กระชาย ภาษาอังกฤษเรียก Fingerroot เมนูอาหารที่ทำจากกระชาย

กระชาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Boesenbergia rotunda (L.) Mansf 
ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อสามัญ :  Fingerroot, Chinese ginger, Chinese key
ชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่น ๆ  กะแอน (อีสาน, เหนือ) กะซาย, ขิงซาย (อีสาน) จี๊ปู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) ซีพู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ละแอน (เหนือ) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) ขิงแดง, ขิงจีน
วงศ์ : ZINGIBERACEAE

กระชาย เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบ เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว  ออกเป็นกระจุก ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี ออกดอกเป็นช่อมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ เป็นรูปใบหอก

กระชาย
กระชาย ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลือง

สรรพคุณกระชาย

  1. กระชายมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
  3. กระชายเหลืองมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก
  4. ช่วยบำรุงกำลัง เสริมสมรรถภาพทางเพศ บำบัดโรคนกเขาไม่ขันหรือโรคอีดี (Erectile Dysfunctional หรือ ED) (เหง้าใต้ดิน)
  5. ช่วยบำรุงหัวใจ ด้วยการใช้เหง้าและรากของกระชายนำมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งแล้วบดจนเป็นผง และให้ใช้ผงแห้งที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยชา แล้วรับประทานเพียงครั้งเดียว (เหง้า, ราก)
  6. ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยทำให้กระดูกไม่เปราะบาง
  7. ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย
  8. ช่วยบำรุงกำหนัด แก้อาการกามตายด้าน (เหง้าใต้ดิน)
  9. ช่วยบำรุงสมอง เพราะช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางได้ดีมากขึ้น
  10. ช่วยปรับสมดุลของความดันโลหิตในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิตเมื่อความดันโลหิตสูง แต่เมื่อความดันโลหิตต่ำก็จะช่วยทำให้ความดันเพิ่มขึ้นจนเป็นปกติ
  11. สรรพคุณกระชายช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)
  12. กระชายมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้โรคในปากและคอ เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล (ใบ, เหง้า)
  13. ช่วยแก้ฝ้าขาวในปาก ด้วยการใช้กระชายที่ล้างสะอาดนำมาบดแบบไม่ต้องปอกเปลือก แล้วใส่ในโถปั่นพอหยาบ แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมากินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนชาเล็ก กินวันละ 3 มื้อก่อนอาหารประมาณ 15 นาที ประมาณ 1 อาทิตย์ (ราก)
  14. เหง้าใต้ดินมีรสเผ็ดร้อนและขม มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 5 – 10 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 3-5 กรัม แล้วนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ หรือจะนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน (เหง้าใต้ดิน)
  15. ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ด้วยการใช้เหง้าสด 1 – 2 เหง้า ใช้เหง้าที่ปิ้งไฟแล้วนำมาฝนหรือตำผสมกับน้ำปูนใส หรือจะคั้นให้ข้น ๆ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 – 2 ช้อนชาก็ได้ (เหง้า, ราก)
  16. ช่วยแก้บิด โดยใช้เหง้าสดประมาณ 2 เหง้า นำมาบดจนละเอียดแล้วเติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม (เหง้าสด)
  17. ช่วยรักษาอาการท้องเดินในเด็ก (เหง้า, ราก)
  18. รากกระชายมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระเพาะ (ราก)
  19. ช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (เหง้า, ราก)
  20. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะพิการ (เหง้า, ราก)
  21. ช่วยบำรุงตับและไตให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคไต ช่วยทำให้ไตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  22. ช่วยป้องกันไทรอยด์เป็นพิษ
  23. ช่วยรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะเกร็ง ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องใช้เม็ดบัวที่ต้มแล้วนำมารับประทานร่วมด้วย
  24. ช่วยแก้อาการไส้เลื่อนในเพศชาย
  25. ช่วยควบคุมไม่ให้ต่อมลูกหมากโต
  26. ช่วยบำรุงมดลูกของสตรี ป้องกันไม่ให้มดลูกโต
  27. แก้อาการตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)
  28. ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรีหลังคลอดบุตร
  29. ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม (6 – 8 เหง้า) นำมาผสมกับเนื้อมะขามเปียกประมาณ 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง และนำมาตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 2 แก้ว นำมารับประทานครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน แล้วรับประทานติดต่อกันประมาณ 1 เดือนจนกว่าจะหาย (เหง้าใต้ดิน)
  30. ใบช่วยถอนพิษต่าง ๆ (ใบ)
  31. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการใช้เหง้าหรือรากแก่ ๆ นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปตากแห้งและนำมาชงกับน้ำดื่ม (ราก, เหง้า)
  32. ช่วยบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง
  33. เหง้าและรากใช้เป็นยาภายนอก สรรพคุณช่วยรักษาขี้กลาก ขี้เกลื้อน (เหง้า, ราก)
  34. ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการใช้รากกระชายทั้งเปลือกมาล้างแล้วผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น ๆ และนำไปบดให้เป็นผงหยาบ ๆ และใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวมาอุ่นในหม้อใบเล็ก ๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย แล้วนำมาหุงด้วยไฟอ่อน ๆ ราว 15 – 20 นาที แล้วกรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชา นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ราก)
  35. ช่วยแก้อาการคันหนังศีรษะจากเชื้อรา ด้วยการใช้น้ำมันดังกล่าว (จากสูตรรักษาโรคน้ำกัดเท้า) นำมาเข้าสูตรทำเป็นแชมพูสระผม หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผมแล้วนวดให้เข้าหนังศีรษะก็ได้ แล้วค่อยล้างออก (น้ำมันกระชาย)
  36. ช่วยรักษาฝีด้วยการใช้เหง้ากับรากมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาทาหัวฝีที่บวม จะทำให้หายเร็วยิ่งขึ้น (เหง้า, ราก)
  37. เหง้ามีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังและโรคในช่องปากดีพอสมควร (เหง้า)
  38. กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านการก่อการกลายพันธุ์ โดยการบริโภครากกระชายสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
  39. กระชายมีสารที่ออกฤทธิ์ทำให้อนุมูลอิสระเป็นกลาง จึงมีผลช่วยลดความเสียหายของการเกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายได้
  40. กระชายมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ การบริโภคกระชายเป็นประจำอาจได้ผลคล้ายกับการรับประทานยาแอสไพรินและอาจจะช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายได้
  41. งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาพบว่าสารสกัดจากกระชายสามารถช่วยต้านการเสื่อมของกระดูกอ่อนในหลอดทดลองได้ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
  42. งานวิจัยในประเทศกานาพบว่าสาร Pinostrobin จากรากและใบมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมาลาเรีย
  43. งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มและเมทานอลจากรากของกระชายมีฤทธิ์ในการต้านการเจริญเติบโตของเชื้อ Giardia intestinalis ซึ่งเป็นพยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ที่ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  44. งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าสาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ของกระชายนั้นมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด
กระชายอบแห้ง
กระชายอบแห้ง ใช้เป็นเครื่องสมุนไพร

