ลำไย
ลําไยเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลแน่นอนเนื่องจากลำไยเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือต้นไม่มีรากแก้วจึงทําให้มีโอกาสโค่นล้มเนื่องจากลมพายุสูงมาก ปัจจุบันชาวสวนบางรายเริ่มให้ความสนใจ ในการขยายพันธุ์ลำไยโดยวิธีการอื่นๆ เช่น การเสียบกิ่ง, การทาบกิ่ง และการเสริมราก โดยใชต้นตอที่เพาะจากเมล็ด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดินป้องกันต้นลําไยโค่นล้ม
การขยายพันธุ์ลําไยด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
- การเสียบกิ่ง
- การตอนกิ่ง
- การทาบกิ่ง
- การเสริมกิ่ง
1. การเสียบกิ่ง
การปลูกลำไยในปัจจุบันชาวสวนลำไยมักปลูกลําไยด้วยกิ่งตอนจึงทำให้เกิดปัญหาการโค่นล้มเนื่องจากลมพายุ ทั้งนี้เนื่องจากระบบรากของลําไยที่ได้จากการตอนกิ่ง เป็นระบบรากพิเศษ คือ ระบบรากแบบนี้จะแผ่กว้างไปในแนวนอน จากการสังเกตรากของลําไยจะน้อยประกอบกับลําไยมีทรงพุ่มทึบและกว้างในปีที่ลำไยติดผลมากๆ เมื่อเกิดลมพายุจึงมักจะโค่นล้ม พบว่าปีหนึ่งๆ ลําไยถูกพายุโค่นล้มเป็นจํานวนมาก วิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทางหนึ่ง คือการปลูกกิ่งพันธุ์ลำไยด้วยกิ่งที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน การเสียบกิ่งจําเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ในการทําจึงจะประสบผลสําเร็จ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
การเตรียมต้นตอ
ต้นตอที่จะใช้ในการเสียบกิ่งได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อแกะเอาเนื้อออกควรรีบนําไปเพาะทันทีหากเก็บเมล็ดไว้นานเมล็ดจะสูญเสียความงอก มีการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดลําไย พบว่าเมล็ดที่แกะออกจากผลแล้วนําไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่า เพียง 10 วัน เมล็ดลําไยจะไม่งอกเลย ในกรณีที่จะเก็บเมล็ดไว้นาน ๆ ควรเก็บไว้ทั้งผล โดยแช่ในสารกันราพวกเบนโนมิล ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 5 นาที สามารถเก็บไว้ได้นาน 30 วันโดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกถึง 85 เปอร์เซ็นต์ การเพาะอาจเพาะลงในถุงพลาสติกหรือเพาะในกระบะ ฝังเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5เซนติเมตร รดนํ้าให้ชุ่ม ประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ก็สามารถนําไปใช้เป็นต้นตอได้
การเตรียมยอดพันธุ์ดี
ยอดพันธุ์ที่ใช้ในการเสียบกิ่งควรมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับขนาดของต้นตอ ลิดใบออกให้เหลือใบไว้ 2-3 ใบรวม มีใบย่อย 2-3 คู่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมใน การเสียบยอดคือ ช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูฝนขั้นตอนการเสียบกิ่งใช้วิธีการแบบเสียบลิ่มซึ่งได้ผลถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์
- ตัดยอดต้นตอสูงจากพื้น 3-4 นิ้ว ผ่าต้นตอให้ยาวประมาณ 1 นิ้ว
- เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม ยาวประมาณ 1 นิ้ว
- เผยอรอยผ่าบนต้นตอแล้วสอดโคนกิ่งพันธุ์ดีจัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน
- พันด้วยผ่าพลาสติก จากนั้นนําไปใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่นนําไปเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 40-50 วัน จึงเปิดถุง
- นําออกจากถุง เลี้ยงไว้อีก 2 เดือน จึงนําลงแปลงปลูก
