5 วิธีปลูกกล้วยน้ำว้า มะลิอ่อง

การปลูกกล้วย

ปัจจุบันความต้องการกล้วยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่ทุกคนรู้จักดี เพราะปลูกง่ายโตเร็ว เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่าและกล้วยตานี กล้วยน้ำว้าถือได้ว่ารับความนิยมอย่างแพร่หลาย หากนำมาบริโภคจะให้คุณค่าทางอาหารมากกว่ากล้วยไข่และกล้วยหอม จะเห็นได้ว่าแถวชนบทหรือนอกเมืองจะนำกล้วยมาบดให้กับเด็กรับประทาน กล้วยน้ำว้าที่เริ่มสุกไปจนถึงสุกจะมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง เป็นตัวช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น ทำอาหาร ทำยารักษาโรคได้ กล้วยน้ำหว้าถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีทั้งประโยชน์และสรรพคุณมากมาย กล้วยน้ำว้าสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง ไปดูกันค่ะว่า วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า นั้นมีวิธีการปลูกกี่วิธี วิธีปลูกอย่างไรบ้าง

1. การเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นวิธีธรรมชาติดั้งเดิมของการขยายพันธุ์กล้วยที่มีเมล็ดมากอย่างกล้วยตานีและกล้วยน้ำว้าบางพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยเมล็ดนี้ แต่เดิมชาวสวนจะนำเมล็ดแก่จากผลกล้วยที่แก่เต็มที่มาเพาะ แต่เนื่องจากเมล็ดกล้วยมีเปลือกที่หนามากทำให้การเพาะเมล็ดต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 1-4 เดือน จึงจะงอกให้เห็นต้นอ่อน ทำให้การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปจนเกือบไม่มีชาวสวนคนใดใช้วิธีขยายพันธุ์กล้วยโดยวิธีการเพาะเมล็ดอีกแล้ว นอกจากนี้นักวิชาการที่เพาะเมล็ดเพื่อการศึกษา

เมล็ดกล้วย
เมล็ดกล้วย เมล็ดกลมเล็ก แข็ง มีสีดำ

วิธีเพาะเมล็ด
เตรียมวัสดุ

  1. เมล็ดกล้วย
  2. ดินพร้อมปลูก
  3. ภาชนะสำหรับปลูกเช่น ขวดน้ำ ถุงเพาะชำ เป็นต้น

ขั้นตอนการเพาะ

  1. นำเมล็ดกล้วยแช่น้ำอุ่นหนึ่งคืน รุ่งเช้าเลือกเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ จะได้มีอัตราการงอกมาก
    ขึ้น
  2. ใช้คีมตัดเล็บคีบที่หัวเมล็ดให้เป็นรู
  3. นำเมล็ดมาฝังในภาชนะที่ใส่ดินพร้อมปลูกพอจมดิน
  4. รดน้ำให้ชุ่ม นำตั้งในที่ร่ม โดยไม่ต้องรดน้ำรอจนกว่าจะงอก
  5. เมื่อกล้วยเริ่มงอกนำออกมาจากภาชนะ แล้วนำมาเพาะชำในกระถางพอแข็งแรงดีนำปลูกลงดินต่อไป
ปลูกเมล็ดกล้วย
นำเมล็ดมาฝังในภาชนะที่ใส่ดินพร้อมปลูกพอจมดิน
การเพาะเมล็ด
นำเมล็ดที่ปลูกลงภาชนะแล้ว มาตั้งไว้ในที่ร่ม

2. การใช้หน่อ

การขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่อ ปกติกล้วยมีการแตกหน่อจากตาข้างของต้นแม่ หน่อกล้วยมี 3 แบบใหญ่ๆ คือ

