การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น

กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

กล้วย เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่ายสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่และปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย กล้วยเป็น พืชที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของคนไทยมานาน  เกษตรตำบลจึงอยากแนะนำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและส่งเสริมเกษตรกรหรือผู้ที่มีความสนใจ ที่มีความต้องการปลูกกล้วยพันธุ์ดี มีความต้านทานโรค รสชาติดีและที่สำคัญสามารถ ให้ผลผลิตได้อย่างพร้อมเพรียงกันมาฝากกันค่ะ

ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นวิธีที่ขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น จากหน่อที่สมบูรณ์ 1 หน่อ อาจขยายได้ถึง 10,000 ต้น ในเวลา 1 ปี ถ้าหากมีการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการส่งออก เพราะว่าการส่งออกต้องการจำนวนต้นปลูกที่มีขนาดสม่ำเสมอ ปลูกพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลได้พร้อมๆ กัน

1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย

เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เทคโนโลยีทางชีวภาพที่มีการนำมาใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้มีปริมาณมากๆ ได้พืชพันธุ์ดีที่ปลอดโรคและให้ผลผลิตสูงก็คือเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่งที่ใช้ชิ้นวนของพืช เช่น ลำต้น ตายอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ เป็นต้น มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ภายใต้สภาพที่ควบคุมเรื่อง ความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง เมื่อชิ้นส่วนนั้นเจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์ มีทั้งส่วนใบ ลำต้นและรากที่ สามารถนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้

ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  1. สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  2. ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค
  3. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่คือ มีลักษณะตรงตาม พันธุ์ด้วยการใช้เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชให้พัฒนาเป็นต้นโดยตรง
  4. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ จึงให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  1. คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะดี แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลง ลูกโตให้หวีต่อเครือมาก
  2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
  3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
  4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10-15 นาที
  5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
  6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
  7. หลังจากนั้นจึงเขียนรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี รหัส แล้วนำไปพักในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของกล้วย

สูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย

สูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย
ตารางสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย

2. การอนุบาลกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ต้นกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะมีรูปร่างทรงต้นปกติในสภาพธรรมชาติ เพียงแต่มีขนาดเล็กโดยเฉลี่ยควรจะ มีความสูงประมาณ 4-8 ซม. มีใบไม่ต่ำกว่า 4 ใบ จำนวนรากไม่ต่ำกว่า 4 เส้น ความยาวรากอยู่ระหว่าง 3-5 ซม. เมื่อนำออก จากขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเปรียบเสมือนการดูแลเด็กอ่อน ต้นพืชยังมีการสร้างคิวติน (cutin) ทำหน้าที่ควบคุมการสูญเสียน้ำจากใบน้อย ในขณะที่ปากใบยังเปิดกว้าง เมื่อออกสัมผัสกับอากาศที่มีสภาพแวดล้อม ทั้ง แสงอุณหภูมิ ความชื่นไม่สม่ำเสมอตลอดเวลา พืชจะคายน้ำมากขึ้นทำให้เหี่ยวเฉาและตายได้ง่าย ดังนั้นการย้ายพืชเนื้อเยื่อ จากอาหารวุ้น เพื่อปลูกในสภาพธรรมชาติ ต้องระมัดระวังเรื่องอัตราการสูญเสียน้ำของพืชเป็นพิเศษ ควรให้ความสมดุลระหว่าง อัตราการสูญเสียน้ำกับอัตราการดูดน้ำขึ้นมาใช้ให้มากที่สุดจึงจะสามารถทำให้ต้นพืชรอดชีวิตอยู่ได้จึงแบ่งช่วงเวลาการดูแลพันธุ์ พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เพิ่งนำออกมาปลูกออกเป็น 3 ระยะ คือ

การอนุบาลระยะที่ 1 เป็นระยะที่ต้นพืชต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสงให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนั้นๆ เป็นช่วงเวลาการดูแลไม่ต่ำกว่า 30 วัน ตั้งแต่ย้ายปลูก

การอนุบาลระยะที่ 2 เป็นการดูแลต่อจากระยะที่ 1 อีก 30-45 วัน ระยะนี้พืชจะมีความแข็งแรงและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น เมื่อผ่านการอนุบาลระยะที่ 2 แล้ว รวมทั้งสิ้นประมาณ 60-75 วัน ต้นพันธุ์พืชนั้น ๆ (บางชนิด) จะสามารถย้ายปลูกในสภาพปลูกเลี้ยงปกติได้

