มะเขือเทศ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์

มะเขือเทศ

มะเขือเทศ  เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะ “สารไลโคปีน” ที่ทำหน้าที่ปกป้องการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย และป้องกันโรคร้ายต่างๆ

“แววตา เอกชาวนา” นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ อธิบายว่า  “ไลโคปีน” (Lycopene) จัดเป็นสารประกอบที่พบมากในผลไม้สีแดง ได้แก่ มะเขือเทศสุก เกรฟฟรุต แตงโม มะละกอ ส้ม ฝรั่งสีชมพู (ยกเว้นสตรอเบอร์รี่และเชอร์รี่) และโดยเฉพาะในฟักข้าวมีไลโคปีนสูงมาก

คุณสมบัติของไลโคปีนคือจะแตกตัวออกมาจากเนื้อเยื่อได้ดีเมื่อผ่านความร้อน ดังนั้นไลโคปีนในมะเขือเทศจึงเป็นที่นิยมมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น เพราะสามารถนำไปปรุงอาหารเพื่อรับประทานและทำให้ร่างกายของเราได้รับไลโคปีนอย่างเพียงพอในแต่ละวันได้

มะเขือเทศ
มะเขือเทศ ผลกลม สีแดง

กระแสการดื่มน้ำมะเขือเทศ

ปัจจุบันคนรักสุขภาพจำนวนมากหันมาให้ความสนใจเรื่องการดื่มน้ำมะเขือเทศ อาจารย์แววตาแนะนำว่าการดื่มน้ำมะเขือเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น มีให้เลือก 2 แบบ คือ ดื่มก่อนอาหาร (ท้องว่าง) โดยหยดน้ำมันลงในน้ำมะเขือเทศเพื่อช่วยในการดูดซึมของร่างกาย และดื่มหลังอาหาร เช่น เรากินก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวผัด ในอาหารเหล่านี้จะมีน้ำมันอยู่แล้ว ก็สามารถดื่มน้ำมะเขือเทศตามได้ทันที โดยไขมันในอาหารที่กินเข้าไปจะช่วยในการดูดซึมไลโคปีนได้ดีมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้น้ำมะเขือเทศยังให้พลังงานต่ำ น้ำตาลน้อย ดื่มแล้วไม่อ้วน ผู้ป่วยเบาหวานจึงสามารถรับประทานได้

น้ำมะเขือเทศ
น้ำมะเขือเทศ สีส้มแดง เนื้อมะเขือเทศเข้มข้น

ผู้ป่วย “โรคไต” ไม่ควรดื่มน้ำมะเขือเทศ

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ในมะเขือเทศมีสารโพแทสเซียมสูงมาก สำหรับคนที่เป็นโรคไตและผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงก็ต้องหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง อย่างคนปกติควรดื่มน้ำมะเขือเทศแค่ 2 แก้วหรือ 2 กล่องต่อวัน ร่างกายจะสามารถขับโปแตสเซียมออกหมด สำหรับการเลือกดื่มน้ำมะเขือเทศแบบกล่อง ให้ระวังการเพิ่มโซเดียม จึงควรเลือกที่มีปริมาณโซเดียมต่ำเพราะในมะเขือเทศเองก็มีโซเดียมจากธรรมชาติอยู่แล้ว หากเรากินเค็มมากไปจะทำให้ติดและทำให้เราไปกินอาหารอื่นๆ รสเค็มด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้

การกินมะเขือเทศอย่างไร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นักโภชนาการแนะนำว่า สำหรับ ผู้หญิง ให้กินมะเขือเทศแบบสดเพราะมีไวตามินซี และใยอาหาร ที่จะช่วยทำให้ผิวพรรณดี เต่งตึง ส่วนผู้ชายนั้น ให้เน้นแบบสุก เพราะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนั้นถ้าครอบครัวไหนมีลูกผู้ชาย ก็สามารถฝึกให้เด็กกินมะเขือเทศตั้งแต่เล็กๆ เพื่อเป็นการปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเขา

นอกจากนี้การกินมะเขือเทศสด (ผ่านความร้อน) ดีกว่าการกินน้ำมะเขือเทศ เพราะเราจะได้ทั้งใยอาหารและสารอาหารอื่นมากขึ้นด้วย

แนะนำมือใหม่ฝึกกิน “มะเขือเทศ”

สำหรับคนที่ไม่ชอบกินมะเขือเทศ มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยฝึกให้เริ่มกินได้ โดยการทำน้ำมะเขือเทศด้วยตัวเอง เริ่มต้นจากการนำมะเขือเทศมาผ่านความร้อน ด้วยการจุ่มน้ำร้อน ประมาณ 20 – 30 วินาที แล้วลอกเปลือกออก จากนั้นนำไปปั่นใส่น้ำแข็งหรือโยเกิร์ตตามความชอบ หรืออาจจะผสมน้ำส้มสด น้ำมะนาว น้ำผลไม้อื่นๆ หรือน้ำผึ้งนิดหน่อยให้มีรสเปรี้ยว รสหวาน เข้ามาผสม ก็จะทำให้กินง่ายขึ้น

ส่วนเด็กๆ นั้น ต้องฝึกกันหน่อย  เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบกินผักจะต่อต้าน และทำให้ติดนิสัยมาจนโต ดังนั้นมีวิธีแก้ง่ายๆ คือ นำเอาเมล็ดมะเขือเทศออกก่อน แล้วทำอาหารอะไรก็ได้ที่เด็กชอบ สำคัญที่สุดเลย พ่อแม่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกนะคะ ในการรับประทานอาหารทุกครั้ง อย่าเขี่ยผักออกให้ลูกเห็นเด็ดขาด เพราะถ้าพ่อแม่ไม่กินผัก ลูกก็จะไม่อยากกินผักแน่นอน ดังนั้นเรารู้ดีว่าผักมีประโยชน์ การที่เราปลูกฝังลูกตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้เขาได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จริงๆ ไปจนโต

เนื้อมะเขือเทศ
เนื้อมะเขือเทศ เนื้อสีแดง มีเมล็ดมีเป็นจำนวนมาก

สรรพคุณทางยาของหมากเขือเทศ

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ : ในผลมะเขือเทศมีสารจำพวก แคโรทีนอยด์ ชื่อไลโคพีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารสีแดง และวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน บี 1 บี 2 วิตามิน เค โดยเฉพาะวิตามิน เอ และวิตามิน ซี มีในปริมาณสูง มีกลดมาลิค กรดซิตริก ซึ่งให้รสเปรี้ยว และมีกลูตามิค (Glutamic) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารเบต้าแคโรทีน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไลโคปีนก็เหมือนสารอาหารชนิดอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการในปริมาณจำกัดและเพียงพอต่อวัน ถ้าเรากินมากเกินไปร่างกายก็จะขับออกมาถือว่าไม่มีประโยชน์ และอีกอย่างไลโคปีนนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค เราต้องกินอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จึงจะมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากินแบบผสมผสานกัน ร่างกายของเราก็จะได้รับสารอาหารอย่างสมดุล

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com, https://th.anngle.org

4 Comments

Add a Comment