  1. หน่ออ่อน (peeper) เป็นหน่ออ่อนมาก เกิดจากต้นแม่ที่ยังมีส่วนประกอบต่างๆ ไม่ครบ ส่วนของลำต้นเล็กมักจะอ่อนแอ ไม่เหมาะในการนำไปขยายพันธุ์
  2. หน่อใบแคบ หรือ ใบดาบ (sword sucker) เป็นหน่อที่มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ หรือมีส่วนของลำต้นใหญ่ จึงมีอาหารสะสมมาก หน่อชนิดนี้นิยมนำไปปลูกเพราะจะได้ต้นที่แข็งแรง
  3. หน่อใบกว้าง หน่อชนิดนี้มีโคนหน่อหรือลำต้นเล็ก ใบคลี่โตกว้าง ไม่เหมาะที่จะนำไปปลูก เพราะมีอาหารสะสมในลำต้นน้อย ต้นที่ปลูกจากหน่อชนิดนี้จึงไม่แข็งแรงนอกจากหน่อทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว อาจใช้ต้นแม่ซึ่งมีตาติดอยู่ มาผ่าเป็นชิ้นๆ และชำก็ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก
หน่อกล้วย
การปลูกด้วยการใช้หน่อกล้วย
หน่อกล้วย
ขุดหน่อกล้วยเตรียมไว้สำหรับการปลูก

3. การผ่าหน่อกล้วย

เป็นวิธีการขายพันธุ์ที่ทำให้ได้ต้นกล้วยมากกว่า 1 ต้น อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่าย มีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก

ขั้นตอนการผ่าหน่อกล้วย

  1. นำหน่อกล้วยอายุ 3 เดือนที่ยังไม่มีเครือกล้วย มาตัดต้น ตัดราก ตกแต่งเหง้าให้สวย
  2. แบ่งหน่อหรือเหง้าเป็น 2 ส่วน นำแต่ล่ะส่วนแบ่งออกเป็น 3 -4 ชิ้น ชิ้นล่ะ 2 นิ้ว ตกแต่งให้สวยแล้วไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อราประมาณ 5 นาที
  3. นำถุงดำที่เตรียมไว้มาใส่ขี้เถ้าแกลบครึ่งหนึ่งจากนั้นนำชิ้นหน่อหรือเหง้าของกล้วยที่แช่ยาฆ่าเชื้อราใส่ลงในถุงดำโดยคว่ำส่วนเนื้อลง
  4. กลบขี้เถาแกลบไปบนชิ้นส่วนหน่อหรือเหง้า แล้วรดน้ำทุกเช้า ประมาณ 45 วัน เพียงเท่านี้ก็จะได้ต้นพันธุ์กล้วยที่แข็งแรงประมาณ 4 – 12 ต้น ให้ได้นำไปปลูกไว้รับประทาน
การผ่าหน่อกล้วย
การผ่าหน่อกล้วย ทำการแบ่งหน่อหรือเหง้าออกเป็น 3 -4 ชิ้น
ผ่าหน่อกล้วยเป็นชิ้น
หน่อกล้วยที่ผ่าเป็นชิ้น
การปลูกหน่อกล้วยที่ผ่า
นำกล้วยที่ผ่าหน่อแล้วมาปลูกในถุงเพาะ

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นวิธีที่ขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น จากหน่อที่สมบูรณ์ 1 หน่อ อาจขยายได้ถึง 10,000 ต้น ในเวลา 1 ปี ถ้าหากมีการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการส่งออก เพราะว่าการส่งออกต้องการจำนวนต้นปลูกที่มีขนาดสม่ำเสมอ ปลูกพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลได้พร้อมๆ กัน และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันขึ้นไป สำหรับบรรจุ ใส่ตู้ขนส่งในการส่งออก เนื่องจากการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนั้น ถ้ามีจำนวนน้อยจะไม่เพียงพอกับการส่งออก และไม่คุ้มกับการลงทุน

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  1. คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะดี แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลง ลูกโตให้หวีต่อเครือมาก
  2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
  3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
  4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10-15 นาที
  5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
  6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
  7. หลังจากนั้นจึงเขียนรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี รหัส แล้วนำไปพักในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของกล้วย
การเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเลี้ยงเนื้อเยื่อในขวด

