การปลูกกล้วย
ปัจจุบันความต้องการกล้วยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่ทุกคนรู้จักดี เพราะปลูกง่ายโตเร็ว เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่าและกล้วยตานี กล้วยน้ำว้าถือได้ว่ารับความนิยมอย่างแพร่หลาย หากนำมาบริโภคจะให้คุณค่าทางอาหารมากกว่ากล้วยไข่และกล้วยหอม จะเห็นได้ว่าแถวชนบทหรือนอกเมืองจะนำกล้วยมาบดให้กับเด็กรับประทาน กล้วยน้ำว้าที่เริ่มสุกไปจนถึงสุกจะมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง เป็นตัวช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น ทำอาหาร ทำยารักษาโรคได้ กล้วยน้ำหว้าถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีทั้งประโยชน์และสรรพคุณมากมาย กล้วยน้ำว้าสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง ไปดูกันค่ะว่า วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า นั้นมีวิธีการปลูกกี่วิธี วิธีปลูกอย่างไรบ้าง
1. การเพาะเมล็ด
การขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นวิธีธรรมชาติดั้งเดิมของการขยายพันธุ์กล้วยที่มีเมล็ดมากอย่างกล้วยตานีและกล้วยน้ำว้าบางพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยเมล็ดนี้ แต่เดิมชาวสวนจะนำเมล็ดแก่จากผลกล้วยที่แก่เต็มที่มาเพาะ แต่เนื่องจากเมล็ดกล้วยมีเปลือกที่หนามากทำให้การเพาะเมล็ดต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 1-4 เดือน จึงจะงอกให้เห็นต้นอ่อน ทำให้การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปจนเกือบไม่มีชาวสวนคนใดใช้วิธีขยายพันธุ์กล้วยโดยวิธีการเพาะเมล็ดอีกแล้ว นอกจากนี้นักวิชาการที่เพาะเมล็ดเพื่อการศึกษา

วิธีเพาะเมล็ด
เตรียมวัสดุ
- เมล็ดกล้วย
- ดินพร้อมปลูก
- ภาชนะสำหรับปลูกเช่น ขวดน้ำ ถุงเพาะชำ เป็นต้น
ขั้นตอนการเพาะ
- นำเมล็ดกล้วยแช่น้ำอุ่นหนึ่งคืน รุ่งเช้าเลือกเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ จะได้มีอัตราการงอกมาก
ขึ้น - ใช้คีมตัดเล็บคีบที่หัวเมล็ดให้เป็นรู
- นำเมล็ดมาฝังในภาชนะที่ใส่ดินพร้อมปลูกพอจมดิน
- รดน้ำให้ชุ่ม นำตั้งในที่ร่ม โดยไม่ต้องรดน้ำรอจนกว่าจะงอก
- เมื่อกล้วยเริ่มงอกนำออกมาจากภาชนะ แล้วนำมาเพาะชำในกระถางพอแข็งแรงดีนำปลูกลงดินต่อไป


2. การใช้หน่อ
การขยายพันธุ์ด้วยการใช้หน่อ ปกติกล้วยมีการแตกหน่อจากตาข้างของต้นแม่ หน่อกล้วยมี 3 แบบใหญ่ๆ คือ
- หน่ออ่อน (peeper) เป็นหน่ออ่อนมาก เกิดจากต้นแม่ที่ยังมีส่วนประกอบต่างๆ ไม่ครบ ส่วนของลำต้นเล็กมักจะอ่อนแอ ไม่เหมาะในการนำไปขยายพันธุ์
- หน่อใบแคบ หรือ ใบดาบ (sword sucker) เป็นหน่อที่มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ หรือมีส่วนของลำต้นใหญ่ จึงมีอาหารสะสมมาก หน่อชนิดนี้นิยมนำไปปลูกเพราะจะได้ต้นที่แข็งแรง
- หน่อใบกว้าง หน่อชนิดนี้มีโคนหน่อหรือลำต้นเล็ก ใบคลี่โตกว้าง ไม่เหมาะที่จะนำไปปลูก เพราะมีอาหารสะสมในลำต้นน้อย ต้นที่ปลูกจากหน่อชนิดนี้จึงไม่แข็งแรงนอกจากหน่อทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว อาจใช้ต้นแม่ซึ่งมีตาติดอยู่ มาผ่าเป็นชิ้นๆ และชำก็ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก


3. การผ่าหน่อกล้วย
เป็นวิธีการขายพันธุ์ที่ทำให้ได้ต้นกล้วยมากกว่า 1 ต้น อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่าย มีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก
ขั้นตอนการผ่าหน่อกล้วย
- นำหน่อกล้วยอายุ 3 เดือนที่ยังไม่มีเครือกล้วย มาตัดต้น ตัดราก ตกแต่งเหง้าให้สวย
- แบ่งหน่อหรือเหง้าเป็น 2 ส่วน นำแต่ล่ะส่วนแบ่งออกเป็น 3 -4 ชิ้น ชิ้นล่ะ 2 นิ้ว ตกแต่งให้สวยแล้วไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อราประมาณ 5 นาที
- นำถุงดำที่เตรียมไว้มาใส่ขี้เถ้าแกลบครึ่งหนึ่งจากนั้นนำชิ้นหน่อหรือเหง้าของกล้วยที่แช่ยาฆ่าเชื้อราใส่ลงในถุงดำโดยคว่ำส่วนเนื้อลง
- กลบขี้เถาแกลบไปบนชิ้นส่วนหน่อหรือเหง้า แล้วรดน้ำทุกเช้า ประมาณ 45 วัน เพียงเท่านี้ก็จะได้ต้นพันธุ์กล้วยที่แข็งแรงประมาณ 4 – 12 ต้น ให้ได้นำไปปลูกไว้รับประทาน



4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นวิธีที่ขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น จากหน่อที่สมบูรณ์ 1 หน่อ อาจขยายได้ถึง 10,000 ต้น ในเวลา 1 ปี ถ้าหากมีการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการส่งออก เพราะว่าการส่งออกต้องการจำนวนต้นปลูกที่มีขนาดสม่ำเสมอ ปลูกพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลได้พร้อมๆ กัน และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันขึ้นไป สำหรับบรรจุ ใส่ตู้ขนส่งในการส่งออก เนื่องจากการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนั้น ถ้ามีจำนวนน้อยจะไม่เพียงพอกับการส่งออก และไม่คุ้มกับการลงทุน
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะดี แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลง ลูกโตให้หวีต่อเครือมาก
- ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
- นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
- นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10-15 นาที
- ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
- ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
- หลังจากนั้นจึงเขียนรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี รหัส แล้วนำไปพักในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป


ขั้นตอนการย้ายเนื้อเยื่อออกปลูก
- ทำหลุมเล็กๆ ในวัสดุปลูกภายในถาดหลุม
- ใช้ปากคีบจับโคนต้นพืช นำลงปลูก
- กลบวัสดุปลูกให้มิดรากหรือมิดโคนต้นพอดี เพราะ ถ้ารากโผล่พ้นวัสดุปลูกสัมผัสกับอากาศ อาจทำให้รากและต้นพืชเหี่ยวได้


5. การปลูกกล้วยกลับหัว
การปลูกพืชกลับหัวหรือการปลูกกล้วยกลับหัวนั้นจะมีวิธีการปลูกที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับการปลูกพืชแบบปกติ จะแตกต่างกันตรงที่การปลูกพืชกลับหัวจะเป็นการนำในส่วนของด้านที่เป็นยอดปักลงไปในดินแทนส่วนของราก หรืออาจจะวางแบบตะแคง เฉียงก็สามารถปลูกได้เหมือนกัน หากพื้นที่นั้นเพียงพอ
ขั้นตอนการปลูกกล้วยกลับหัว
- นำลำต้นของกล้วยที่จะปลูก ที่มีรากติดอยู่ มาตัดให้ได้ความยาวพอเหมาะหรือความยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร
- ขุดหลุมในพื้นที่ที่ต้องการปลูกกล้วยกลับหัวความลึกของหลุมประมาณ 25 เซนติเมตร หรือให้กลบหลุมแล้วกลบกล้วยพอดี
- นำลำต้นของกล้วยกลับหัวแล้วนำด้านที่เป็นยอด ฝังลงในดิน
- กลบดินลงในหลุมให้ทั่วทั้งหลุมปิดลำต้นและปิดรากของกล้วย


ขั้นตอนการปลูกกล้วยและการดูแลรักษา
- ควรเตรียมหลุมปลูก กว้างxยาวxลึก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น
- ระยะการปลูก กล้วยน้ำว้าใช้ระยะ 3×3 เมตร จะปลูกได้ 200 ต้นต่อไร่ แต่กล้วยหอมทองใช้ระยะ 2×2 เมตร ปลูกได้ 400 ต้นต่อไร่
- การให้น้ำในระยะแรกควรให้น้ำวันเว้นวัน หลังจากกล้วยสามารถตั้งตัวได้แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- การใส่ปุ๋ย ในระยะแรกนิยมใช่ปุ๋ยคอกและหลังจากการปลูกได้ 2 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 60 กรัมต่อต้น ทุกเดือนหลังจากกล้วยออกปลีแล้ว จะใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 500 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังจากครั้งแรก 1 เดือน
- การกำจัดวัชพืช สามารถกำจัดได้หลายวิธี คือ
– วิธีกล ได้แก่การถอน ตายหรือการถากด้วยจอบ ควรทำการกำจัดก่อนที่วัชพืชจะออกดอก
– วิธีเขตกรรม โดยการปลูกพืชแซมที่มีระบบรากตื้นและสามารถ ใช้ลำต้นเป็นปุ๋ยได้ เช่นพืชตระกูลถั่ว
– ใช้วิธีคลุมดินโดยคลุมหน้าดินด้วยใบกล้วยหลังการตัดแต่งใบ ใช้ฟางข้าวคลุมตั้งแต่เริ่มปลูก - การตัดแต่งหน่อ หลังจากการปลูกกล้วยได้ 3-4 เดือนให้ตัดหน่อทิ้งจนกว่ากล้วยจะเริ่มออกปลีหลังจากกล้วยมี อายุ 7 เดือน จึงเริ่มไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกัน 4 เดือน เพื่อให้ผล กล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกหน่อที่อยู่ตรงข้ามกัน หากหน่อที่ตัดมีขนาดใหญ่มาก ให้ใช้วิธีการทำลายโดยหยอดน้ำมันก๊าดลงบนหยอดประมาณ 1/2 ช้อนชา
- การตัดแต่งใบจะเริ่มตัดแต่งใบ ในช่วงกล้วยอายุประมาณ 5 เดือน หลังจากการปลูกโดยเลือก ตัดใบที่แก่เป็นโรค ออกให้เหลือ 9-12 ใบ/ต้น
- การตัดปลี ให้ทำการตัดปลีกล้วยทิ้งหลังจากปลีบานต่อไป จนหวีตีนเต่าอีก 2 ชั้น เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
- การค้ำกล้วย นิยมค้ำในกล้วยหอมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการหักกลางลำต้น หลังจากการตกเครือ ควรค้ำบริเวณเครือหรือใช้ไม้ดามลำต้นโดยตรง


โรคและแมลง
- โรคตายพราย เกิดจากการเชื้อรา มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบ ล่างหรือใบแก่ก่อนตามมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง ป้องกันกำจัดโดยตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาหรือก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- ด้วงงวงไชเหง้า ระยะตัวหนอนจะกัดกินชอนไชอยู่ในเหง้ากล้วย พบการทำลายทุกระยะตั้งแต่หนอถึงต้นแก่ จะทำให้กล้วยตายได้ ป้องกันกำจัดโดยทำความสะอาดสวน โดยเฉพาะโคนกล้วยอย่ามีชิ้นส่วนของต้นพืชเน่าเปื่อย และก่อนที่จะนำหน่อเพื่อมาปลูกควรแช่น้ำยาฆ่าแมลง 1 คืนต่อน้ำ 50 ส่วนก่อนปลูกหรือฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย และน้ำส้มควันไม้เป็นประจำ
- เพลี้ยหอย จะเข้าทำลายในช่วงออกเครือจะจับตามผลกล้วยและเกิดราดำ การป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วย น้ำส้มควันไม้ เดือนละ 1 ครั้ง

การเก็บเกี่ยว
กล้วยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากการตัดปลีแล้ว 3-4 เดือน หรือผลแก่เต็มที่ คือลักษณะผลกลมไม่เป็นเหลี่ยม จุกที่ปลายผลเริ่มหลุดร่วง ถ้าปลูกแบบเศรษฐกิจให้ทำการคลุมเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันใบกล้วยเสียดสีกับผลกล้วยเมื่อมีลมพัดและช่วยป้องกันโรคแมลงได้ด้วย

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับเรื่องกล้วย การปลูกกล้วย พันธุ์กล้วย การแปรรูปกล้วย เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.is.udru.ac.th, www.aopdt01.doae.go.th, www.doa.go.th
ภาพประกอบ : www.thailandseedshop.com, www.pantip.com, www.youtube.com, ร้านคณิตศรพันธุ์ไม้, FB เกษตร อินเตอร์เชียงใหม่, www.farmchannelthailand.com, www.กฏหมายไทย.com, www.fourfarm.com, www.kasetban.blogspot.com, www.pptvhd36.com
ปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยอ่อง
วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้าแบบง่ายๆ