ทุเรียน
ทุเรียน “ราชาผลไม้ไทย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus L. อยู่ในวงค์ MALVACEAE ผลของทุเรียนจะมีขนาดใหญ่มีหนามแข็งทั่วทั้งเปลือก ทุเรียนโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1-3 กิโลกรัม สีของเปลือกจะมีสีเขียวไปจนถึงสีน้ำตาล เนื้อมีสีเหลืองซีดถึงเหลืองเข้ม จัดเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกกันมากมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุม วันนี้เกษตรตำบลมีวิธีการปลูกทุเรียน ความรู้เกี่ยวกับการดูแลทุเรียนมาฝากค่ะ

การเลือกพื้นที่ปลูกทุเรียน
ควรคำนึงถึง
- แหล่งน้ำ
ต้องมีแหล่งน้ำจืดให้ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดปี - อุณหภูมิและความชื้น
ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้นอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 25-30 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 75-85% ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง มีอากาศร้อนจัดเย็นจัด และมีลมแรง จะพบปัญหาใบไหม้หรือใบร่วง ต้นทุเรียนไม้เจริญเติบโตหรือเติบโตช้าให้ผลผลิตช้าและน้อยไมคุ้มต่อการลงทุน - สภาพดิน
ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทราย ที่มีการรระบายน้ำดี และมีหน้าดินลึก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง ความเป็นกรดด้างของดินอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ถ้าจําเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จําเป็นต้องนําหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริม ต้องใส่ปุ๋ยคอกและต้องดูแลเรื่องการให้น้ำมากเป็นพิเศษ แหล่งน้ำต้องเพียงพอ
พันธุ์ทุเรียน
- ชะนี
ข้อดี
– ทนทานต่อโรครากเน่า โคนเน่าพอสมควร
– ออกดอกง่าย
– เนื้อแห้ง รสดี สีสวย
ข้อเสีย
– ออกดอกดกแต่ติดผลยาก
– เป็นไส้ซึมง่าย
– อ่อนแอต่อโรคใบติด - หมอนทอง
ข้อดี
– ราคาสูงกว่าพันธุ์อื่น
– ติดผลดีมากน้ำหนักผลดี
– เนื้อมากเมล็ดลีบ มีกลิ่นน้อย เนื้อละเอียดแห้ง ไม่เละ ผลสุก แล้วเก็บไว้ได้นาน
– ไม่ค่อยเป็นไส้ซึม
ข้อเสีย
– อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า - ก้านยาว
ข้อดี
– ติดผลดี
– ราคาค่อนข้างดี
– น้ำหนักผลดี
ข้อเสีย
– ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรครากเน่า โคนเน่า
– เปลือกหนา
– เนื้อน้อย
– เป็นไส้ซึมค่อนข้างง่าย
– ผลสุกเก็บไว้ได้ไม่นาน ก้นผล แตกง่าย
– อายุการให้ผลช้า - กระดุม
ข้อดี
– ไม่มีปัญหาไส้ซึมเพราะ เป็นพันธุ์เบาเก็บเกี่ยวก่อน ฝนตกชุก
– ออกดอกเร็วผลแก่เร็วจึงขาย ได้ราคาดีในช่วงต้นฤดู
– ผลดก ติดผลง่าย
– อายุการให้ผลเร็ว
ข้อเสีย
– อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า
การปลูก
ฤดูปลูก ถ้ามีการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลให้น้ำกับต้นทุเรียน ได้สม่ำเสมอช่วงหลังปลูก ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน แต่ถ้าหากจัดระบบน้ำไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องน้ำได้ควรปลูกต้นฤดูฝนเตรียมพื้นที่การปลูกทุเรียน
- ไถ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่า ออกจากแปลง
– พื้นที่ดอนไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง : ไถกําจัดวัชพืชอย่างเดียว
– พื้นที่ดอนมีแอ่งที่ลุ่มน้ำขัง : ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ
– พื้นที่ลุ่มหรือต่ำมีน้ำท่วมขัง : ทําทางระบายน้ำหรือยกร่อง - กําหนดระยะปลูก
ระยะระหว่างต้นและระยะระหว่างแถวด้านละ 9 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 20 ต้น การทําสวนขนาด ใหญ่ ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกต่อการนําเครื่องจักรกลต่างๆ ไปทํางานใน ระหว่างแถว - วางแนวและปักไม่ตามระยะปลูกที่กำหนด
วางแนวกําหนดแถวปลูกโดยคํานึงว่า แนวปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่หรืออาจกําหนดในแนวตั้งฉากกับถนน หรือกําหนดแถวปลูกไปในแนวทิศตะวันออก ตะวันตก และถ้ามีการจัดวางระบบน้ำต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย จากนั้นจึงปักไม่ตามระยะที่กำหนดเพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป
วิธีการปลูกทุเรียนทําได้ 2 ลักษณะ
1. วิธีการขุดหลุมปลูกเหมาะกับสวนที่ไม่มีการวางระบบน้ำ
2. วิธีการปลูกแบบไม่ขุดหลุม เหมาะกับสวนที่จัดวางระบบน้ำ
มีข้อดีคือ ประหยัดแรงงานค้าใช้จ่ายในการขุดหลุม ดินระบายนํ้าและอากาศดี รากเจริญเร็ว
การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุม
- ขุดหลุมมีขนาดกว้างยาว และลึกด้านละ 50 เซนติเมตร
- ผสมปุ๋ยคอกเก่าประมาณ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟตครึ่งกิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
- เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงทําลาย และมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง
- ใช้มีดกรีดก้นถุงออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดออก
- วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกแล้ววางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงตํ่าของต้นทุเรียนให้รอยต่อระหว่างรากกับลําต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
- ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน
- ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก
- กลบดินที่เหลือลงไปในหลุมอย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ
- ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก
- กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นแล้วรดน้ำตามให้โชก
- จัดทําร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกํา หรือตาข่ายพรางแสง เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วควรปลดออก หรืออาจปลูกไม้เพื่อให้ร่มเงา เช่น กล้วยก็จะช่วยเป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด
- แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน
การปลูกทุเรียนแบบไม่ขุดหลุม
- โรยปุ๋ยหินฟอสเฟต 500 กรัม หรือประมาณหนึ่งกระป๋องนมครึ่ง ตรงตําแหน่งที่ต้องการปลูกกลบดินบางๆ
- นําต้นพันธุ์มาวาง แล้วถากดินข้างๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้าหากเป็นดินร่วนปนทราย ดิน ทราย ดินจะไม้เกาะตัวกัน ควรใช้วิธีขุดหลุมปลูก หรือจะใช้วิธีดัดแปลง
- วิธีดัดแปลง คือ น้ำหน้าดินจากแหล่งอื่น มากองตรงตําแหน่งที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ย หินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้ กลบดินบางๆ วางต้นพันธุ์ดีลงตรงช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ
- การแกะถุงออก ต้องระมัดระวังอย่าให้ดิน แตก อาจทําได้โดยกรีดก้นถุงออกก่อน แล้วนําไปวางในตําแหน่งที่ปลูก กรีดถุงพลาสติกให้ขาดจากล่างขึ้นบน แล้วจึงค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบาๆ
- ระมัดระวังอย่ากลบดินให้สูง ถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ
- หาวัสดุคลุมโคน และจัดทําร่มเงาให้กับต้นทุเรียนเหมือนการปลูกโดยวิธีขุดหลุม

การปฏิบัติดูแลรักษาทุเรียน
การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงก่อนให้ผลผลิต
เป็นสิ่งสําคัญที่จะทําให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น
- ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต ในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรง กับความต้องการของตลาด
- เมื่อตรวจพบทุเรียนตายหลังปลูกให้ทำการปลูกซ่อม
- การให้น้ำช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรทําทางระบายน้ำ และตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าดินยุบตัวเป็นแอ่งมีน้ำขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดน้ำให้ดิน มีความชื้น อยู่เสมอ ในปีต่อๆ ไป ควรดูแลรดนํ้าให้ต้นไม้ผลอย่างสมํ่าเสมอ และในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
- การตัดแต่งกิ่ง
ปีที่ 1-2 ไม่ควรตัดแต่ง ปล่อยใหต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
ปีต่อๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรคออก เลี้ยงกิ่งแขนง ที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่งมุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยใหกิ่งล่างสุดอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตร - การป้องกันกําจัด
ช่วงแตกใบอ่อน : ควรป้องกันกําจัดโรคใบติด เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง
ช่วงฤดูฝน : ป้องกันกําจัดโรครากเน่าโคนเน่าและควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดิน และอาจจะกําจัดโดยใช้แรงงานขุด ถาก ถอน ตัด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่ละอองสารเคมีอาจจะไปทําลายต้นทุเรียน - การทําร่มเงา
ในช่วงฤดูแล้ง แสงแดดจัดมาก ทําให้ทุเรียนใบไหม้ได้ควรทําร่มเงาให้ - การใส่ปุ๋ยควรทําดังนี้
– ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่ง
– ใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทําโคน คือ ถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม หว่านปุ๋ย และพรวนดิน นอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่ม ให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า และขยายขนาดของเนินดินให้กว้างขึ้นตาม ขนาดของทรงพุ่ม หรือจะใส่ปุ๋ย โดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ย ใส่และปิดหลุมเป็นระยะให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม วิธีหลังนี้แม้จะเปลืองแรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ย จากการระเหย หรือถูกน้ำชะพา
– หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี
– ควรใส่ปุ๋ยในบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ และให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกับขนาดทรงพุ่มปริมาณและเวลาใส่ปุ๋ย
ปีที่ 1 : ใส่ปุ๋ยและทําโคน 4 ครั้ง (เดือนเว้นเดือน)
ครั้ง ที่ 1-3 ใส่ปุ๋ย คอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
ครั้ง ที่ 4 – ใส่ปุ๋ย คอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
– ใส่ปุ๋ย เคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น (ครึ่งกระป๋อง นมข้น)
ปีต่อๆ ไป (ระยะที่ทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) : ใส่ปุ๋ยและทําโคน 2 ครั้ง (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน)
ครั้งที่ 1 (ต้นฝน) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น
ครั้งที่ 2 (ปลายฝน) ใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)
ใสปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่ง ถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น ปริมาณปุ๋ย เคมีที่ใส่ในแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม โดยยึดหลักว่า วัดจากโคนต้นมายังชายพุ่ม เป็นเมตรได้เท่าไร คือ จํานวนปุ๋ย เคมีที่ใส่เป็นกิโลกรัม เช่น
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม
ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตรครึ่ง ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัมครึ่ง

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงที่ให้ผลแล้ว
เป็นสิ่งสําคัญที่จะทําให้ทุเรียนออกดอกติดผลมาก และให้ผลผลิต คุณภาพดี การเตรียมต้นให้พร้อมที่จะออกดอก คือการเตรียมให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ มีอาหารสะสมเพียงพอ เมื่อทุเรียนมีใบแก่ทั้งต้น และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฝนแล้ง ดิน มีความชื้นต่ำอากาศเย็นลงเล็กน้อยทุเรียนก็จะออกดอก ขั้นตอนต่างๆ จะต้องรีบดําเนินการภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้
- การตัดแต่งกิ่ง
หลังเก็บเกี่ยวให้รีบตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่ง แขนง ด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกําจัด เชื้อรา หรือปูนแดงกินกับหมาก - หลังตัดแต่งกิ่งให้กําจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยทันที
– ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)
– ปุ๋ยเคมีสตู ร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 3-5 กก. ต่อต้น
(ทุเรียนต้นที่ขาดความสมบูรณ์ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนต้น ที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้วทุเรียนต้นที่ให้ผลผลิตไปมาก ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนที่ให้ผลผลิตน้อย) - ในช่วงฤดูฝน
– ถ้าฝนตกหนัก จัดการระบายน้ำออกจากแปลงปลูก
– ถ้าฝนทิ้งช่วง ให้รดนํ้ำแก่ต้นทุเรียน
– ควบคุมวัชพืช โดยการตัดและ หรือใช้สารเคมี
– ป้องกันกําจัดโรคแมลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติด โรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไก่แจ้ ไร แดงและเพลี้ยไฟ - ในช่วงปลายฤดูฝน
– เมื่อฝนทิ้งช่วงให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24, 9-24-24 หรือ 12-24-12 2-3 กก.ต่อต้นเพื่อช่วยในการออกดอก
– ให้กําจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม กวาดเศษหญ้า และใบทุเรียนออกจากโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น
– งดการให้นํ้า10-14 วัน เมื่อสังเกตเห็นใบทุเรียนเริ่มลดลงต้องเริ่มให้น้ำทีละน้อยเพื่อกระตุ้นให้ตามดอกเจริญอย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานจนใบเหลืองใบตกเพราะตาดอกจะไม่เจริญ และระวังอย่าให้นํ้ามากเกินไป เพราะช่อดอกอาจเปลี่ยนเป็นใบได้
วิธีให้น้ำทีเหมาะสม คือ ให้น้ำแบบโชยๆ แล้วเว้นระยะ สังเกตอาการของใบและดอก เมื่อเห็นดอกระยะไข่ปลามากพอแล้ว ก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสู่สภาวะปกติ

ราคาขาย
ราคา ณ วันที่ 5 เมษายน 2565
- ทุเรียนหมอนทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 170 บาท / กลางสวย 155 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 130 บาท
- ทุเรียนกระดุม (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 120 บาท / กลางสวย 110 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 90 บาท
- ทุเรียนชะนี (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 135 บาท / กลางสวย 125 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 100 บาท
- ทุเรียนก้านยาว (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 120 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ราคา ณ วันที่ 18 กันยายน 2464
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com