การปลูกถั่วอารหารสัตว์และการผลิตเมล็ดพันธุ์

พืชอาหารสัตว์

พืชอาหารสัตว์ เป็นอาหารหลักที่สําคัญสําหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะเป็นต้น ปัจจุบันนี้เกษตรกรสนใจเลี้ยงสัตว์มากขึ้นจํานวนโคเนื้อและโคนมเพิ่มขึ้นทุกปีขนาดของโคเนื้อและโคนมก็โตขึ้นเนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการ ในขณะที่พื้นที่สาธารณะสําหรับเลี้ยงโค กระบือ ลดลง ในบางปี บางดู พืชอาหารสัตว์ที่มีตามธรรมชาติ ตามหัวไร่ปลายนาจึงไม่เพียงพอสําหรับโค กระบือ ทําให้โคกระบือ ผอม เจริญเติบโตช้าไม่ให้ลูก ทําให้ผู้เลี้ยงได้ผลตอบแทนจากสัตว์ต่ำ

ดังนั้น ในการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม กระบือ หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นๆ ให้มีการเจริญเติบโตและมีผลผลิต เป็นปกตินั้น เกษตรกรจําเป็นจะต้องปลูกพืชอาหารสัตว์ในที่ส่วนตัว โดยเลือกปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะกับ สภาพพื้นที่ มีการเจริญเติบโตดี มีผลผลิตต่อไร่สูงในพื้นที่เท่าๆ กัน ถ้าปลูกพืชอาหารสัตว์พันธุ์ดี มีการจัดการดูแลอย่างถูกต้องสามารถเลี้ยงโค กระบือ หรือ สัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ ได้จำนวนมากกว่าสัตว์เจริญเติบโต ให้ผลผลิตและสุขภาพดีกว่า

พืชอาหารสัตว์ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ หญ้าอาหารสัตว์และถั่วอาหารสัตว์ ปัจจุบันเกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูกทั้งหญ้าอาหารสัตว์และถั่วอาหารสัตว์ร่วมกันเรียกว่าแปลงหญ้าผสมถั่ว เนื่องจากหญ้าโดยทั่วไปให้ผลผลิตสูง เป็นแหล่งพลังงานและสัตว์ชอบกิน ส่วนถั่วอาหารสัตวืนั้นมีโปรตีนสูง การปลูกหญ้าผสมถั่ว โดยเลือกพันธุ์หญ้าที่สามารถเจริญเติบโตร่วมกันได้ดี จึงทําให้เป็นแหล่งพืชอาหารสัตว์ที่มีความสมดุลย์ตอบสนองความต้องการของสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

กระถิน
กระถิน เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก

ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่มากนัก เมื่อทําการปลูกหญ้าผสมถั่ว เนื้อที่เพียง 2-3 ไร่ ก็เพียงพอสําหรับเลี้ยงโคนม โคเนื้อหรือกระบือขนาดโตเต็มที่ 1 ตัว เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม จํานวน 5 ตัว จําเป็นจะต้องปลูกสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์จำนวน 10 ไร่ ซึ่งแปลงพืชอาหารสัตว์ที่ตั้งตัวดีแล้วสามารถปล่อยโค กระบือเข้าแทะเล็มและตัดเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ที่เหลือทําหญ้าแห้ง หรือหญ้าหมัก เก็บรักษาไว้เลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง ระบบการสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์อย่างถาวรนี้ จึงเป็นเครื่องรับประกันว่าสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรจะมีอาหารกินตลอดปี ไม่มีช่วงขาดแคลนอาหาร ทําให้วงจรการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของโค กระบือ มีความต่อเนื่องไม่มีการหยุดชะงัก โดยสรุปแล้ว ผลดีที่เกษตรกรจะได้รับการปลูกสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์อาจกล่าวได้ ดังนี้