การอนุบาลระยะที่ 3 เป็นการดูแลในสภาพโรงเรือนเปิดเพื่อปรับสภาพให้ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่จะนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติ การอนุบาลพันธุ์พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตลอดระยะเวลา 60-75 วัน เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญที่ควบคู่ไปกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือจัดเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของกระบวนการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อพืชมีพืชหลายชนิดที่สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ แต่ไม่สามารถหารูปแบบวิธีการอนุบาลพันธุ์พืชนั้นให้มีชีวิต รอดจนนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้ ก็จะไม่จัดพืชชนิดนั้นเข้าอยู่ในลำดับชนิดพืชที่สามารถนำมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเลี้ยงเนื้อในเชิงการค้า ดังนั้นการศึกษาหาแนวทางการผลิตพันธุ์พืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในเชิงเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม ต้องควบคู่ไปกับนำพืชออกปลูกในสภาพธรรมชาติด้วยเสมอ

การเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเลี้ยงเนื้อเยื่อในขวด

ขั้นตอนการนำพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกปลูก

ก่อนเข้าถึงขั้นตอนการดูแลหรืออนุบาลพืชเนื้อเยื่อระยะต่างๆ ควรมีการปรับสภาพให้เริ่มเรียนรู้และค่อยๆ ปรับตัว อยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติได้ โดยเพิ่มความเข้มแสง ลดความชื้นในภาชนะลง อาจใช้วิธีนำขวดเนื้อเยื่อพืชออกมาวาง ในสภาพอุณหภูมิห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกแต่ไม่ควรให้เนื้อเยื่อพืชได้รับแสงแดดโดยตรงในระยะเวลา 2-3 วันแรก ตามลำดับ ดังนี้

  1. ปรับสภาพเนื้อเยื่อพืช 2-3 วัน ก่อนปลูกในสภาพอุณหภูมิห้องปกติที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  2. นำพืชออกจากภาชนะที่ได้จากการเพาะเลี้ยงด้วยฟอร์เซบหรือปากคีบ
  3. ล้างอาหารวุ้นที่ติดอยู่บริเวณรากออกให้หมดด้วยน้ำสะอาด
  4. นำต้นพืชแช่ในสารป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย เป็นเวลา 3-5 นาที ก่อนปลูก เพื่อป้องกันโรคต้นเน่าเนื่องจาก พืชยังอ่อนแอต่อการทำลายของเชื้อโรค
การแยกต้นกล้วย
แยกต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงออกจากกัน

ขั้นตอนการย้ายเนื้อเยื่อออกปลูกในระยะอนุบาล

  1. ทำหลุมเล็กๆ ในวัสดุปลูกภายในถาดหลุม
  2. ใช้ปากคีบจับโคนต้นพืช นำลงปลูก
  3. กลบวัสดุปลูกให้มิดรากหรือมิดโคนต้นพอดี เพราะถ้ารากโผล่พ้นวัสดุปลูกสัมผัสกับอากาศ อาจทำให้รากและ ต้นพืชเหี่ยวได้
การคีบต้นอ่อน
การคีบต้นกล้วยนำปลูกลงหลุม

การดูแลต้นพืชในระยะอนุบาล 1

  1. อุณหภูมิ ปรับสภาพภายในโรงเรือนให้มีระดับอุณหภูมิประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส
  2. ความเข้มแสง ความเข้มแสงไม่เกิน 60% เพราะพืชยังมีขนาดเล็ก
  3. ความชื้นสัมพัทธ์ในช่วง 30 วันแรกของการย้ายปลูกควรรักษาความชื้นภายในโรงเรือนไว้ที่ 85-90%
  4. การให้น้ำ หลังจากปลูกต้นเนื้อเยื่อ 2-3 วันแรก ไม่ต้องให้น้ำอีกจนกว่าวัสดุจะแห้ง เพราะในโรงเรือน มี ความชื้นสูง 85-90%
  5. การให้ปุ๋ย วัสดุปลูกที่ใช้ในระยะอนุบาล 1 จะเน้นเรื่องคุณสมบัติของการระบายน้ำที่ดี นิยมใช้ทรายผสมขี้เถ้า แกลบ ซึ่งวัสดุดังกล่าวมีธาตุอาหารน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะให้ปุ๋ยเสริมทางใบโดยเฉพาะธาตุ ไนโตรเจน เพื่อการเจริญเติบโตทางลำต้นความเข้มของปุ๋ย ใช้เพียง 1/4 หรือ 1/2 ของการแนะนำ

