โรคและแมลงศัตรูกล้วยพร้อมวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูกล้วย

โรคกล้วย

โรคกล้วย เป็นโรคที่พบได้ง่าย ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุเล็กๆ ของความไม่สม่ำเสมอในการดูแลกล้วย ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของ แมลงศัตรูพืชของกล้วยตามมา ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี วันนี้เกษตรตำบลมีความรู้เกี่ยวกับโรคของกล้วย พร้อมการป้องกันและกำจัดศัตรูกล้วยมาฝาก จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

โรคและแมลงศัตรูกล้วย
โรคและแมลงศัตรูกล้วย

โรคของกล้วย มีดังนี้

  1. โรคตายพราย เกิดจากเชื้อรา มักจะเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อน ตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน ต่อมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง และขยายออกไปอย่างรวดเร็วจนเหลืองทั่วใบ ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้หรือตายนึ่งและบิดเป็นคลื่น ใบกล้วยจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ ใบยอดจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก ต่อมาก็ตายไปเช่นกัน กล้วยที่ตกเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ หรือแก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามจืด บางครั้งพบใบกล้วยหักพับที่โคนใบโดยไม่แสดงอาการใบเหลือง หรือเหลืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะพบว่าเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจมีเส้นใยของเชื้อราให้เห็นบ้าง

    การป้องกันและกำจัด
    1.1) โรคนี้เป็นมากกับกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทอง ควรปลูกกล้วยไข่หรือกล้วยหักมุกแทน
    1.2) ในพื้นที่ปลูกอย่าให้มีน้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้กล้วยเจริญได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนแอเป็นโรคง่าย โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จะต้องใช้ปูนขาวปรับสภาพดินให้เป็นกลางเสียก่อน
    1.3) ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาทิ้ง
    1.4) ใส่ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุฟอสเฟตและโปแตสเซี่ยมสูง และไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมาก
    1.5) คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากแหล่งที่ไม่มีโรคนี้หรืออย่างน้อยจากกอที่ไม่เป็นโรค

  2. โรคเหี่ยวของกล้วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบอาการเหี่ยวบนใบอ่อน ๆ ของกล้วย และมีอาการ หักตรงก้านใบ อาการเหี่ยวจะระบาดอย่างรวดเร็ว หน่อกล้วยที่กำลังจะแตกยอดมีสีดำ ยอดบิดและแคระแกร็นและ จะตายในที่สุด แสดงอาการคล้ายโรคตายพราย แต่เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง พบบริเวณไส้กลางต้นและจะขยายไปยังกาบ ก้านใบ และไปยังเครือกล้วย ผล หน่อ ตา กล้วยจะเหลืองและตายในที่สุด ภายในจะพบเนื้อเยื่อเน่าตายเห็นเป็นช่องว่าง เมื่อตัดกล้วยอ่อนที่เป็นโรคแช่น้ำในน้ำ จะพบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุ เป็นน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาผลจะเน่าดำ

    การป้องกันและกำจัด
    ใช้หน่อกล้วยที่ไม่มีโรคทำพันธุ์ ระวังไม่ให้เกิดผลกับลำต้นกล้วย แช่หน่อกล้วยที่ถูกตัดแต่งในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนปลูก

  3. โรคใบจุดของกล้วย เกิดจากเชื้อหลายชนิด แต่ละชนิดแสดงอาการบนใบแตกต่างกัน ดังนี้

    3.1) ลักษณะอาการเป็นขีดสีน้ำตาลแดงสั้น ๆ ขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งกระจายไปทั่วทั้งใบและขยายไปทางกว้าง ทำให้เกิดอาการใบจุด และแผลลามติดต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้ โดยมากเกิดจากริมใบ เข้าไป แผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม พบทุกระยะการเจริญเติบโต โดยมากเป็นกับกล้วยน้ำว้า ทำให้จำนวนหวีน้อยลง ขนาดผลเล็กลงการป้องกันและกำจัด ตัดใบกล้วยที่เป็นโรคนำไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ ผสมสารจับใบฉีดพ่น 2-3 ครั้งต่อเดือน หรือใช้สารเคมีแมนโคเซบ หรือเบนโนมิลผสมไวท์ออยย์ฉีดพ่น

    3.2) ลักษณะอาการใบจุดรูปไข่สีน้ำตาล มักเกิดกับกล้วยไข่ บนใบจะเห็นแผลมีลักษณะรูปไข่สีน้ำตาล ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อนปนเทาถัดเข้ามามีเส้นวงสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลอีกชั้นหนึ่ง การแผ่ขยายของแผลจะเป็นไปตามความยาวของเส้นใบ การป้องกันและกำจัด ตัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ หรือแคปแทน

    3.3_ ลักษณะอาการใบจุดกลมรี ทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ แผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยบริเวณสีเหลือง ตรงกลางแผลมีส่วนสปอร์ของเชื้อราสีดำเกิดเรียงเป็นวงมักเป็นกับกล้วยน้ำว้า