  1. แก้ปัญหาขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ในฤดูแล้ง
  2. ใช้เวลาและแรงงานในการเลี้ยงโค กระบือน้อยลง เนื่องจากสามารถปล่อยสัตว์แทะเล็มในแปลงหญ้าได้
  3. ผลิตพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี สัตว์ได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ ทําให้มีผลผลิตสูงกว่าสัตว์ที่ปล่อยแทะเล็มหาอาหารกินตามธรรมชาติ
  4. สามารถจัดการ ควบคุมดูแลสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด 
  5. ลดการเสี่ยงต่อโรคติดต่อต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากการต้อนสัตว์เลี้ยงในทําเลสาธารณะปะปนกับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรรายอื่นๆ
  6. สามารถสํารองเสบียงสัตว์ โดยตัดเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ช่วงที่มีการเจริญเติบโตดี เก็บรักษาไว้ในรูปของหญ้าแห้งหรือหญ้าหมักสําหรับใช้เลี้ยงสัตว์ในฤดูขาดแคลน

นอกจากการปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงสัตว์ของตนเองแล้ว ปัจจุบันมีเกษตรกรจํานวนหนึ่งทําการปลูกพืชอาหารสัตว์ตัดเกี่ยวจําหน่ายแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ในรูปของหญ้าสด หญ้าแห้ง หรือหญ้าหมักและปลูกพืชตระกูลหญ้าตระกูลถั่ว ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายมีแนวโน้มทําให้เกษตรกรมีรายได้สูง จึงเป็นอาชีพใหม่ที่เป็นทางเลือกสําหรับเกษตรกรทางหนึ่ง

ทำไมต้องปลูกถั่วอาหารสัตว์

พืชตระกูลถั่ว เป็นอาหารหยาบหลักที่สําคัญเท่าๆ กับหญ้าอาหารสัตว์ เกษตรกรควรจะปลูกถั่วผสมหญ้า เพื่อทําให้แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์มีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากถั่วมีสารโปรตีนสูงกว่าหญ้านอกจากนั้น รากของพืชตระกูลถั่ว สามารถสะสมธาตุไนโตรเจนจากอากาศ หญ้าที่ปลูกผสมกับถั่วสามารถใช้ธาตุไนโตรเจนจากถั่วได้ จะทําให้ผลผลิตของหญ้าสูงขึ้น

ลักษณะของถั่วอาหารสัตว์

ถั่วอาหารสัตว์ที่ได้มีการทดลองปลูก ขยายพันธุ์และกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกได้ผลดีมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียและเหมาะกับสภาพดิน ฟ้า อากาศ และการนําไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน เราสามารถแบ่งถั่วอาหารสัตว์เป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะทรงต้นและการเจริญเติบโต คือ

  • ถั่วลําต้นเป็นเถาเลื้อย พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ ถั่วเซนโตร ถั่วเซอราโตร ซึ่งจะมีเถาเลื้อยพันเมื่อปลูกร่วมกับหญ้า จะเลื้อยพันต้นหญ้าทําให้โค กระบือ กินหญ้าและถั่วไปพร้อมๆ กัน
  • ถั่วลําต้นเป็นทรงพุ่ม พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ เวอราโนสไตโลหรือถั่วฮามาต้า และถั่ว แกรมสไตโล ซึ่งมีทรงพุ่มเตี้ยๆ ต้นโตเต็มที่สูงเพียง 50-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านและมีใบขนาดเล็กๆ จํานวนมาก เจริญเติบโตได้ในดินหลายชนิด และมักจะทนความแห้งแล้งหรือทนการเหยียบย่ำได้ดี
  • ไม้ยืนต้น พืชตระกูลถั่วบางชนิดเป็นไม้ยืนต้น เช่น กระถิน แคบ้าน แคฝรั่ง ไมยราบ มะแฮะ มักจะมีใบเขียวตลอดปี สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ได้ปัจจุบันเกษตรกรสนใจปลูกมากขึ้นเนื่องจากทนความแห้งแล้ง และใช้เลี้ยงสัตว์ในฤดูขาดแคลน
ไมยราบ
ไมยราบ เป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและก้านมีหนาม