การดูแลต้นพืชในระยะอนุบาล 2

เป็นการดูแลรักษาต้นพืชที่ย้ายปลูกต่อจากระยะที่ 1 เป็นเวลา 30 -45 วัน การดูแลรักษาและควบคุม สภาพแวดล้อมไม่เข้มข้นเท่าอนุบาล 1 เนื่องจากพืชมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ธาตุอาหารจำเป็นต้องให้เพิ่มขึ้น นิยมปลูกในถุงพลาสติก ในพืชบางชนิดหลังจากอนุบาลในระยะนี้แล้วก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้เลยเช่น หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น การดูแลพืชในระยะอนุบาล 3

ต้นพืชจากโรงเรือนอนุบาล 2 ซึ่งกำลังเจริญเติบโตจะถูกย้ายไปที่โรงเรือนอนุบาล 3 ซึ่งมีการควบคุมสภาพไม่เข้มงวดมาก คือ ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และจะย้ายเปลี่ยนพืชลงภาชนะปลูกใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้เหมาะสม กับระยะเติบโตของพืช เช่น ถุงพลาสติกหรือกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ต้นพืชจะอยู่ในโรงเรือนอนุบาล 3 ประมาณ 30-45 วัน เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่จะนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติ

ต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเตรียมต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลงปลูก

3. การปลูกกล้วย

ข้อควรปฏิบัติในการเลือกพื้นที่ปลูก

พื้นที่ปลูกสามารถให้น้ำได้อย่างพอพียง น้ำไม่ท่วมขังและสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว

การขยายพันธุ์กล้วยที่นิยม คือ

  1. การแยกหน่อ โดยการขุดแยกหน่อที่แทงจากต้นแม่ขึ้นมาขยายพันธุ์ต่อ
  2. การผ่าหน่อ โดยการขุดหน่อที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน นำมาผ่าออกเป็น 4-6 ชิ้นต่อหน่อแล้วนำมาเพาะในวัสดุเพาะชำ
  3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการขยายพันธุ์ที่สามารถทำให้ได้ต้นกล้าจำนวนมาก การคัดเลือกต้นพันธุ์เพื่อการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อควรมีลักษณะที่ดี แข็งแรง ต้านทานโรคแมลงรบกวน ลูกโต จำนวนหวีต่อเครือมาก เพื่อให้ได้ ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดีตามต้องการและจำนวนมากคุ้มค่าต่อการลงทุนโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน นับตั้งแต่นำหน่อเข้าห้องปฏิบัติการ เมื่อได้ต้นกล้าตามจำนวนที่ต้องการแล้ว จึงนำออกมาอนุบาลภายในโรงเรือน ประมาณ 60 วัน จึงนำออกมา