    การป้องกันและกำจัด
    ให้ตัดใบกล้วยที่เหี่ยวแห้งคาต้นไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ

  4. โรคยอดม้วน เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงพาหะได้แก่ แมลงประเภทปากดูดทุกชนิด ได้แก่ เพลี้ยต่าง ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายติดไป กับหน่อหรือส่วนขยายพันธุ์ต่าง ๆ อาการที่พบคือ ในระยะแรก ๆ จะปรากฎรอยขีดสีเขียว และจุดเล็ก ๆ ตามเส้นใบ และก้านใบ ใบถัด ๆ ไปจะมีขนาดเล็กลง สีเหลือง ใบม้วนที่ปลาย เมื่อโรคนี้ระบาดมากขึ้น ต้นกล้วยจะแคระแกร็น ใบขึ้นรวมกันเป็นกระจุก ดอกและปลีของต้นที่เป็นโรคจะเจริญเติบโต อย่างช้า ๆ เมื่อเกือบจะโผล่จะพองโตขึ้น บางคราวเมื่อโผล่ออกมาที่ยอด ทำให้ยอดปริ เครือเล็ก จนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าต้นกล้วยเป็นโรคทุก ๆ หน่อที่เกิดมาก็จะเป็นโรคด้วย

    การป้องกันและกำจัด
    ทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นที่เป็นโรคหรือกอที่สงสัยจะเป็นโรค โดยสังเกต จากอาการดังกล่าวข้างต้น

โรคกล้วย
โรคใบจุดของกล้วย

แมลงศัตรูกล้วย

แมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ ได้แก่

  1. ด้วงงวงไชเหง้า ด้วงชนิดนี้ในระยะที่เป็นหนอนทำความเสียหายแก่ต้นกล้วยมากที่สุด ตัวแก่ก็ทำความเสียหายเหมือนกันแต่น้อยกว่า ตัวหนอนเจาะกัดกินไชชอนอยู่ภายในเหง้ากล้วย ซึ่งโดยมากกินอยู่ใต้ระดับดินโคนต้น ซึ่งไม่สามารถมองเห็นการทำลายหรือร่องรอยได้ชัด การทำลายของหนอนทำให้ระบบการส่งน้ำ และอาหารจากพื้นดินขึ้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไป เมื่อเป็นมาก ๆ หรือแม้มีหนอนเพียง 5 ตัว ในเหง้าหนึ่ง ๆ เท่านั้น ก็สามารถไชชอน ทำให้กล้วยตายได้ พบการทำลายได้ทุกระยะ ตั้งแต่หน่อไปจนถึงต้นแก่ ภายหลังตัดเครือแล้ว ตัวหนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเข้าเป็นดักแด้จนเป็นตัวแก่ จะออกมาอยู่นอกเหง้า แถวโคนต้นในระดับชิดผิวดิน หรือต่ำกว่าเล็กน้อย หรือรอผสมพันธุ์กันต่อไป

    การป้องกันและกำจัด
    ทำความสะอาดสวน อย่าปล่อยให้รกรุงรัง โดยเฉพาะเศษชิ้นส่วนของลำต้นกล้วย กาบกล้วย ซึ่งเน่าเปื่อยชื้นแฉะแถวโคนต้น เป็นที่วางไข่ของตัวเมีย หรืออาจใช้วิธีตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ๆ วางสุมเป็นจุด ๆ ในสวน เพื่อล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง ให้เปิดตรวจดูในเวลากลางวัน ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลาย โดยการใช้สารฆ่าแมลง เช่น เฮ็พตาคลอร์ผสมตามสูตรที่ระบุในฉลากยาราดส่วนโคนต้นและบริเวณดินรอบโคนต้น สำหรับหน่อพันธุ์ควรเลือกหน่อที่แข็งแรงไม่มีโรคแมลงติดอยู่ และแช่ในน้ำยาดีลดริน 25% ในอัตราส่วนผสมคือ น้ำยา 1 ส่วน ต่อน้ำ 50 ส่วน แล้วแช่หน่อพันธุ์ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนนำไปปลูก

  2. ด้วงงวงเจาะต้น หรือด้วงงวงไชกาบกล้วย ด้วงชนิดนี้เป็นศัตรูที่มีการทำลายรุนแรงพอ ๆ กับด้วงงวงไชเหง้า ตัวหนอนจะไชทำลายต้นที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปถึงประมาณกลางต้น โดยไชต้นเป็นรูแล้ว ชอนเข้าไปถึงไส้กลางต้น มองเห็นข้างนอกเป็นรอยรอบต้นพรุนไปทั่ว มักชอบทำลายต้นกล้วยที่โตแล้ว หรือใกล้จะออกปลี หรือกำลังตกเครืออยู่ จะทำให้เครือหักพับกลางต้นหรือเหี่ยวเฉายืนตาย ขนาดด้วงเจาะลำต้นจะมีขนาดใหญ่ กว่าด้วงงวงไชเหง้า