การใช้ประโยชน์ถั่วอาหารสัตว์

การปลูกและใช้เป็นประโยชน์ถั่วอาหารสัตว์ เกษตรกรอาจจะปลูกร่วมกับหญ้าโดยเลือกพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโลหรือถั่วแกรมสไตโลร่วมกับหญ้ารูซี่ โดยหว่านเมล็ดหญ้าและถั่วพร้อมๆ กัน หรือปลูกสลับกันเป็นแถวใช้อัตราเมล็ดพันธุ์หญ้าและถั่วอย่างละ 2 กิโลกรัมต่อไร่

พันธุ์ถั่วอาหารสัตว์ที่ลำต้นเป็นเถาเลื้อย เช่น ถั่วเซนโตร ควรปลูกร่วมกับหญ้าที่เป็นกอค่อนข้างสูง เช่น หญ้ากินนี หญ้ากินนีสีม่วงโดยหยอดเมล็ดพันธุ์ถั่วเป็นหลุม เมื่อต้นถั่วเจริญเติบโตจะเลื้อยพันต้นและใบหญ้าสามารถตัดเกี่ยวเลี้ยงสัตว์ได้ดี

ถั่วอาหารสัตว์ที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น กระถิน แคบ้าน แคฝรั่ง มะแฮะ อาจจะปลูกเป็นแถว เป็นแนวรั้ว แนวคันดิน เมื่อต้นโตใช้ทั้งเป็นร่มเงา เป็นแนวรั้วหรือแนวคันดิน

ถั่วอาหารสัตว์หลายชนิด ใช้ปรับปรุงคุณภาพของหญ้าธรรมชาติ เช่น การหว่านถั่วเวอราโนสไต โล ในอัตราเมล็ด 0.5 กิโลกรัมต่อไร่ ในทําเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะโดยไม่ต้องมีการเตรียมดินเมื่อมีฝนตกเพียงพอเมล็ดพันธุ์ ก็จะทยอยงอก และเจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติ

ถั่วอาหารสัตว์สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดีเกือบทุกชนิด เช่น โคนม โคเนื้อ กระบือ แกะ กระต่าย และไก่ เป็นต้น ในโคพื้นเมืองที่กินฟางข้าวเสริมด้วยถั่วเวอราโนสไตโล แห้งปริมาณเล็กน้อยวันละประมาณ 1 กิโลกรัม สภาพร่างกายโคยังดีในช่วงแล้ง เมื่อเปรียบเทียบกับโคที่ไม่เสริมถั่ว จะมีนาหนักตัวลดลงมาก สําหรับโคนม การใช้ถั่วอาหารสัตว์เลี้ยงโครีดนมสามารถลดปริมาณการใช้อาหารข้น ทําให้ลดต้นทุนการผลิตน้ำนมลงได้มาก

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์เป็นอาชีพใหม่อีกอาชีพหนึ่งสําหรับเกษตรกรเนื่องจากขณะนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นิยมปลูกถั่วสําหรับทําทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ในแต่ละปีจึงต้องมีการใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์เป็นจํานวนมาก การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์จำหน่าย จึงเป็นลู่ทางประกอบอาชีพอีกทางหนึ่งในเอกสารนี้ จะให้รายละเอียดการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์ 2 ชนิด คือ ถั่วเวอราโนสไตโลหรือถั่วฮามาต้า และถั่วแกรมสไตโล เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ส่งเสริมและมีเทคนิควิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งเกษตรกรสามารถทําได้ ไม่ยุ่งยากนัก

การปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์เวอราโนสไตโล

ถั่วเวอราโนสไตโล หรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่า ถั่วฮามาต้า เป็นถั่วอายุ 2-3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ยตั้งตรง เมื่อปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์ ต้นโตเต็มที่จะสูง 50-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านแผ่คลุมพื้นที่กว้าง ใบเป็นใบรวมประกอบด้วย 3 ใบย่อย รูปร่างลักษณะคล้ายหอก ค่อนข้างยาวแต่แคบ ปลายใบเรียวแหลมไม่มี ขนปกคลุม ดอกมีสีเหลือง ช่อดอกประกอบด้วย ดอก 3-4 ดอก อยู่ร่วมที่ปลายกิ่ง ออกดอกได้ทั้งปีแต่ช่วงที่ ออกดอกมากที่สุดอยู่ในเดือนกันยายน ถั่วเวอราโนสไตโลติดเมล็ดได้ดี เมล็ดจะอยู่ในฝัก ฝักละ 1 เมล็ดโดย เมล็ดมี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดฝักบนจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ตรงปลายเป็นขอโคังงอ ส่วนเมล็ดฝักล่างมีเปลือกหุ้ม เมล็ดสีขาว ไม่มีขอ

