ตะลิงปลิง ผลมีรสเปรี้ยวจัด นิยมเก็บผลอ่อนมากินกับกะปิหรือใช้เป็นเครื่องปรุงใส่ในอาหารที่ต้องการความเปรี้ยว

ตะลิงปลิง

ชื่ออื่นๆ : มูงมัง (เกาะสมุย), กะลิงปริง, ลิงปลิง, ปลีมิง (ระนอง) บลีมิง (นราธิวาส) มะเฟืองตรน, หลิงปลิง (ภาคใต้)

ต้นกำเนิด : อินโดนิเซีย และพบตวามชายทะเลในประเทศบราซิล

ชื่อสามัญ : Bilimbi, Belimbing, Cucumber Tree, Tree Sorrel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa bilimbi  L.

ชื่อวงศ์ : OXALIDACEAE

ลักษณะของตะลิงปลิง

ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเรียบสีชมพู กิ่งก้านมีขนนุ่มปกคลุม และเปราะหักง่าย

ใบ ใบประกอบแบบขนนก ยาว 20-60 เซนติเมตร ใบย่อยเรียงสลับกันเป็นคู่ มี 25-35 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้างประมาณ 5.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ด้านล่างใบมีขนนุ่ม

ดอก ดอกออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกสีแดงอมม่วง กลางดอกมีสีนวล กลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนปนแดง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายมน เมื่อดอกบานขนาดผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน สั้น 5 อัน ยาว 5 อัน อยู่สลับกัน ออกดอกในช่วงหน้าหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

ผล ผลสีเขียว รูปกลมยาว ฉ่ำน้ำ ผิวเกลี้ยง กว้าง 2-5 เซนติเมตร  ยาว 4-10 เซนติเมตร เป็นพูตื้นตามยาว 4-5 พู เมื่อผลสุกมีสีเขียวแกมเหลือง รสเปรี้ยวจัด จะเก็บเกี่ยวได้ในฤดูร้อน คือ ช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน

เมล็ด ลักษณะแบนยาว สีขาว

ต้นตะลิงปลิง
ต้นตะลิงปลิง ไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามากมาย

การขยายพันธุ์ของตะลิงปลิง

เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง, การทาบกิ่ง

วิธีเก็บผล สามารถเริ่มที่จะทยอยเก็บได้ตั้งแต่ดอกติดผลได้ประมาณ 1-2 เดือน โดยเลือกเก็บผลที่มีสีเขียวอมเหลืองเล็กน้อย เพราะเนื้อจะกรอบและได้รสที่กลมกล่อม ไม่ควรเก็บผลที่มีสีเหลือง เพราะเนื้อจะเละ ผลตะลิงปลิงสามารถเก็บรักษาโดยการล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง ใส่กล่องแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น จะเก็บได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์

ธาตุอาหารหลักที่ตะลิงปลิงต้องการ

ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

ประโยชน์ของตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง เป็นไม้ผลใช้บริโภค ตะลิงปลิงอยู่ในสกุลเดียวกับมะเฟือง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างมะเฟืองกับมะดัน การบริโภค ผลมีรสเปรี้ยว เป็นที่นิยมเก็บผลอ่อนมากินกับกะปิ น้ำปลาหวาน เกลือ หรือนำมาทำส้มตำตะลิงปลิง หรือกินกับอาหารรสจัด หรือใช้เป็นเครื่องปรุงใส่ในอาหารที่ต้องการความเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ต้มยำ เป็นต้น หรือจะนำมาแช่อิ่มก็ได้ หรือจะนำมาทำน้ำผลไม้ ซึ่งจะให้แคลอรีต่ำ มีวิตามินเอสูง แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นจำนวนมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เลือดตกตะกอนได้

ผลตะลิงปลิง
ผลตะลิงปลิง ผลสีเขียว รูปกลมยาว ฉ่ำน้ำ ผิวเกลี้ยง

สรรพคุณทางยาของตะลิงปลิง

  • ต้น ใช้ต้นอ่อนเป็นยาระบาย
  • ราก เป็นยาแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยลดไข้ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยแก้โรคริดสีดวงทวาร และบรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังแก้อาการคัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเก๊าท์ได้ด้วย
  • ใบ มีรสเฝื่อน ใช้ต้มหรือบดชงน้ำร้อนดื่มแก้ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไขข้ออักเสบ แก้กามโรค รักษาสิว รักษาซิฟิลิส แก้คางทูม ตำพอกแก้อักเสบ แก้คัน
  • ดอก มีรสเปรี้ยวฝาด นำมาชงเป็นชา แก้ไอ
  • ผล มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้ปรุงรสอาหาร ทำน้ำผลไม้ ทำผลไม้แห้งและแช่อิ่มได้ดี ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย สมานแผล ขับเหงื่อ แก้ปวดกระดูก แก้ไข้ แก้ไอ เป็นยาฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร  คั้นเอาน้ำมาหยอดตา บรรเทาอาการตาอักเสบ น้ำคั้นจากผลใช้ลบรอยเปื้อนบนมือ เสื้อผ้า และของใช้ต่าง ๆ ได้ดี

คุณค่าทางโภชนาการของตะลิงปลิง

การแปรรูปของตะลิงปลิง

การแช่อิ่ม หรือการนำไปทำน้ำผลไม้

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9919&SystemType=BEDO
https:// adeq.or.th
https://www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment