โรคใบไหม้ ใบจุด ของมันฝรั่งและการป้องกันกำจัด

โรคมันฝรั่ง

มันฝรั่ง เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมากพอสมควรในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะ ในช่วงฤดูหนาวสามารถปลูกมันฝรั่งได้ดีในที่ราบ โดยไม่จำเป็นต้องปลูกบนเขาเหมือนการปลูกมันฝรั่งในฤดูอื่น ๆ ปัจจุบัน ความต้องการบริโภคมันฝรั่งมีปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการบริโภคมันฝรั่ง แปรรูปในรูป แบบต่างๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ มันฝรั่งทอดแบบเฟรนช์ไฟร์ และใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร สําเร็จรูปที่ต้องการมันฝรั่ง เป็นวัตถุดิบ ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง การปลูกมันฝรั่งในภาคเหนือจึงขยายเนื้อที่การปลูกไปอย่างรวดเร็ว และปัญหาโรคของมันฝรั่งจึงทวีความสําคัญเป็นเงาตามตัว

โรคที่สำคัญมีดังนี้

  1. โรคใบไหม้
  2. โรคใบจุด
  3. โรคเหี่ยวเขียว
  4. โรคขี้กลาก
มันฝรั่ง
มันฝรั่ง ผลกลม เปลือกผลสีน้ำตาล

1. โรคใบไหม้

สาเหตุ
โรคใบไหม้เกิดจากเชื้อราไฟทอปเทอรา

อาการ
ใบเป็นจุดช้ำคล้ายถูกนํ้าร้อนลวก บริเวณแผลเป็นสีเขียวหม่น ถ้าอากาศเย็นและความชื้น สูงด้านใต้ใบตรงจุดชํ้านี้จะมองเห็นคล้ายเป็นละอองนํ้าเล็กๆ สีขาวใสติดอยู่ ต่อมาแผลจะค่อยๆ แห้งกลายเป็นสีน้ำตาล และขนาดของแผลจะขยายใหญ่ขึ้นจนเกือบจะทั่วใบ จนใบแห้งไหม้เป็นสีนํ้าตาล (ไหม้แบบฉํ่าน้ำ)และจะลุกลามอย่างรวดเร็ว จึงมักมองเห็นการเกิดโรคกระจายเป็นหย่อมๆ ทั้ง ลำต้นและกิ่งและยังทำลายที่หัวทำให้เกิดอาการหัวเน่าในภายหลัง

การป้องกันกำจัด

  1. ลดความชื้นในแปลงปลูก โดยใช้ระยะปลูกที่ห่างออกไปอีกเล็กน้อย และอย่าให้น้ำมากเกินไปควรหลีกเลี่ยงการให้ในน้ำตอนเย็น เพราะอากาศเย็นจะทําให้เกิดโรคมากขึ้น
  2. ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งและเผาทําลายทันที เพื่อลดการขยายพันธุ์ และลดการแพรระบาดของเชื้อต่อไป 
  3. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในบริเวณที่เคยปลูกมะเขือเทศมาก่อน หรือไม่ควรปลูกมันฝรั่งซํ้าในบริเวณที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน 
  4. เมื่อสภาพอากาศเย็นค่อนข้างหนาวและความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการแพร่ ระบาดของโรค หากพบว่าโรคเริ่มระบาด ให้พ่นสารเคมีป้องกันการแพร่ระบาด สารที่แนะนำ คือสารประเภทเมทาแลคซิล และ ออฟฟูเรส ควรใช้ในรูปของสารผสม หรือใช้สลับกันกับสารแมนโคเซป

หมายเหตุ
โรคนี้เข้าทําลายพืชได้ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างจํากัด ถ้าความชื้นตํ่า โรคจะระบาดช้าลง หรืออุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 22 องศาเซลเซียส โรคจะน้อยลงเช่นกัน ควรสังเกตสภาพแวดล้อมให้ดี จะทําให้การป้องกันกําจัดได้ผลดียิ่งขึ้น