ถั่วเวอราโนสไตโล เจริญเติบโตได้ในดินหลายชนิด ตั้งแต่ดินทราย จนถึงดินร่วนปนดินเหนียว แต่เจริญเติบโตได้ไม่ดีในดินเหนียวจัด ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีทนต่อการเหยียบยํ่าและมีคุณค่าด้านอาหารสัตว์อยู่ในเกณฑ์ดี

ถั่วเวอราโนสไตโล
ถั่วเวอราโนสไตโล ใบรูปหอก ปลายใบแหลม ไม่มีขน

การปลูกถั่วเวอราโนสไตโลเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

การปลูกถั่วเวอราโนสไตโลเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ควรเลือกปลูกในพื้นที่ดอน มีการระบายน้ำดี ดินควรเป็นดิน ร่วนปนทราย ไม่แห้งแล้ง หรือชื้นแฉะจนมีน้ำขังควรหลีกเลี่ยงปลูกในพื้นที่ที่สภาพดินลูกรัง ดินแตกระแหง ดินเหนียวจัด เค็มจัด หรือ ดินที่แห้งเร็วเกินไปเมื่อหมดฤดูฝน เพราะจะได้ผลผลิตไม่ดี คุณภาพเมล็ดต่ำเก็บเกี่ยวเมล็ดยากแล้วแต่กรณี เกษตรกรควรเริ่มปลูกถั่วเวอราโนสไตโลในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าปลูกล่าช้าจะทําให้ได้ผลผลิตตํ่า เนื่องจากขาดน้ำในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างสร้างเมล็ดพันธุ์

การเตรียมดิน

การเตรียมดินปลูกถั่วเวอราโนสไตโล ต้องทําการไถและคราดปรับหน้าดินให้เรียบสมํ่าเสมอกําจัดวัชพืช และรากพืชต่าง ๆ ออกให้หมด แล้วจึงหว่านเมล็ดพันธุ์

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

เมล็ดถั่วเวอราโนสไตโลมีเปลือกแข็งถ้าปลูกโดยตรงจะงอกช้าหรืองอกไม่พร้อมกันวิธีการทําให้เมล็ด งอกเร็วและสม่ำเสมอคือการเร่งความงอกโดยการแช่เมล็ดถั่วเวอราโนสไตโล รูปที่ 4 แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโลของเกษตรในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 10 นาที ผึ่งลมจนเมล็ดไม่เกาะติดกันแล้วจึงนําเมล็ดไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ จะทําให้เมล็ดกระจายสม่ำเสมอใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัมต่อไร่ จะเป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุด

การจัดการแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์

ถั่วเวอราโนสไตโล มีข้อดีคือเจริญเติบโตได้ค่อนข้างดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ที่ปมรากมีจุลินทรีย์ที่สามารถดึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาใช้เป็นอาหารของต้นถั่วได้ อย่างไรก็ตามถ้าใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสอัตรา 10 กิโลกรัม P2 O5 ต่อไร่ และยิบซั่มอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ จะทําให้ผลผลิตสูงขึ้นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโล สามารถใช้เลี้ยงโค กระบือได้ในช่วงแรกคือก่อนถั่วออกดอกอาจจะปล่อยสัตว์แทะเล็มหรือตัดมาใช้เลี้ยงสัตว์จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมจึงงดใช้ ปล่อยให้ต้นถั่วเจริญเติบโตเต็มที่ จะได้ผลผลิตเมล็ดมาก

ถั่วแกรมสไตโล
ถั่วแกรมสไตโล ใบเป็นใบรวมประกอบด้วย 3 ใบย่อย

การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์

ถั่วเวอราโนสไตโล จะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนกันยายน เมื่อเมล็ดพันธุ์แก่จัดจะร่วงหล่นลงพื้นระหว่าง เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เมล็ดจะร่วงเกือบทั้งหมด จึงเริ่มทําการเก็บเมล็ดพันธุ์ วิธีเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโล มี 2 วิธี คือ