การปลูกและการดูแลรักษา

  1. ควรเตรียมหลุมปลูก กว้างxยาวxลึก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น
  2. ระยะการปลูก กล้วยน้ำว้าใช้ระยะ 3×3 เมตร จะปลูกได้ 200 ต้นต่อไร่ แต่กล้วยหอมทองใช้ระยะ 2×2 เมตร ปลูกได้ 400 ต้นต่อไร่
  3. การให้น้ำในระยะแรกควรให้น้ำวันเว้นวัน หลังจากกล้วยสามารถตั้งตัวได้แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  4. การใส่ปุ๋ย ในระยะแรกนิยมใช่ปุ๋ยคอกและหลังจากการปลูกได้ 2 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 60 กรัมต่อต้น ทุกเดือนหลังจากกล้วยออกปลีแล้ว จะใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 500 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังจากครั้งแรก 1 เดือน
  5. การกำจัดวัชพืช สามารถกำจัดได้หลายวิธี คือ
    – วิธีกล ได้แก่การถอน ตายหรือการถากด้วยจอบ ควรทำการกำจัดก่อนที่วัชพืชจะออกดอก
    – วิธีเขตกรรม โดยการปลูกพืชแซมที่มีระบบรากตื้นและสามารถ ใช้ลำต้นเป็นปุ๋ยได้ เช่นพืชตระกูลถั่ว
    – ใช้วิธีคลุมดินโดยคลุมหน้าดินด้วยใบกล้วยหลังการตัดแต่งใบ ใช้ฟางข้าวคลุมตั้งแต่เริ่มปลูก
  6. การตัดแต่งหน่อ หลังจากการปลูกกล้วยได้ 3-4 เดือนให้ตัดหน่อทิ้งจนกว่ากล้วยจะเริ่มออกปลีหลังจากกล้วยมี อายุ 7 เดือน จึงเริ่มไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกัน 4 เดือน เพื่อให้ผล กล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกหน่อที่อยู่ตรงข้ามกัน หากหน่อที่ตัดมีขนาดใหญ่มาก ให้ใช้วิธีการทำลายโดยหยอดน้ำมันก๊าดลงบนหยอดประมาณ 1/2 ช้อนชา
  7. การตัดแต่งใบจะเริ่มตัดแต่งใบ ในช่วงกล้วยอายุประมาณ 5 เดือน หลังจากการปลูกโดยเลือก ตัดใบที่แก่เป็นโรค ออกให้เหลือ 9-12 ใบ/ต้น
  8. การตัดปลี ให้ทำการตัดปลีกล้วยทิ้งหลังจากปลีบานต่อไป จนหวีตีนเต่าอีก 2 ชั้น เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
  9. การค้ำกล้วย นิยมค้ำในกล้วยหอมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการหักกลางลำต้น หลังจากการตกเครือ ควรค้ำบริเวณเครือหรือใช้ไม้ดามลำต้นโดยตรง
สวนกล้วยน้ำว้า
การปลูกกล้วย ควรเว้นระยะให้เหมาะสาม คือ 4×4 เมตร

โรคและแมลง

  1. โรคตายพราย เกิดจากการเชื้อรา มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบ ล่างหรือใบแก่ก่อนตามมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง ป้องกันกำจัดโดยตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาหรือก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  2. ด้วงงวงไชเหง้า ระยะตัวหนอนจะกัดกินชอนไชอยู่ในเหง้ากล้วย พบการทำลายทุกระยะตั้งแต่หนอถึงต้นแก่ จะทำให้กล้วยตายได้ ป้องกันกำจัดโดยทำความสะอาดสวน โดยเฉพาะโคนกล้วยอย่ามีชิ้นส่วนของต้นพืชเน่าเปื่อย และก่อนที่จะนำหน่อเพื่อมาปลูกควรแช่น้ำยาฆ่าแมลง 1 คืนต่อน้ำ 50 ส่วนก่อนปลูกหรือฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย และน้ำส้มควันไม้เป็นประจำ
  3. เพลี้ยหอย จะเข้าทำลายในช่วงออกเครือจะจับตามผลกล้วยและเกิดราดำ การป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วย น้ำส้มควันไม้ เดือนละ 1 ครั้ง
โรคตายพรายของกล้วย ผลกระทบของโรคกล้วย
โรคตายพรายของกล้วย ใบเหลืองแห้ง

การเก็บเกี่ยว

กล้วยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากการตัดปลีแล้ว 3-4 เดือน หรือผลแก่เต็มที่ คือลักษณะผลกลมไม่เป็นเหลี่ยม จุกที่ปลายผลเริ่มหลุดร่วง ถ้าปลูกแบบเศรษฐกิจให้ทำการคลุมเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันใบกล้วยเสียดสี กับผลกล้วยเมื่อมีลมพัดและช่วยป้องกันโรคแมลงได้ด้วย

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับเรื่องกล้วย การปลูกกล้วย พันธุ์กล้วย การแปรรูปกล้วย เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.is.udru.ac.th, www.aopdt01.doae.go.th, www.doa.go.th, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) กรมวิชาการเกษตร
ภาพประกอบ : www.thailandseedshop.com, www.pantip.com, www.youtube.com, ร้านคณิตศรพันธุ์ไม้, FB เกษตร อินเตอร์เชียงใหม่, www.farmchannelthailand.com, www.กฏหมายไทย.com, www.fourfarm.com, www.kasetban.blogspot.com, www.pptvhd36.com

One Comment

Add a Comment