โรคใบไหม้
โรคใบไหม้ บริเวณใบจะแห้งไหม้ จนเป็นสีนํ้าตาล

2. โรคใบจุด

สาเหตุ
โรคใบจุด เกิดจากเชื้อราออลเทอนาเรีย

อาการ
ผลจะเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กและค่อยๆ ลุกลามขยายใหญ่ออก จะมีจำนวนจุดมากขึ้น จนคล้ายกับใบไหม้แบบแห้งกรอบ
โรคนี้จะระบาดในสภาพที่มีความชื้นสูงและอากาศไม่เย็นนัก เชื้อราจะแพร่กระจายโดยปลิวไปตามลม และสามารถอาศัยอยู่ข้ามฤดูได้ในเศษซากพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน

การป้องกันและกำจัด

  1. อย่ารดนํ้าให้ชุมโชกจนเกินไป 
  2. ตัดใบที่เป็นโรค เก็บเผาทําลาย 
  3. ถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีสารที่แนะนําคือ ไอโปรไดโอน ควรใช้สลับกับ แมนโคเซป เพื่อป้องกันการดื้อยา
โรคใบจุด
โรคใบจุด ใบจะมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ จนทำให้ใบแห้ง

3. โรคเหี่ยวเขียว

สาเหตุ
โรคเหี่ยวเขียว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส

อาการ
ใบสลดลู่ลงเหมือนการขาดนํ้า หลังจากนั้น 2-3 วัน จะแสดงอาการเหี่ยวอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยที่ใบยังคงเขียวอยู่และต้นจะตายในที่สุดเชื้อนี้อยู่ในดินและในน้ำ การแพร่กระจายจะแพร่ไปทางน้ำเป็นส่วนมาก ทำให้มองเห็นว่าเกิดโรคเป็นหย่อมๆ และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ถ้าความชื้นสูงโรคจะระบาดอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

  1. เลือกที่ปลูกโดยปลูกในบริเวณที่ไม่เคยปลูกมันฝรั่งหรือมะเขือเทศมาก่อน 
  2. ลดความชื้น ในแปลงปลูก อย่าให้น้ำขังแฉะนาน ๆ
  3. ถอนต้นที่เป็นโรคออกไป แล้วเผาทําลาย พยายามเปิดดินบริเวณนั้นให้ดินแห้งและอย่าให้น้ำไหลจากแปลงปลูกที่เป็นโรคไปยังแปลงข้างเคียง
โรคเหี่ยวเขียว
โรคเหี่ยวเขียว ใบจะเหียวลู่ลง แต่ใบยังจะมีสีเขียว

4. โรคขี้กลาก

สาเหตุ
โรคขี้กลาก (สแคป) เกิดจากเชื้อราสเตร็ปโตไมซีส

อาการ
แสดงอาการที่หัว โดยหัวมันฝรั่งที่เป็นโรคจะเป็นสะเก็ดแห้งๆ สีน้ำตาลมีขอบแผลนูนเป็นสีน้ำตาลกลางแผลยุบลงไปเล็กน้อย แผลเหล่านี้จะอยู่ติดกันเป็นแผ่นเกิดเป็นสะเก็ดคล้ายขี้กลากทําให้ราคาหัวมันฝรั่งตกตํ่าโรคนี้มักระบาดในบริเวณปลูกที่อยู่เชิงเขาหินปูนและดินที่มีสภาพค่อนข้างเป็นด่าง การแพร่ระบาดจากแหล่งปลูกหนึ่งไปยังแหล่งอื่นๆ โดยติดไปกับหัวพันธุ์

การป้องกันกำจัด

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในบริเวณใกล้กับภูเขาหินปูน 
  2. คัดเลือกหัวพันธุ์ที่ไม่เป็นโรคมาปลูก
  3. เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน เช่น ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับสภาพดิน และทําให้มี การแข่งขันกันระหว่างจุลินทรีย์ในดินสูงขึ้น
โรคขี้กลาก
โรคขี้กลาก ผลจะเป็นสะเก็ดแห้งสีน้ำตาล

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.farmkaset.org
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment