การปลูกกล้วย
ปัจจุบันความต้องการกล้วยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น มีทั้งตลาดส่งออก ตลาดภายในประเทศสูง และเพื่อการแปรรูป ความต้องการมีทุกวัน ตลอดทั้งปี เพราะมีการทำสัญญาล่วงหน้า ทำให้ราคาค่อนข้างคงที่ ไม่สูงมากและไม่ต่ำ จึงควรมีการวางแผนเพื่อกำหนดเวลาเก็บเกี่ยว เนื่องจากอายุการปลูกแน่ชัดว่า กล้วยไข่ และกล้วยหอมใช้เวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยว นานประมาณ 8 และ 10 เดือน ตามลำดับ จึงสามารถวางแผนการปลูกให้ได้ตลอดทั้งปี ไม่วางแผนเฉพาะเพื่อเทศกาลที่มีราคาสูงเท่านั้น เพราะถ้าเกษตรกรทุกคนวางแผนให้มี ผลผลิตเฉพาะเทศกาลเพื่อหวังราคาสูง ทำให้มีผลิตผลค่อนข้างมากในตลาด ก็จะทำให้ ราคาลดต่ำลงได้ ด้วยเหตุนี้การที่ต้องการราคาที่ดีตลอดทั้งปี จึงต้องมีการรวมกลุ่มและวางแผนปลูกด้วยกัน
การเลือกพื้นที่
กล้วยสามารถปลูกได้พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ไร่บนเขา จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ไร่ จังหวัดปทุมธานี ดินเป็นดินเหนียวต้องยกร่องมีน้ำล้อมรอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การเลือกพื้นที่ควรเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
การใช้ปุ๋ย
ก่อนปลูกควรนำดินไปวิเคราะห์ธาตุอาหารก่อน ดูความ อุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อใช้ปริมาณธาตุอาหารได้อย่างเหมาะสมและเป็นการลดต้นทุน การผลิตทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ควรมีการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกบำรุงดินอัตรา 500 กรัมต่อหลุม ปริมาณที่ปุ๋ยเคมีใช้ตามระยะ การเจริญเติบโต ระยะแรกหรือประมาณ 1 เดือนหลังปลูก ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน สูงกว่าธาตุอื่นใส่ปุ๋ยเคมีทางดินสูตร 15–5–20 อัตรา 100 กรัมต่อต้นต่อครั้ง เมื่ออายุ 1 เดือน เพื่อบำรุงให้ต้นเจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อต้นกล้วย อายุ 3 6 และ 8 เดือนหลังปลูก ใส่ปุ๋ยสูตรดังกล่าว อัตรา 200 กรัมต่อต้นต่อครั้ง เพื่อให้ขนาดผลสมบูรณ์ มีขนาดตามที่ ตลาดต้องการ ขนาดเครือที่สมบูรณ์ควรมี 5–7 หวีต่อเครือ น้ำหนักหวีประมาณ 1.8–3 กิโลกรัมต่อหวี เฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม หรือน้ำหนักผล 120–170 กรัม ในกล้วยหอม
แต่ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ใหม่ที่เริ่มปลูกพืช หรือดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก อาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยมากเพราะถ้าใส่ปุ๋ยผลกล้วยจะมีขนาดใหญ่เกินมาตรฐาน การส่งออก หรือถ้าสังเกตุเห็นว่าต้นสมบูรณ์มาก เติบโตเร็ว อาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ดังนั้น จึงควรนำดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินก่อนปลูก
การเลือกหน่อ
หน่อที่ใช้ปลูก จะใช้หน่อที่ต้นแม่เก็บเกี่ยวเครือกล้วยไปแล้ว อายุหน่อที่ใช้ ควรใกล้เคียงกันหรือมีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อจะให้ผลผลิตในเวลาที่ใกล้เคียงกัน คัดหน่อจากแปลงที่สมบูรณ์ และไม่มีโรค ตรวจดูหน่อว่าไม่มีรูที่แมลง เข้าทำลาย เพราะถ้าแมลงทำลาย ต้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และอาจตายได้ในที่สุด หน่อที่เหมาะสมเป็นหน่อที่มีอายุไม่เกิน 2 เดือนหลังจากเก็บเกี่ยวกล้วย ใบดาบหรือ ใบที่ยังไม่คลี่ ประมาณ 1–2 ใบ หากใช้หน่อที่มีอายุมากกว่านี้จะถือว่า เป็นหน่อแก่ การใช้หน่อที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง จะทำให้ต้นกล้วยมีการเจริญเติบโตดี ตอบสนองต่อปุ๋ยที่ใส่ ถ้าอายุหน่อไม่เท่ากันหรือขนาดหน่อไม่เท่ากัน เมื่อปลูกแล้วสามารถ ตัดยอดหน่อที่ตั้งตัวแล้วเพื่อให้ยอดงอกขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน หรือตัดหน่อให้แตกยอด พร้อมๆ กัน แล้วนำไปปลูก เมื่อเตรียมพื้นที่ปลูกเสร็จ
ต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่เริ่มปลูก เพราะเป็นต้นกล้ากล้วยที่เป็นพันธุ์ดี มีลักษณะตรงตามที่ต้องการ สามารถผลิตได้ ครั้งละมากๆ ปราศจากโรคแมลง เมื่อนำไปปลูกสามารถให้ผลิตผลในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ง่ายต่อการจัดการ เหมาะที่จะปลูกในระยะเริ่มต้น เพราะต้นทุนสูงกว่า การใช้หน่อจากต้นแม่ แต่ครั้งต่อไปสามารถเลือกหน่อจากต้นแม่เนื้อเยื่อไปปลูกได้
การให้น้ำ
กล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอในการเจริญเติบโต โดยทั่วไป การให้น้ำ มี 3 แบบ คือ
- การให้น้ำโดยการปล่อยน้ำท่วมแปลง ในกรณีปลูกบนพื้นราบ หรือในสภาพไร่ เกษตรกรจะทำคันดินเตี้ยๆ เพื่อขังน้ำให้ดินชุ่ม
- สปริงเกอร์ โดยการ ปล่อยน้ำทางท่อ
- การให้น้ำทางเรือ กรณีปลูกกล้วยบนร่องมีน้ำล้อมรอบ ถึงแม้จะมีน้ำล้อมรอบแปลง แต่ระดับน้ำก็ไม่ควรสูงมากเพราะถ้าน้ำท่วมถึงระดับรากจะทำให้ต้นเน่า
การให้น้ำทุกแบบต้องให้ดินมีความชุ่มชื้น ให้น้ำทุก 3–5 วันปัจจุบัน มีเครื่องวัดความชื้นในดิน ทำให้สะดวกในการกำหนดวันให้น้ำ เพราะจะบอกว่าดินมีความชื้นดินประมาณเท่าไร ถ้าความชื้นยังสูงอยู่ก็ไม่ต้องให้น้ำ
[metagallery id=37384]
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
www.flickr.com