ประโยชน์กระชาย

  1. ประโยชน์กระชาย สามารถนำมาทำเป็นน้ำกระชายปั่น ดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่น บำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้เป็นอย่างดี
  2. น้ำกระชายช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น ช่วยทำให้เหนื่อยลง
  3. ช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรง เปลี่ยนผมขาวให้กลับเป็นดำ ช่วยทำให้ผมบางกลับมาหนาขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผมหงอก ผมร่วงได้
  4. รากนำมาใช้เป็นเครื่องแกงในการประกอบอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาดุก ปลาไหล ปลากุลา เป็นต้น และยังทำให้อาหารมีกลิ่นและรสที่หอมแบบเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
  5. รากกระชายสามารถช่วยไล่แมลงได้ ด้วยการนำตะไคร้ ข่า หอมแดง ใบสะเดาแก่ นำมาตำผสมกันแล้วใช้ผสมกับน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน
เมนูอาหารจากกระชาย
เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของกระชาย

โทษของกระชายและคำแนะนำในการทานกระชาย

  1. เนื่องจากกระชายเป็นพืชฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนในร่างกายสูง ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายพยายามระบายความร้อนออกมา เช่นการเป็นร้อนใน และกรณีทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลด้วยเช่นกัน
  2. ผู้หญิงไม่ควรทานกระชายแบบต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะในกระชายมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายมาก อาจส่งผลต่อการควบคุมระดับฮอร์โมนในเพศหญิงได้
  3. การวิจัยเกี่ยวกับกระชายได้ค้นพบว่า หากทานกระชายมากเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดอาการใจสั่น และบางรายอาจจะมีอาการเหงือกร่น ดังนั้น การทานในปริมาณที่เหมาะสมพอดี ย่อมปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายแน่นอน กระชายเป็นสมุนไพรทีมีฤทธิ์เผ็ดร้อน เหมาะสำหรับการใช้บำรุงร่างกาย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ มีฤทธิ์ในการต่อต้านการอักเสบ และมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายอย่าง นอกจากนี้ กระชายมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับการนำมาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ดีแบบนี้ต้องไม่พลาดเด็ดขาด

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://rspg.svc.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

2 Comments

  1. kafillAuthor มิถุนายน 15, 2023

Add a Comment