ปลูกสะระแหน่แบบง่ายด้วยการนำไหลมาชำ

สะระแหน่ เป็นหนึ่งในผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่หลายครัวเรือนจะปลูกไว้คู่บ้าน จนทำให้เพื่อนเกษตรกรมองข้ามผักหอมๆ ชนิดนี้ไปเลย ทั้งที่เป็นผักที่เราสามารถทำเป็นพืชผักเพื่อปลูกแบบผสมผสานกับพืชอื่นๆ ได้สบาย เพราะว่าปลูกง่ายและขายง่ายอีกต่างหาก บางคนนำมาจัดเซ็ท เป็นผักเคียงลาบ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จับเข้ากลุ่มกับผักแพว ผักกาดขาว หรือกะหล่ำปลี ขายคู่กับน้ำพริกก็ได้รายได้ดีไม่น้อย เพราะคนสมัยนี้ทานผักมากกว่าข้าวกันมาก

สะระแหน่
สะระแหน่ ใบมีกลิ่นหอม

การปลูกสะระแหน่

การปลูกสะระแหน่ เพราะปลูกง่าย นำไหลมาชำในที่แดดรำไร ก็แตกใบกันแล้ว มีความทนทานต่อสภาวะอากาศ แต่ควรหมั่นรดน้ำให้เหมาะสม ในช่วงหน้าแล้ง เพราะถ้าแห้งแล้งมาก ใบจะไม่สวย ถ้าปลูกลงบนแปลงดินจะดูแลง่ายกว่าในกระถาง เพราะอาจเสี่ยงที่รากจะขมวดพาลตายก่อนได้ผลกันได้

การเลือกไหลที่มาชำนั้น ต้องดูไหลรุ่น หรือใช้ก้านสะระแหน่ที่แตกรากก็จะช่วยให้ติดต้นไวขึ้น วิธีง่ายสุดคือ ซื้อใบสะระแหน่มาจากตลาด เด็ดใบไปทานกับลาบ แล้วเหลือก้านไว้ นำมาวางเรียงกัน แล้วเอากาบต้นกล้วยมาห่อโคนก้านไว้ให้ชุ่มเย็น ราว 4 วัน รากก็แตก จากนั้นนำก้านที่แตกรากแล้วไปชำในกระถางขนาดพอเหมาะ แล้วนำกระถางไปใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้สนิท วางไว้ในร่ม ราวๆ 4 วันก็เปิดถุง นำสะระแหน่ที่ผ่านการควบแน่นแล้วมาแยกลงแปลงดิน

แปลงดินที่เตรียมก็เหมือนแปลงทั่วไป ยกร่องขึ้นเพื่อระบายน้ำอย่าให้น้ำขัง ดินที่ปลูกต้องผสมปุ๋ยคอกเท่านั้น ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีเด็ดขาด เพราะสะระแหน่แพ้เคมี  และเคล็ดลับที่จะบำรุงให้ใบสวยอุ้มน้ำ ลำต้นอวบ คือการนำน้ำล้างเนื้อสัตว์ ที่มีเมือก หรือเลือดผสมอยู่มารดแปลงสะระแหน่จะงามมาก

วิธีการเก็บเกี่ยว

วิธีการเก็บเกี่ยวสะระแหน่ ควรเบามือที่สุด วิธีการดีที่สุดคือใช้กรรไกรตัดยอด เพื่อให้ยอดใหม่แตกใบอ่อนรุ่นใหม่ต่อไป แต่หากเราเด็ดด้วยมือเรา ต้นสะระแหน่จะกระทบกระเทือนไปถึงราก อาจจะทำให้ต้นล้มตายได้ ตัดเสร็จนำมาล้างแล้วก็นำไปขายได้เลย

บางท่านก็นำไปตากแห้งเพื่อใช้ทำชา ที่ต่างประเทศเราจะเห็นมี Mint tea หรือชาจากใบสะระแหน่ ซึ่งดื่มกันเพื่อขับลม ช่วยย่อยอาหาร และแก้ร้อนใน และด้วยความที่กลิ่นสะระแหน่นั้นหอมชื่นใจ จึงมีการนำมาสกัดน้ำมัน เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหยอีกด้วย ซึ่งตลาดสะระแหน่แปรรูปเอง ก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจอีกด้วย

สะระแหน่
สะระแหน่ นำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http ://blog.arda.or.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com

Add a Comment