ผักและสมุนไพรพื้นบ้าน พืชมีประโยชน์

กินพืชให้ได้ประโยชน์

หลายคนหันมากินพืช กินผักกันมากขึ้น เนื่องจากกระแสเรื่องสุขภาพกำลังมาแรง ในการกิน ”พืช” ที่นอกจากกินได้ ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย พืชที่ว่านี้หมายถึง พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ใกล้ตัวเรา ผลไม้ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น อีกทั้งพืชเหล่านี้ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายอีกด้วย วันนี้เรามี 5 พืชที่มีประโยชน์และมีสรรพคุณทางยามากมายมาฝากกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

1. กะเพรา

จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งตำรับยาไทยและต่างประเทศก็ระบุว่ากะเพราเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน อย่างตำราสมุนไพรไทยบ้านเราก็บรรยายสรรพคุณของกะเพราเอาไว้ว่า รสฉุน ร้อน ช่วยขับลม จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น

ส่วนต่างๆ ของกระเพรามีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ใบกะเพรา ใช้ในการประกอบอาหาร และช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น ผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน หรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารเมนูต่าง ๆก็ได้ โดยใบกระเพรา มีเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย ช่วยบำรุงสายตา และป้องกันการเสื่อมของสายตาก่อนวัยอันควร มีเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันนอกจากนี้ ใบกะเพรายังสามารถใช้ไล่ยุง ด้วยการใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด เอาใบมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ๆ จะช่วยไล่ยุงและแมลงได้ โดยน้ำมันกะเพราะที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้
  • ราก และต้น มีรสเผ็ดร้อน สามารถนำมาต้มน้ำกินเป็นยาขับเหงื่อ ในคนไข้มาลาเรีย แก้พิษตานซาง แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ
กะเพรา
กะเพราแผ่นใบสีเขียว มีขนสีขาว

2. กล้วย

มีอยู่หลากหลายสานพันธุ์ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหักมุก เป็นต้น

ส่วนต่างๆ ของกล้วยมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ผลกล้วย โดยเฉพาะกล้วยสุก เมื่อทานเข้าไปแล้ว จะเป็นยาระบายอย่างดีเพราะมีสารเพคตินอยู่สูง การกินกล้วยต้องเคี้ยวให้ละเอียด  ทำให้ย่อยง่าย ท้องไม่อืด และผู้ที่เป็นโรคกระเพาะหรือกระเพาะอักเสบ การรับประทานกล้วยบ่อย ๆ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะกล้วยมีสภาพเป็นกลาง มีความนิ่มและเส้นใยสูง โดยการกินกล้วยจะให้ดีที่สุดคือ กินตอนเช้า จะช่วยให้ระบบต่าง ๆในร่างกายทำงานได้ดี

  • ใบกล้วย (ใบตอง) ใช้ห่ออาหารหรือใช้เป็นภาชนะห่ออาหาร ภาคเหนือนิยมมากที่จะนำใบตองมาห่ออาหาร เช่น ห่อหมก นอกจากนั้น ยังนำเอาใบกล้วยมาประดิษฐ์เป็นงานฝีมือเช่น ทำกรวยดอกไม้ ทำกระทง ทำบายศรี เพื่อใช้ในการสู่ขวัญเป็นต้น

  • กาบกล้วย สมัยก่อนมีการนิยมทำเป็นเชือกกล้วยที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเหนียว เส้นใยจากกาบกล้วยสามารถใช้ทอเป็นผืนผ้า ใช้ทำกระดาษ และยังเป็นอาหารที่สุกรชอบมาก ใช้ทำกระทงเพื่อนำไปลอย ในงานวันลอยกระทง

  • หัวปลีกล้วย มีธาตุเหล็กมากใช้รักษาโรคโลหิตจาง นำมาแกงกินบำรุงน้ำนมในแม่ลูกอ่อน ใช้คั้นน้ำดื่มแก้ปวดท้อง แก้โรคเบาหวาน  ก้านกล้วย มีสารแทนนินใช้ห้ามเลือดได้

กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า ผลรี ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก เนื้อในมีสีขาว

3. กระเจี๊ยบเขียว

มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะ เช่น ความสูงของต้น ความยาวของฝัก สีของฝัก หรือจำนวนเหลี่ยมบนฝัก คนสมัยก่อนนิยมนำฝักอ่อนหรือผลอ่อนไป ต้ม หรือ ต้มราดกะทิสด หรือกินคู่กับน้ำพริกกะปิ ปลาทู

ส่วนต่างๆ ของกระเจี๊ยบเขียวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ฝักกระเจี๊ยบเขียว (ผล) มีเส้นใยอยู่มาก จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ โดยช่วยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ กระเจี๊ยบเขียวจึงเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในฝักกระเจี๊ยบเขียวจะมีสารที่เป็นเมือก ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลได้เป็นอย่างดี และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

  • เปลือกต้นกระเจี๊ยบ สามารถนำมาใช้ทอกระสอบ ทำเชือก เชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ ใช้ถักทอเป็นผ้าได้ หรือทำเป็นกระดาษ ลังกระดาษก็ได้

