การปลูกต้นกุหลาบให้สวย ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ต้นกุหลาบ

กุหลาบ เป็นดอกไม้สวยงาม อยู่ในวงศ์ Rosaceae หรือเรียกกันว่า วงศ์กุหลาบ เป็นพืชที่โดดเด่นและนิยมปลูกกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง รวมทั้งเป็นดอกไม้ที่สามารถทำรายได้สูงในตลาดการค้าดอกไม้ของแต่ละประเทศทั่วโลก

กุหลาบได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นราชินีของดอกไม้ Queen of flower นอกจากกุหลาบแล้ว พืชในวงศ์นี้ที่เราคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดียังมีอีกหลายชนิด เช่น บ๊วย พรุน อัลมอนด์ ท้อ สาลี่ แอปเปิล สตรอเบอรี่ แบล็คเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแอพริคอต จึงนับได้ว่าพืชในวงศ์กุหลาบมีความใกล้ชิดและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์รวมทั้งสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าโลกเป็นอย่างมาก

กุหลาบสีชมพู
กุหลาบสีชมพู ดอกเป็นกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้น

การขยายพันธุ์ของกุหลาบ

การขยายพันธุ์กุหลาบ สามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น วิธีเพาะเมล็ด วิธีตอน วิธีติดตา และวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช วิธีสุดท้ายเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการขยายพันธุ์พืชกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับอีกหลายชนิด

สำหรับการขยายพันธุ์กุหลาบด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้มีการดำเนินการมานานแล้วแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่ทำกันในแวดวงวิชาการ เช่น การผลิตกุหลาบเพื่อให้เกิดดอกในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการผลิตเป็นต้นพันธุ์ขนาดเล็ก แล้วนำมาปลูกเป็นกุหลาบจิ๋ว หรือเบบี้โรส (Baby rose) เพื่อใช้เป็นของฝากของที่ระลึกระหว่างกัน ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานทางด้านวิชาการและระบบธุรกิจการค้ากุหลาบหลายประการ ซึ่งพอยกเป็นตัวอย่างได้อย่างน้อย 2 ประการดังนี้

  1. ประโยชน์ทางด้านการเก็บรักษาพันธุกรรมกุหลาบ
    สายพันธุ์กุหลาบที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์อาจเกิดการสูญหายไปตามกาลเวลา หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในแต่ละภูมิภาคของโลก พันธุกรรมกุหลาบมีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์มากมายหลายประการ เช่น ประโยชน์ในวงการธุรกิจการค้ากุหลาบตัดดอกหรือกุหลาบกระถาง หรือประโยชน์ในวงการธุรกิจน้ำหอมกลิ่นกุหลาบดังนั้น หากเราสามารถเก็บรักษาพันธุกรรมกุหลาบไว้มิให้สูญหาย โดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่สามารถเก็บรักษาพันธุ์กุหลาบแต่ละสายพันธุ์ไว้ในสภาพปลอดเชื้อได้ยาวนาน รวมทั้งยังสามารถนำกลับมาปลูกใหม่ในธรรมชาติเมื่อต้องการ ทำให้มั่นใจได้ว่าพันธุกรรมกุหลาบเหล่านั้นจะไม่เกิดการสูญหาย ประโยชน์อีกประการหนึ่งก็คือ สามารถทำให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกุหลาบสำคัญๆ ระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ประโยชน์ทางด้านการขยายพันธุ์กุหลาบ
    การผลิตต้นพันธุ์กุหลาบด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถผลิตต้นพันธุ์จำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว ใช้แรงงานและพื้นที่ในการปฏิบัติงานไม่มาก สามารถปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ไม่มีอิทธิพลของฤดูกาลหรือศัตรูพืชเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบการผลิต ต้นพันธุ์ที่ผลิตได้มีความแข็งแรงสม่ำเสมอ สะดวกต่อการขนส่ง ตอบสนองต่อระบบธุรกิจการค้าปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วแม่นยำสูง

ขั้นตอน และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบ

กุหลาบทุกสายพันธุ์สามารถนำมาทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ พันธุ์กุหลาบส่วนใหญ่ตอบสนองต่อวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ดี แต่ก็อาจมีกุหลาบบางกลุ่มบางสายพันธุ์ที่จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มเติมเป็นวิธีการเฉพาะ