  • การเก็บเมล็ดพันธุ์โดยใช้แรงคน เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์โดยตัดต้นถั่วให้ชิดโคนต้น นําต้นถั่วไปกองสุมไว้ในแปลง เคาะเมล็ดพันธุ์ที่ยังเหลือค้างในต้นให้ร่วงลงดิน จากนั้นกวาดดินที่มีเมล็ดถั่วทั้งหมดรวมกันเป็นกองๆ ใช้ตะแกรงร่อนดินออกจากเมล็ดถั่วตะแกรงร่อนเมล็ดพันธุ์มี 2 ชุด คือตะแกรงหยาบขนาดตะแกรง 3 มิลลิเมตรสําหรับร่อนกากชิ้นใหญ่ๆ ออกก่อน แล้วร่อนดินและหินออกจากเมล็ดโดยใช้ตะแกรงขนาด 1 มิลลิเมตร ฝัดทําความสะอาดเมล็ดพันธุ์อีกครั้งหนึ่งโดยใช้กระด้งหรือพัดลม วิธีนี้เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้มากที่สุด
  • การเก็บเมล็ดพันธุ์โดยใช้เครื่องจักรกล ในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีพื้นที่เรียบหลังจากตัด ต้นถั่วออกแล้ว สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์โดยใช้เครื่องดูดเมล็ดที่ร่วงลงในแปลง จะเก็บเกี่ยวได้เร็วไม่ต้องใช้แรงคน แต่จะได้เมล็ดพันธุ์ที่มีสิ่งเจือปนมากเมล็ดมีความบริสุทธิ์ต่ำและผลผลิตที่ได้จะต่ำกว่าการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงคน

การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์และการเก็บรักษา

ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโลได้เฉลี่ย106 กิโลกรัม (จังหวัด ขอนแก่น พ.ศ. 2532) เนื่องจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ จากดินจะมีการปนเปื้อนมาก ควรทําความสะอาดเมล็ดให้มีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติจะมีความงอกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์หลังจากการเร่งความงอกแล้ว

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโล สามารถเก็บรักษาในภาชนะที่มิดชิดเช่น กระสอบป่าน กระสอบปุ๋ย ถุงผ้า ถุงพลาสติกและถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 ปี ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์จะต้อง มีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

การปลูกและผลิตเมล็ดพันธุ์แกรมสไตโล

ถั่วแกรมสไตโล เป็นถั่วอายุหลายปี ลักษณะการเจริญเติบโตของลําต้นเป็นแบบตั้งตรง หรือกึ่งตั้งตรง มีระบบรากแก้วที่แข็งแรงมากการเรียงตัวของใบเป็นใบรวมที่ประกอบด้วย 3 ใบย่อย ลําต้นสูงกว่า และ ใบกว้างกว่าถั่วเวอราโนสไตโล ให้ผลผลิตสูง และออกดอกติดเมล็ดก่อนถั่วเวอราโนสไตโลเมล็ดมีสีนํ้าตาลแกมเหลือง สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด รวมทั้งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตํ่านอกจากนี้ยังทน ต่อสภาพดินที่เป็นกรด ทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี ทนการแทะเล็มสามารถปลูกในที่ร่มเงาได้ และ มีคุณค่าทางอาหารอยู่ในเกณฑ์ดี

การปลูกแกรมสไตโลเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

การปลูกถั่วแกรมสไตโลเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมไม่เกิน เดือนกรกฎาคม เพื่อให้ถั่วมีการเจริญเติบโตของระบบรากและลําต้นอย่างเต็มที่ก่อนออกดอกถ้าปลูกช้าไป ถั่วมีช่วงเจริญเติบโตสั้น จะได้ผลผลิตต่ำ

การเตรียมพื้นที่ปลูก ให้ไถสองครั้งถือไถครั้งแรกเพื่อกําจัดวัชพืชและไถอีกครั้งเพื่อย่อยดินให้ละเอียด ถ้าดินยังไม่เรียบต้องพรวนหรือคราดจนหน้าดินเรียบ

