติไม่ดี จะพบผลที่มีรอยช้ำ ที่มีบาดแผลจากมีด ยางเปื้อนผล ดังนั้น การปฏิบัติต้องเหมาะสม เช่น ล้างหลายครั้ง ป้องกันผลกระแทก เช่น การหุ้มผล การขนส่งที่เหมาะสม เป็นต้น

ดังนั้น แนวทางจะต้องคำนึงถึง ตั้งแต่การจัดการในการปลูก การจัดการหลังการ เก็บเกี่ยว จนถึงการเก็บรักษา โดยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียสูงในแต่ละขั้นตอน และนำวิธีการจัดการที่เหมาะสมเข้าไปปฏิบัติก็จะทำให้ลดการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ต้องการ

ราคาขายกล้วยไข่

ราคา ณ วันที่ 30 เมษายน 2565

  • กล้วยไข่กำแพงเพชร (ใหญ่สวย) ราคาหวีละ 40 บาท / กลางสวย ราคาหวีละ 35 บาท / เล็กสวย ราคาหวีละ 20 บาท
  • กล้วยไข่จันทบุรี (ใหญ่สวย) ราคาหวีละ 35 บาท / กลางสวย  ราคาหวีละ 30 บาท / เล็กสวย ราคาหวีละ 10 บาท

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :

www.flickr.com

One Comment

Add a Comment