บทความนี้ขอกล่าวเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบหนู (miniature rose) เพื่อใช้สำหรับผลิตเป็นกุหลาบขนาดเล็กที่เรียกกันว่ากุหลาบจิ๋ว หรือเบบี้โรส (Baby rose) ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พอสรุปได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การคัดเลือกพันธุ์กุหลาบ
    กุหลาบหนูแต่ละสายพันธุ์ มีขนาดดอกไม่เท่ากัน เราจะคัดเลือกกุหลาบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกไม่เกิน 2 เซนติเมตร เลือกสายพันธุ์ที่เกิดดอกง่าย บานทน ไม่อ่อนแอต่อเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกุหลาบที่สําคัญ สำหรับชิ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อนํามาทําการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ให้เลือกกิ่งกุหลาบที่มีอายุน้อยและดอกยังไม่บาน (หรือบานแต่ดอกยังไม่โรย) นำมาตัดเป็นข้อสั้นๆ ให้มีตาติด 1 ตา ต่อข้อ จากนั้นจึงนำมาฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่อไป
  2. ขั้นตอนการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
    นำชิ้นส่วนกุหลาบมาฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (คลอร๊อกซ์) ความเข้มข้น 10% เป็นเวลานาน 10 นาที จากนั้นจึงล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว 3 ครั้ง นำชิ้นส่วนกุหลาบแต่ละข้อไปวางบนอาหารเพาะเลี้ยงสูตรเพิ่มปริมาณ (ฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์คือฤดูหนาวและฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าฤดูอื่นๆ)
  3. ขั้นตอนการเพิ่มปริมาณ
    ชิ้นส่วนข้อกุหลาบที่วางบนอาหารสูตรเพิ่มปริมาณ สามารถพัฒนาเกิดเป็นปลายยอดใหม่ได้ภายในเวลาประมาณ 15-20 วัน โดยมีอัตราการเพิ่มปริมาณยอดใหม่ ประมาณ 3-5 เท่า ต่อรอการเปลี่ยนอาหารทุกๆ 30 วัน อาหารสูตรที่เหมาะสมคืออาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) โดยใช้สารที่ชื่อ BA ระดับความเข้มข้น 1-2 มิลลิกรัม ต่อลิตรสารตัวนี้มีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์และการเกิดยอดกุหลาบเพิ่มขึ้น แต่มีข้อควรระวังในการใช้สาร BA คือหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ยอดกุหลาบเกิดอาการฉ่ำน้ำ (มีลักษณะบวมใส) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สามารถเพิ่มปริมาณยอดหรือรากได้ ชิ้นส่วนที่ฉ่ำน้ำจะต้องถูกคัดทิ้งในทุกๆ รอบของการเปลี่ยนอาหารใหม่
  4. ขั้นตอนการชักนำให้เกิดราก
    เมื่อได้ปริมาณยอดกุหลาบเพียงพอต่อความต้องการแล้ว เราจะนำแต่ละยอดมาทำการเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรชักนำให้เกิดราก โดยใช้อาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มออกซิน (auxin) โดยใช้สารตัวที่ชื่อว่า NAA ที่ระดับความเข้มข้น ประมาณ 0.1 มิลลิกรัม ต่อลิตร สารตัวนี้มีอิทธิพลชักนำให้เกิดการพัฒนาของระบบรากที่สมบูรณ์พร้อมนำต้นกุหลาบไปอนุบาลได้ภายในระยะเวลา ประมาณ 30 ถึง 45 วัน
  5. ขั้นตอนการอนุบาล
    นำต้นกุหลาบที่มีระบบรากสมบูรณ์มาล้างวุ้นในน้ำสะอาดเบาๆ จากนั้นจึงนำไปแช่ในสารป้องกันเชื้อราและนำไปอนุบาลในวัสดุเพาะชำ เช่น ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 ต่อ 1 สภาพแสงรำไร ให้น้ำแบบชื้นแต่ไม่แฉะ เป็นเวลาประมาณ 30 วัน กุหลาบจะมีความแข็งแรงเพียงพอต่อการนำไปปลูกและเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ต่อไป
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบในขวด

การใช้ประโยชน์จากต้นพันธุ์กุหลาบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ต้นพันธุ์กุหลาบที่ผลิตจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์เดิมทุกประการ ดังนั้น การปลูกและดูแลรักษาในขณะปลูกเลี้ยงจึงไม่มีความแตกต่างกัน ต้นพันธุ์กุหลาบมาใช้ประโยชน์ คือเพื่อใช้ปลูกเป็นกุหลาบจิ๋ว หรือเบบี้โรส  ต้นพันธุ์กุหลาบหนูที่ผลิตจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะมีความสูง ประมาณ 3-4 เซนติเมตร และเมื่อผ่านขั้นตอนการอนุบาลสามารถนำมาปลูกในภาชนะ เช่น กระถางขนาดประมาณ 2-3 นิ้ว นานประมาณ 60 วัน โดยจะผ่านการตัดแต่งกิ่ง 2-3 ครั้ง มีผลให้เกิดยอดใหม่ 3-5 ยอด พร้อมดอกที่สวยงาม 3-5 ดอก (การตัดแต่งกิ่งกุหลาบแต่ละครั้งจะเป็นการเพิ่มจํานวนยอดและดอกใหม่) เมื่อกุหลาบได้รับการดูแลและจัดการสภาพแวดล้อม เช่น ได้รับแสง อุณหภูมิ และความชื้นอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถเจริญเติบโตออกดอกสวยงามอยู่ในภาชนะปลูกเดิมได้เป็นเวลานานหลายปี

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.opsmoac.go.th
https://www.royalparkrajapruek.org
https://www.flickr.com

Add a Comment