ขั้นตอนการย้ายเนื้อเยื่อออกปลูก

  1. ทำหลุมเล็กๆ ในวัสดุปลูกภายในถาดหลุม
  2. ใช้ปากคีบจับโคนต้นพืช นำลงปลูก
  3. กลบวัสดุปลูกให้มิดรากหรือมิดโคนต้นพอดี เพราะ ถ้ารากโผล่พ้นวัสดุปลูกสัมผัสกับอากาศ อาจทำให้รากและต้นพืชเหี่ยวได้
การแยกต้นกล้วย
แยกต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงออกจากกัน
ต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเตรียมต้นกล้วยที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลงปลูก

5. การปลูกกล้วยกลับหัว

การปลูกพืชกลับหัวหรือการปลูกกล้วยกลับหัวนั้นจะมีวิธีการปลูกที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับการปลูกพืชแบบปกติ จะแตกต่างกันตรงที่การปลูกพืชกลับหัวจะเป็นการนำในส่วนของด้านที่เป็นยอดปักลงไปในดินแทนส่วนของราก หรืออาจจะวางแบบตะแคง เฉียงก็สามารถปลูกได้เหมือนกัน หากพื้นที่นั้นเพียงพอ

ขั้นตอนการปลูกกล้วยกลับหัว

  1. นำลำต้นของกล้วยที่จะปลูก ที่มีรากติดอยู่ มาตัดให้ได้ความยาวพอเหมาะหรือความยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร
  2. ขุดหลุมในพื้นที่ที่ต้องการปลูกกล้วยกลับหัวความลึกของหลุมประมาณ 25 เซนติเมตร หรือให้กลบหลุมแล้วกลบกล้วยพอดี
  3. นำลำต้นของกล้วยกลับหัวแล้วนำด้านที่เป็นยอด ฝังลงในดิน
  4. กลบดินลงในหลุมให้ทั่วทั้งหลุมปิดลำต้นและปิดรากของกล้วย
ตัดต้นกล้วย
นำต้นกล้วยมาตัดให้ได้ความยาวที่เหมาะสม
ปลูกกล้วยกลับหัว
ขุดหลุมนำลำต้นกล้วยลงปลูก

ขั้นตอนการปลูกกล้วยและการดูแลรักษา

  1. ควรเตรียมหลุมปลูก กว้างxยาวxลึก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น
  2. ระยะการปลูก กล้วยน้ำว้าใช้ระยะ 3×3 เมตร จะปลูกได้ 200 ต้นต่อไร่ แต่กล้วยหอมทองใช้ระยะ 2×2 เมตร ปลูกได้ 400 ต้นต่อไร่
  3. การให้น้ำในระยะแรกควรให้น้ำวันเว้นวัน หลังจากกล้วยสามารถตั้งตัวได้แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  4. การใส่ปุ๋ย ในระยะแรกนิยมใช่ปุ๋ยคอกและหลังจากการปลูกได้ 2 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 60 กรัมต่อต้น ทุกเดือนหลังจากกล้วยออกปลีแล้ว จะใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 500 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังจากครั้งแรก 1 เดือน
  5. การกำจัดวัชพืช สามารถกำจัดได้หลายวิธี คือ
    – วิธีกล ได้แก่การถอน ตายหรือการถากด้วยจอบ ควรทำการกำจัดก่อนที่วัชพืชจะออกดอก
    – วิธีเขตกรรม โดยการปลูกพืชแซมที่มีระบบรากตื้นและสามารถ ใช้ลำต้นเป็นปุ๋ยได้ เช่นพืชตระกูลถั่ว
    – ใช้วิธีคลุมดินโดยคลุมหน้าดินด้วยใบกล้วยหลังการตัดแต่งใบ ใช้ฟางข้าวคลุมตั้งแต่เริ่มปลูก
  6. การตัดแต่งหน่อ หลังจากการปลูกกล้วยได้ 3-4 เดือนให้ตัดหน่อทิ้งจนกว่ากล้วยจะเริ่มออกปลีหลังจากกล้วยมี อายุ 7 เดือน จึงเริ่มไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกัน 4 เดือน เพื่อให้ผล กล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกหน่อที่อยู่ตรงข้ามกัน หากหน่อที่ตัดมีขนาดใหญ่มาก ให้ใช้วิธีการทำลายโดยหยอดน้ำมันก๊าดลงบนหยอดประมาณ 1/2 ช้อนชา
  7. การตัดแต่งใบจะเริ่มตัดแต่งใบ ในช่วงกล้วยอายุประมาณ 5 เดือน หลังจากการปลูกโดยเลือก ตัดใบที่แก่เป็นโรค ออกให้เหลือ 9-12 ใบ/ต้น
  8. การตัดปลี ให้ทำการตัดปลีกล้วยทิ้งหลังจากปลีบานต่อไป จนหวีตีนเต่าอีก 2 ชั้น เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
  9. การค้ำกล้วย นิยมค้ำในกล้วยหอมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการหักกลางลำต้น หลังจากการตกเครือ ควรค้ำบริเวณเครือหรือใช้ไม้ดามลำต้นโดยตรง
สวนกล้วยน้ำว้า
การปลูกกล้วย ควรเว้นระยะให้เหมาะสาม คือ 4×4 เมตร
ต้นกล้วยน้ำว้า
ต้นกล้วยน้ำว้า กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สีเขียวอ่อน

โรคและแมลง

  1. โรคตายพราย เกิดจากการเชื้อรา มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบ ล่างหรือใบแก่ก่อนตามมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง ป้องกันกำจัดโดยตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาหรือก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  2. ด้วงงวงไชเหง้า ระยะตัวหนอนจะกัดกินชอนไชอยู่ในเหง้ากล้วย พบการทำลายทุกระยะตั้งแต่หนอถึงต้นแก่ จะทำให้กล้วยตายได้ ป้องกันกำจัดโดยทำความสะอาดสวน โดยเฉพาะโคนกล้วยอย่ามีชิ้นส่วนของต้นพืชเน่าเปื่อย และก่อนที่จะนำหน่อเพื่อมาปลูกควรแช่น้ำยาฆ่าแมลง 1 คืนต่อน้ำ 50 ส่วนก่อนปลูกหรือฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย และน้ำส้มควันไม้เป็นประจำ
  3. เพลี้ยหอย จะเข้าทำลายในช่วงออกเครือจะจับตามผลกล้วยและเกิดราดำ การป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วย น้ำส้มควันไม้ เดือนละ 1 ครั้ง

วิธีการป้องกันและกำจัดโรคกล้วย

โรคกล้วย
โรคใบจุดของกล้วย

การเก็บเกี่ยว

กล้วยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากการตัดปลีแล้ว 3-4 เดือน หรือผลแก่เต็มที่ คือลักษณะผลกลมไม่เป็นเหลี่ยม จุกที่ปลายผลเริ่มหลุดร่วง ถ้าปลูกแบบเศรษฐกิจให้ทำการคลุมเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันใบกล้วยเสียดสีกับผลกล้วยเมื่อมีลมพัดและช่วยป้องกันโรคแมลงได้ด้วย

กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า กล้วยที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับเรื่องกล้วย การปลูกกล้วย พันธุ์กล้วย การแปรรูปกล้วย เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.is.udru.ac.th, www.aopdt01.doae.go.th, www.doa.go.th
ภาพประกอบ : www.thailandseedshop.com, www.pantip.com, www.youtube.com, ร้านคณิตศรพันธุ์ไม้, FB เกษตร อินเตอร์เชียงใหม่, www.farmchannelthailand.com, www.กฏหมายไทย.com, www.fourfarm.com, www.kasetban.blogspot.com, www.pptvhd36.com

2 Comments

Add a Comment