การเตรียมเมล็ดพันธุื ทําการเร่งความงอกเหมือนปลูกถั่วเวอราโนสไตโล คือ แช่เมล็ดในน้ำร้อน80 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที กรณีที่มีเมล็ดพันธุ์น้อยอาจใช้กระดาษทรายขัดเมล็ดโดยการเทเมล็ดลงบนภาชนะ และใช้กระดาษทรายอย่างละเอียดขัดจนเปลือกเมล็ดสีดำหลุดออกจะช่วยให้เมล็ดพันธุ์งอกเร็วขึ้น

การปลูกถั่วแกรมสไตโลเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ ทําได้ทั้งหว่านและปลูกเป็นแถวให้มีระยะระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร หว่านให้มีระยะห่างมากกว่าปลูกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์

การใส่ปุ๋ยในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ควรใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสอัตรา 10 กิโลกรัม P2 O5 ต่อไร่ต่อปี สําหรับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตาเช่น ดินทรายในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมเพิ่มด้วยทําการกําจัดวัชพืชหลังการปลูกถั่วแล้ว 1 เดือน หลังจากนั้นเมื่อสังเกตว่ามีวัชพืชหนาแน่นให้ทําการกําจัดซ้ำอีก

การเก็บเกี่ยวและผลผลิต

ถั่วแกรมสไตโล เริ่มออกดอกในเดือนสิงหาคม เมล็ดจะสุกแก่และร่วงลงดินเกือบหมดในเดือนธันวาคม ให้เริ่มทําการเก็บเกี่ยวโดยวิธีเดียวกันกับการเก็บเกี่ยวถั่วเวอราโนสไตโล จะได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์โดยเฉลี่ย 200 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดพันธุ์ถั่วแกรมสไตโลจะมีคุณภาพ และมีความงอกสูงกว่าถั่วเวอราโนสไตโล ปกติจะ มีความงอกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

ปอเทือง
ปอเทือง ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ดอกสีเหลือง

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

ถั่วอาหารสัตว์ เป็นอาหารหยาบหลักที่เป็นแหล่งโปรตีนสําคัญของสัตว์เคี้ยวเอื้อง แบ่งตามลักษณะ ทรงต้น เป็น 3 กลุ่ม คือประเภท เถาเลื้อย (ถั่วเซนโตร ถั่วเซอราโตร) ประเภททรงพุ่ม (เวอราโนสไตโล แกรมสไตโล) และประเภทยืนต้น (กระถิน แคบ้าน แคฝรั่ง ไมยรา มะแฮะ)

การปลูกถั่วอาหารสัตว์ อาจจะปลูกเดี่ยว ๆ โดยใช้เมล็ดพันธุ์หว่าน ถั่วเวอราโนสไตโล และถั่วแกรมสไตโล ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ อีกวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมคือ ปลูกผสมกันหญ้า เพื่อใช้เป็นแปลงพืชอาหารสัตว์ ที่มีผลผลิตและมีคุณค่าทางอาหารสูง

ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมปลูกถั่วเวอราโนสไตโล และถั่วแกรมสไตโล เพื่อผลิตเมล็ด เนื่องจากปลูกง่าย ติดเมล็ดพันธุ์ดีเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ง่าย เมล็ดพันธุ์มีความงอกสูง สามารถปลูกเพื่อเก็บเมล็ดไว้ใช้เองหรือ จําหน่ายเมล็ดพันธุ์เป็นรายได้เสริมสําหรับครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2540 กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกและผลิตเมล็ด พันธุ์ถั่วเวอราโนสไตโล จํานวน 59,550 กิโลกรัม และจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกรกิโลกรัมละ 45บาท นอกจากนั้นศูนย์วิจัยอาหารสัตว์และสถานีอาหารสัตว์ต่างๆ จะผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ได้แก่ ถั่วแกรมสไตโล ถั่วเซนโตร ถั่วไมยรา โสน ปอเทือง กระถิน เป็นต้น

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment