กล้วย
การนำกล้วยมาใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรที่มีลักษณะเหลือง สุก หรือห่าม มีผลต่อประโยชน์ในการรักษาแตกต่างกัน ผลดิบ รักษาอาการแน่นจุกเสียดและอาการท้องเสีย เพราะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ สารแทนนินที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้ สารสิโตอินโดไซด์ (sitoindoside ชนิด I, II, III, IV และ V) และยังมีสารลิวโคไซยานิดินส์ (leucocyanidins) ที่มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร วิธีปรุงยา ใช้ผลกล้วยดิบหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งและบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ปริมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานแก้ท้องเสีย มีรายงานทางเภสัชวิทยาว่ากล้วยออกฤทธิ์ป้องกัน รักษาอาการท้องเสีย และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่ต้องระมัดระวังการใช้ผลกล้วยดิบเป็นยาในระยะเวลายาวนาน อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งยังไม่มีผู้ศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันมีรายงานอาการแพ้จากยางกล้วย และสารเอมีนในกล้วยอาจทำให้เกิดอาการไมเกรน ดังนั้นไม่ควรกินกล้วยดิบต่อเนื่องนาน ๆ หากกินแก้อาการโรคดีขึ้นแล้ว ควรหยุดยา
กล้วยในตำรายาพื้นบ้าน ในหนังสือคู่มือหลักเภสัชกรรมของการแพทย์พื้นบ้านล้านนาจากพับสา/ใบลาน กล่าวถึงการใช้ ใบตองกล้วยตีบ ในการเตรียม ยาหลาม เป็นยาที่อาศัยความร้อนในการสกัดยาที่บรรจุในกระบอกไม้ วิธีปรุงเอาสมุนไพรใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไม้ซาง โดยใช้ด้านล่างของกระบอกกลับขึ้นเป็นด้านบนหรือเป็นปากกระบอก ใส่สมุนไพรลงไปหลาม ปิดปากกระบอกด้วยใบตองกล้วยตีบ
ตัวอย่าง “ตำรายาหลาม” ใน คัมภีร์มหาตำรายาเภสัช ฉบับเพชรรัตน์สุวรรณล้านนาไทย แก้ไข้รั้ง ไข้เรื้อ เป็นไข้ป้าง หื้อเอารากหญ้าผากควาย 3 ราก รากขัดมอน ใส่บอกไม้ไผ่หลามทางปิ้น (ใส่กลับกัน) เอาตองก้วยตีบตึดปากบอกไม้หลาม (เอาใบตองกล้วยตีบปิดปากกระบอกไม่ให้รั่ว) หื้ออว่ายขึ้นปากบอก (กลับปลายกระบอกขึ้นเป็นปากกระบอกแทน) กิน 1 ที 2 ที บ่หาย 3 ที หายแล”
นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยใบตองกล้วยตีบ เช่น ใน ตำราน้อยเส่ง ไชยพล บ้านป่าเมี้ยง แม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ให้ผู้ป่วย นั่งนอนบนใบตองกล้วยตีบแล้วทายาที่ตำไว้ เช่น ในโรคมะเร็งสะทีก คือ “แรกขึ้นมันเจ็บหัว หื้อ (ให้) เจ็บหัว เจ็บตน ไข้ 7วัน และเป็นขางขาวตัวผู้ เป็นขางซายตัวเมีย เอาทองทั้ง 2 กุ่มทั้ง 2 ปิว (เจตมูลเพลิงแดง และ เจตมูลเพลิงขาว) หอมเทียม (กระเทียม) หอมบั่วแดง (หอมแดง) ใบหมากนาว (ใบมะนาว) ตำห่อผ้า 3 ชั้น ตั้งปากหม้อนึ่งปะคบยา 3 ชั้น แล้วหื้อตั้งขันข้าวคุปี (ทุกปี) เทอะ หากบ่อยู่ (ถ้าเอาไม่อยู่) เอาดิน 3 ซีก (2.83 กรัม) เข้าเบง รากงิ้ว รากเดื่อ ตำเป็นน้ำแล้วจิ่งเอาตองก้วยตีบรอง 3 ชั้น แล้วหื้อนั่งนอน จิ่งทายาหาย” และการรักษาอาการ ลงท้อง เช่น เอาทันขอ เปลือกกอก กล้วยตีบ มาปิ้งไฟแช่น้ำกินหายฯ
ในตำรายาแก้ไข้เด็กของทางล้านนา ในยาจากน้ำกล้วยตีบ บางกรณีให้ใช้ หน่อกล้วยตีบลนไฟ หรือหมกไฟ บีบเอาน้ำมาใช้ ในตำรับยาในใบลานบางฉบับ มักใช้ ลักแลนกล้วยตีบหรือใบตองกล้วยตีบที่แห้งคาต้น นำมาเข้ายา หรือผสมในลูกประคบ และยาอบ กล้วยตีบ จัดเป็นยาเย็น เหมือนสมุนไพร ผักเข้า(ฟักข้าว) ผักตำลึง จึงนำมาเข้ายาแก้พิษ ถอนพิษร้อนต่างๆ
ต้นกล้วย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ออกลูกเก็บผลแล้วต้นจะแห้งตาย ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์จำกัด แต่ในความจริงต้นกล้วยมีประโยชน์ให้ต้นไม้อื่นได้อาศัยร่มเงาให้ไม้อื่นได้เติบโต เหมือนไม้พี่เลี้ยงให้ต้นไม้ข้าง ๆ ก่อนที่มันจะถูกตัดทิ้งไป ปลูกกล้วยแล้วนำความชุ่มชื้นให้กับพื้นดินรอบ ๆ พื้นดินใครยังว่าง ๆ จะแปลงมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็ไม่ว่ากัน ปลูกกันมาก ๆล่ะกัน แค่ดูแลระยะแรกจากนั้นปล่อยให้โตเองได้นะค่ะ
สามารถติดตามความรู้ ข่าวสาร การเกษตรและความรู้เกี่ยวกับเรื่องกล้วย ได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http:// www.thaihof.org
https://www.flickr.com