    ทั้งนี้ ส่­­­วนอื่นๆ เช่น ดอกอ่อน และรากกระเจี๊ยบ สามารถรับประทานได้ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก

    กระเจี๊ยบเขียว
    กระเจี๊ยบเขียว ผักยาวสีเขียว

4. บัว

อีกหนึ่งพืชที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน โดยส่วนต่าง ๆ ของ “บัว” นั้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เป็นทั้งยา และอาหารได้อย่างดี

ส่วนต่างๆ ของบัวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ดอกบัว ประชาชนนิยมนำไปบูชาพระมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น เพราะดอกบัวสามารถคงความงามไว้ได้นาน  กลีบ มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เมล็ดบัว เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารหลายชนิด สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง ยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน หรือนำไปบดเป็นแป้งกวนทำไส้ขนมก็ได้ ใยบัว สามารถนำมาทอเป็นผ้า ที่เรียกกันว่า “ผ้าใยบัว”
  • เกสรบัว มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด ปัจจุบันมีการนำเกสรบัวมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิวพรรณอีกด้วย ดีบัว มีสารเนเฟอรีน (neferine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ สามารถขยายหลอดเลือดและช่วยให้นอนหลับง่าย ใบบัว นำมาเป็นภาชนะห่ออาหาร หรือทำเป็นข้าวห่อใบบัว ส่วนใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นฝอย ๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
  • ก้านบัว นำมาตากแห้ง สามารถใช้แทนยากันยุงหรือใช้ทำเชื้อเพลิง และสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษได้เช่นเดียวกับกระดาษสา เหง้าบัว เป็นลำต้นใต้ดินสำหรับสะสมอาหาร ขนาดใหญ่ อ้วน มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน กระหายน้ำและอีกหนึ่งส่วนประกอบของบัวที่หลายคนรู้จักคือ ไหลบัว มีใยอยู่มาก เมื่อเด็ดหรือหั่นจะสังเกตเห็นสายใยที่ยืดยาวออกมา หากไม่กำจัดทิ้งไป เวลากินจะกินลำบาก เคล็ดลับการกำจัดเยื่อใยของไหลบัวคือ เมื่อเด็ดหรือหั่นเสร็จแล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ แล้วใช้ตะเกียบมาคนวนในกะละมังให้ทั่ว จะเห็นว่ามีใยของไหลบัวติดออกมา ให้คนไปเรื่อยๆ จนกว่าใบไหลบัวจะไม่ติดขึ้นมา ส่วนสรรพคุณของไหลบัวนั้น ตามตำราสมุนไพรไทย ช่วยแก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ มีเส้นใยอาหารมาก จึงช่วยแก้โรคท้องผูกได้
บัว
บัว ดอกเป็นดอกขนาดใหญ่ ก้านดอกสีเขียว

5. สะเดา

สมุนไพรพื้นบ้านที่แม้จะมีรสขม แต่มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น สร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี เป็นต้น

ส่วนต่างๆ ของสะเดามีประโยชน์อย่างไรบ้าง

  • ดอกสะเดา เป็นที่นิยมนำมารับประทานกันมากในทุกๆภาค โดยนิยมกินยอดใบอ่อน และดอกอ่อนที่เริ่มแทงออกหลังการผลิใบ โดยเฉพาะพันธุ์ที่ให้รสขมน้อย และมีรสอมหวานเล็กน้อย การรับประทานสามารถกินได้ทั้งดิบ และสด โดยเฉพาะนิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในอาหารเพื่อให้มีรสขมเล็กน้อย

    นอกจากนี้ สะเดา ยังจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ที่เจริญเติบโตได้เร็ว เป็นไม้ที่มีประโยชน์ในหลายด้าน ปัจจุบันนิยมปลูกเพื่อจำหน่ายดอก บริโภคดอก และเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้สำหรับการแปรรูป โดยเฉพาะ ลำต้น ทำเสาโรงเรือน เสาล้อมรั้ว ซึ่งจะใช้ประโยชน์ของลำต้นทั้งต้น รวมถึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นไม้ฝาหรือประตูบ้าน ไม่วงกบ และเฟอร์นิเจอร์

    เนื่องจาก เปลือกของสะเดา มีสารบางชนิดที่ให้รสฝาด และน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค เครื่องสำอาง และการทำสบู่ รวมถึงส่วนผสมในยากำจัดศัตรูพืช และน้ำมันที่สกัดได้จาก เมล็ดสะเดา ซึ่งจะได้น้ำมันประมาณ 40% ของน้ำหนักเมล็ด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเชื้อเพลิง หรือน้ำมันหล่อลื่น

สะเดา
สะเดา ใบเป็นช่อแบบขนนก ดอกสีขาว

พืชแต่ละชนิดให้ประโยชน์ต่างกัน การศึกษาข้อมูลในการบริโภค หรือนำใช้ประโยชน์ก่อน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อีกทั้งควรสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน ได้เข้าถึงพืช หรือสมุนไพรไทย ได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นกำเนิด จนถึงการนำมาใช้ประโยชน์ เพื่ออนุรักษ์พืชพันธุ์เหล่านี้ให้คงอยู่ในอนาคตต่อไป

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
www.thaihealth.or.th
www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment