มะระขี้นก ผักเชียงดา ตำลึง ชะพลู เป็นผักที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยในการลดน้ำตาลได้ จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควบคู่กับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นพืชผักที่รับประทานกันอยู่แล้ว หาได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ป่วยอาจเลือกใช้ผักเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยอาจใช้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ในคนที่คุมน้ำตาลได้ดีอยู่แล้วด้วยยาของแพทย์ อาจรับประทานเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดตกมากเกินไป
มะระขี้นก
มะระชี้นก มีผลกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ยับยั้งการสร้างกลูโคส ทำให้มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้คือ คั้นน้ำจากผลสดมื้อละ 2-3 ผล โดยเอาเมล็ดในออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นคั้นเอาแต่น้ำดื่ม 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือนำเนื้อมะระผลเล็ก (มีตัวยามาก) ผ่านำเมล็ดออก หั่นเนื้อมะระเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาชงกับน้ำเดือด (มะระ 1-2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย) ดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 1-2 ถ้วย วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือรับประทานในรูปแบบแคปซูลครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง
มะระขี้นก จะมีรสขมมากกว่ามะระจีน วิธีลดความขมของมะระขี้นกทำได้ด้วยการต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่เกลือประมาณหยิบมือ แล้วลวกมะระในน้ำเดือดสักครู่ จะทำให้ความขมลดลง
มะระที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนิน (Saponin) ในปริมาณมาก การรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วงได้ ดังนั้น ควรรับประทานผลอ่อน ข้อควรระวังคือ คนท้อง เด็ก และคนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรรับประทาน และควรรับประทานในปริมาณที่พอดี อย่าทำอะไรเกินเลย เพราะความขมจัดของมะระขี้นก อาจทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
ชะพลู
มีงานวิจัยพบว่าน้ำชะพลูลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายปกติได้ วิธีใช้ นำชะพลูทั้งต้นตลอดถึงราก 1 กำมือ พับเถาเป็น 3 ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ ใส่หม้อต้มกับน้ำพอท่วม ต้มจากน้ำ 3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ผักเชียงดา
ผักเชียงดา มีผลช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล ฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน และลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้ให้ใช้ใบแห้งชงดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง หรือรับประทานเป็นผักในมื้ออาหาร
ตำลึง
มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจาก Harvard Medical School พบว่า ตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลที่ดีที่สุดจากการที่มีการออกแบบการทดลองได้อย่างเหมาะสม ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ตำลึงให้ผลลดน้ำตาลทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก ผล โดยใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
โรคเบาหวานเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือสร้างออกมาแล้วทำงานได้ไม่ดีพอ การทำงานของอินซูลิน คือทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน ดังนั้น ถ้าร่างกายผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอินซูลินไม่เพียงพอก็จะทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่มีสาเหตุ ควรเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีเกณฑ์ว่าถ้าเจาะหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็จะถือว่าคนผู้นี้เป็นเบาหวาน
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http:// www.chonburi.doae.go.th
https://www.flickr.com