วิธีกินยอดมะรุม กินใบมะรุม สรรพคุณและคุณค่าทางอาหารของมะรุม

มะรุม

มะรุม หรือ ผักอีฮึม, ผักอีฮุม ,มะค้อนก้อม (เหนือ) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Moringa oleifera Lam. มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Moringa อยู่ในวงศ์ Moringaceae  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-4 เมตร ทรงต้นโปร่ง ใบเป็นแบบขนนก หรือคล้ายกับใบมะขามเรียงแบบสลับกัน ผิวใบสีเขียว ด้านล่างสีจะอ่อนกว่าด้านบน ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลหรือฝักมีความยาว 20-50 เซนติเมตร ลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง เปลือกผล หรือฝักเป็นสีเขียวมีส่วนคอด และส่วนมนเป็นระยะตามความยาวของฝัก ฝักแก่ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เมล็ดมีเยื่อหุ้มกลมเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

คนไทยทุกภาคนิยมนำฝักมะรุมไปทำแกงส้ม ด้วยการปอกเปลือกหั่นฝักมะรุมเป็นชิ้นยาวพอคำ ถือว่าเป็น ผักที่ทำแกงส้มคู่กับปลาช่อนอร่อยที่สุด จะต่างกันก็ในรายละเอียดของแกงตามแบบอย่างของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แม้แต่ทางใต้ก็นิยมนำมะรุมมาทำแกงส้มปลา-ช่อน โดยจะใส่ขมิ้นเพื่อดับกลิ่นคาวปลาและเพิ่มสีสันของน้ำแกง ปรุงรสเปรี้ยวด้วยการใส่ส้มแขกแทนน้ำมะขาม และหั่นปลาช่อนเป็นแว่นใหญ่ไม่โขลกเนื้อปลากับเครื่องแกง

ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาวเพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม ยอดมะรุม ใบมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อยเพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดในช่วงฤดูกาล คนที่ปลูกมะรุม ไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน ช่อดอกนำไปดองเก็บไว้กิน กับน้ำพริก วิธีกินใบอ่อนมะรุม ยอดมะรุม ช่อดอก และฝักอ่อนนำ  มาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแนมกับลาบ ก้อย แจ่วได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้

ต้นมะรุม
ต้นมะรุม ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-4 เมตร ทรงต้นโปร่ง

คุณค่าทางอาหารของมะรุม

มะรุมเป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ลว่าเป็นพืชที่รักษาทุกโรค ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า  การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค นั่นคือ

  • วิตามินเอบำรุงสายตามีมากกว่าแครอท 3 เท่า
  • วิตามินซีช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม
  • แคลเซียมบำรุงกระดูกเกิน 3 เท่าของนมสด
  • โพแทสเซียมบำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่าของกล้วย 
  • ใยอาหารและพลังงานไม่สูงมากเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

กินมะรุมช่วยด้านใดบ้าง

  1. ชะลอความแก่
    กล่าวกันว่ามะรุมมีฤทธิ์ชะลอความแก่ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในด้านนี้ คาดว่าเป็นการสรุปเนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญคือ รูทินและเควอเซทิน (rutin  และ quercetin) สารลูทีนและกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (lutein และcaffeoylquinic acids) ซึ่งต้านอนุมูลอิสระ ดูแลอวัยวะต่างๆ ได้แก่ จอประสาทตา ตับ และหลอดเลือดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ การกินสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายได้
  2. ฆ่าจุลินทรีย์
    สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์และเบนซิล-กลูโคซิโนเลตค้นพบในปี พ.ศ.2507 จากมะรุมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ สนับสนุนการใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู  ปัจจุบันหลังจากการค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร Helicobactor pylori กำลังมีการศึกษา สารจากมะรุมในการต้านเชื้อดังกล่าว
  3. ป้องกันมะเร็ง
    สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ 
    การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม
  4. ฤทธิ์ลดไขมันและคอเลสเทอรอล
    จากการทดลอง 120 วัน ให้กระต่ายกินฝักมะรุม วันละ 200 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันเทียบกับยาโลวาสแตทิน 6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันและให้อาหารไขมันมาก
  5. ฤทธิ์ป้องกันตับ
    งานวิจัยการให้สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมะรุมกรณีทำให้ตับหนูทดลองเกิดความเสียหายโดยยาไรแฟม-ไพซิน พบว่าสารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันตับ โดยมี   ผลกับระดับเอนไซม์แอสพาเทตอะมิโนทรานสเฟอเรส อะลานีนอะมิโนทรานสเฟอเรส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทส และบิลิรูบินในเลือด และมีผลกับปริมาณไลพิดและไลพิดเพอร์ออกซิเดสในตับ โดยดูผลยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ สารสกัดใบมะรุมและซิลิมาริน (silymarin กลุ่มควบคุมบวก) มีผลช่วยการพักฟื้นของการถูกทำลาย ของตับจากยาเหล่านี้
ยอดมะรุม
ยอดมะรุมมีสีเขียวอ่อนนวล ใบรูปไข่กลับ

คุณค่าทางโภชนาการของใบมะรุม 100 กรัม 

  • พลังงาน    26   แคลอรี
  • โปรตีน    6.7   กรัม (2 เท่าของนม)
  • ไขมัน    0.1   กรัม
  • ใยอาหาร    4.8   กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต    3.7   กรัม
  • วิตามินเอ    6,780   ไมโครกรัม (3 เท่าของแครอท)
  • วิตามินซี    220   มิลลิกรัม (7 เท่าของส้ม)
  • แคโรทีน    110  ไมโครกรัม
  • แคลเซียม    440   มิลลิกรัม (เกิน 3 เท่าของนม)
  • ฟอสฟอรัส    110   มิลลิกรัม
  • เหล็ก    0.18   มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม    28   มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม    259   มิลลิกรัม (3 เท่าของกล้วย)
ใบมะรุม
ใบมะรุมใบสีเขียวเรียงตัวตรงกันข้าม

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.doctor.or.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

One Comment

Add a Comment