2. การตอนกิ่ง
การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่ที่ขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้จํานวนต้นในปริมาณที่มากนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้
- การเลือกต้นพันธุ์ควรเลือกตอนกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลดี ข้อสําคัญต้นพันธุ์ต้องปราศจากโรคโดยเฉพาะโรคพุ่มไม้กวาด
- เลือกกิ่งที่ตั้งตรง แต่ถ้าเป็นกิ่งนอนก็ใช้ได้ แต่การเกิดรากจะเกิดเฉพาะด้านล่างขนาดความยาวของกิ่งยาวประมาณ 75-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร
- ใช้มีดควั่นกิ่งเป็น 2 รอย หรืออาจจะควั่นรอยเดียวจากนั้นให้ใช้คีมปากจิ้งจกบิดโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้มีดกรีดเปลือก ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญจะถูกขูดออกมาด้วย การใช้คีมบิดจะทําให้เกิดความรวดเร็ว
- หุ้มด้วยดินเหนียว และกาบมะพร้าว และผ่าพลาสติก มัดกระเปราะหัวท้ายด้วยเชือกฟางหรือตอก (หรือหุ้มรอยควั่นด้วยถุงขุยมะพร้าว)
- ประมาณ 30 วัน รากจะเริ่มออกเมื่อเห็นรากมีสีขาวและมีปริมาณมากจึงค่อยตัดมาชํา ในการตอนกิ่งเพื่อการค้า มักจะเริ่มทําในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกิ่งตอนชุดนี้จะสามารถนําไปปลูกได้ในกลางๆ ฤดูฝนของปีเดียวกัน
การชํากิ่งตอนลําไย มีขั้นตอนดังนี้
- เลือกกิ่งที่มีรากสีขาว ลังเกตว่ามีปริมาณรากมากพอสมควรจึงทําการตัดกิ่งตอนลงชําควรลิดกิ่งและใบบางส่วนออกเพื่อลดการคายน้ำ
- แกะพลาสติกที่หุ้มกระเปราะออก ควรทําด้วยความระมัดระวังเพราะจะทําให้รากขาดได้
- นํากิ่งตอนลงชําในภาชนะที่บรรจุวัสดุชำ (ชาวสวนมักใช้ตะกร้าไม้ไผ่สาน หรือที่เรียกกันทางเหนือว่า “เป๊าะ”) วัสดุชำประกอบด้วยดินผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:1 วางกิ่งให้ตรง กดดินให้แน่นนํากิ่งที่ชาเสร็จแล้ว ไปเก็บไว้ในที่ร่ม ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนําไปปลูกในแปลงได้
อย่างไรก็ตามวิธีการใช้ตะกร้าไม้ไผ่สานเป็นภาชนะปลูกมีข้อเสียคือ ปลวกมักจะเข้าทําลายกัดกินไม่ทําให้ผุง่าย และเมื่อเก็บกิ่งตอนลําไยทิ้งไว้นาน ๆ จะมีรากโผล่ออกจากภาชนะ เมื่อโดนแสงแดดรากอาจได้รับอันตราย มีวิธีการหลีกเลี่ยงปัญหานี้ในกรณีที่เก็บกิ่ง ตอนไว้นาน ๆ ควรใช้ถุง พลาสติกสีดำขนาด 8×10 นิ้ว เป็นภาชนะชํากิ่ง
3. การทาบกิ่ง
การเตรียมต้นตอ
เลือกต้นตออายุประมาณ 1-2 ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4-1.0 เซนติเมตร นําต้นตอมาล้างราก และตัดรากบางส่วนออก นําไปจุ่ม ในสารเร่งราก IBA ความเข้มข้น 8,000-10,000 ส่วนต่อล้าน นาน 5 วินาที (อาจใช้เซราดิกซ์ เบอร์ 3) หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสขนาด 4×6 นิ้ว พบว่ากิ่งทาบออกรากได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กิ่งไม่ได้ใช้สารออกรากเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้มีการทดลองใช้ NAA ความเข้มข้น 2,000 ส่วนต่อล้าน สามารถชักนําให้กิ่งทาบ เกิดรากได้ถึง 92 เปอร์เซ็นต์
การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
เลือกกิ่งกระโดงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับต้นตอความยาวประมาณ 20 นิ้วควรเป็นกิ่งที่ได้รับแสงแดด
ขั้นตอนการทาบกิ่ง
- การเตรียมรอยแผลของต้นตอ โดยเฉือนแผลของต้นตอเป็นรูปลิ่มให้มีความยาวทั้งสองด้านประมาณ 1 นิ้ว
- การเตรียมรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดีเฉือนเฉียงขึ้นให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อยยาวประมาณ 1 นิ้ว
- นํารอยแผลของต้นตอประกบกับรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน
- พันด้วยพลาสติกให้แน่น ประมาณ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดราก
การตัดกิ่งทาบชําลงถุง
หลังจากทาบกิ่งได้ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดรากโดยสังเกตว่ารากที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากค่อยตัดกิ่งมาชําลงถุง ก่อนชําควรริดใบออกบ้างเพื่อลดการคายนํ้า จากนั้นแกะถุงพลาสติกที่หุ้มต้นตอออกควรทําด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน นํากิ่งทาบชําลงในถุงพลาสติก โดยใช้วัสดุชำ คือขี้เถ้าแกลบ:ดิน:ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:2:1 นํากิ่งที่ชำเก็บไว้ในที่ร่ม รำไร ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อกิ่งทาบตั้งตัวได้ดี ค่อยนําไปปลูกในแปลง โดยให้รอยต่อของกิ่ง ทาบอยู่เหนือวัสดุปลูก
4. การเสริมราก
การเสริมรากก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะได้ระบบรากแก้ว ซึ่ง อาจจะได้ระบบรากแก้ว 2-3 รากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจํานวนของต้นตอที่จะนําไปเสริมราก
วิธีการเสริมราก
- นํากิ่งตอนพันธุ์ดีลงปลูกในแปลงนําต้นที่ได้จากการเพาะ เมล็ดที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.0 เซนติเมตร ไปปลูกรอบๆ ต้นของกิ่งตอนอาจใช้ 2-3 ต้น เพื่อเสริม 2-3 ราก
- การเตรียมรอยแผลของต้นรากและกิ่งตอน ใช้วิธีแบบฝานบวบ คือ เฉือนกิ่งตอนเป็นรูปโล่ยาวประมาณ1.5 นิ้ว จำนวนรอยแผลเท่ากับจำนวนของต้นราก เฉือนแผลต้นตอเฉือนเป็นรูปโล่ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ที่คัญอย่าเพิ่ง ตัดยอดของต้นรากจนกว่ารอยแผลจะเชื่อมกัน
- นํารอยแผลของต้นรากและกิ่ง ตอนมาประกบกัน โดยโน้มต้นรากเข้ามาประกบกับรอยแผลของกิ่งตอนจัดเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน พันด้วยเชือกฟางหรือผ่าพลาสติกพันให้แน่น
- ประมาณ 45 วัน เมื่อรอยแผลเชื่อมติดกันสนิทให้ตัดยอดต้นรากที่อยู่เหนือรอยแผลออก วิธีการขยายพันธุ์ดังกล่าวนี้ในอนาคตน่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการทําจึงจะประสบผลสําเร็จ
ราคาขายลำไย
- ลำไยกะโหลก (ใหญ่) ราคากิโลกรัมละ 35 บาท / กลาง ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / เล็ก ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ราคา ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564
- ลำไยสีชมพู (ใหญ่) ราคากิโลกรัมละ 35 บาท / กลาง ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / เล็ก ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ราคา ณ วันที่ 11 กันยายน 2564
- ลำไยอีดอ (ใหญ่) ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / กลาง ราคากิโลกรัมละ 20 บาท / เล็ก ราคากิโลกรัมละ 15 บาท ราคา ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565
- ลำไยพวงทอง (ใหญ่) ราคากิโลกรัมละ 50 บาท / กลาง ราคากิโลกรัมละ 30 บาท / เล็ก ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ราคา ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
www.eto.ku.ac.th, www.oer.kku.ac.th, www.researchex.mju.ac.th, www.simummuangmarket.com, www.youtube.com, www.flickr.com