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชเหง้า

  3. หนอนม้วนใบ ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวสีน้ำตาลปนเทา บนหลังปีกมีสีเหลืองแต้ม 2-3 จุด โดยตัวหนอนจะกัดกินจากริมใบให้แหว่งเข้ามาเป็นทางยาว และม้วนใบซ่อนในตัวหลอดอยู่จนกระทั่งเข้าดักแด้ และมีแป้งขาว ๆ หุ้มตัวด้วย ถ้าถูกหนอนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบขาดวิ่นใช้ประโยชน์ไม่ได้

    การป้องกันและกำจัด
    จับตัวหนอนมาทำลายทิ้ง หรือโดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงจำพวก เมทธิลพาราไธออน เช่น พาราเทล ที.เอ็น.ฟอส พาราท็อป ฯลฯ โดยใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และควรผสมสารจับใบลงไปด้วย

  4. ตั๊กแตนผี ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ ชอบกัดกินใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

  5. หนอนกระทู้ ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็ก ปีกบนสีน้ำตาลปนเทา ส่วนปีกล่างสีขาว ตัวแก่หากิน ในเวลากลางคืน ส่วนตัวอ่อนชอบกัดกินใบตองอ่อนที่ยังไม่คลี่ หรือคลี่แล้วใหม่ ๆ โดยจะกัดเป็นรอยแหว่งไปตามขอบใบเป็นทาง รอยกัดแทะตรงกลางใบที่ทะลุเป็นรูกลม ๆ โตตามขนาดและวัยของหนอน ใบกล้วยที่ออกใหม่หรือหน่อกล้วยโคนต้นหรือหน่อที่นำมาปลูก พอใบใหม่แตกมักจะมีหนอนกระทู้ตัวเล็ก ๆ เข้ากัดกินใต้ผิว เมื่อตัวหนอนโตแล้วก็สามารถกินได้ทั้งบนใบและใต้ใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

  6. หนอนร่าน ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางวันสีน้ำตาล มีพิษตามตัวถูกเข้าจะคัน กัดกินใบขณะที่กำลัง จะกลายจากสีตองอ่อนเป็นสีเขียวแก่คือ มีสีจัดขึ้น นอกจากกินใบกล้วยแล้ว ยังพบว่ากินใบมะพร้าวด้วย

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

  7. มวนร่างแห ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกล้วย ใบตองตรงที่มวนพวกนี้อาศัยอยู่สีจะไม่เขียวสดคือ จะค่อย ๆ เหี่ยวเหลืองซีด และที่สุดก็จะแห้งเป็นแห่ง ๆ ไป ถ้าตรวจดูด้านใต้ใบจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ ทั่ว ๆ ไป นั่นคือมูล ของมวนที่ถ่ายออกมาติดอยู่และมีคราบของตัวอ่อนลอกทิ้งไว้

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชกาบกล้วย

  8. ด้วงเต่าแดง ตัวแก่ชอบกัดกินใบตองยอดอ่อนที่ยังม้วนกลมอยู่ ยังไม่คลี่ออกหรือคลี่ออกแล้วใหม่ ๆ ยังไม่เขียว ทำให้ใบมีรอยตำหนิเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทะลุล้างไม่ทะลุบ้างทั่วทั้งใบ เห็นได้ชัดเมื่อคลี่ออกตอนเขียวจัดแล้ว

    การป้องกันและกำจัด
    รักษาความสะอาดสวนกล้วยอย่าให้เป็นที่อาศัยของแมลงได้ และอาจจะใช้ เฮ็พตาคลอร์ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลากพ่นที่ยอดกล้วยหรือตามใบตองอ่อนให้ทั่ว

  9. หนอนปลอก ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็กมีสีน้ำตาลอ่อนตัวอ่อนเป็นตัวหนอน ชอบกัดกินใบเอามาทำปลอกหุ้มตัว ตัวเล็กพบกัดกินบนใบตองโดยมีปลอกหุ้มตัวชี้ไปข้างหลัง พอโตขึ้นก็จะทำปลอกใหญ่ขึ้นมักเกาะห้อยท้ายปลอกลง ชอบกัดกินอยู่ใต้ใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงเต่าแดง 

  10. แมลงวันผลไม้ หรือ “แมลงวันทอง” เป็นแมลงศัตรูของผลไม้ที่มีความสำคัญในการผลิตผลไม้ เป็นการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพราะจะทำความเสียหายกับผลไม้ที่เริ่มสุก โดยตัวเมียชอบวางไข่กับผลกล้วยที่ใกล้สุก หรือมีรอยแผล หนอนที่ออกจากไข่จะไชชอนเนื้อกล้วย ให้เกิดความเสียหายเน่าเหม็น ช่วงเวลาที่ระบาดมากได้แก่ราว ๆ เดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี

    การป้องกันและกำจัด
    ใช้เหยื่อพิษ ซึ่งเป็นสารเคมีผสมประกอบด้วยสารเคมีที่มีชื่อทางการค้าว่า “นาสิมาน” จำนวน 200 ซี.ซี. ผสมกับมาลา-ไธออน 83% จำนวน 70 ซี.ซี. และน้ำ 5 ลิตร อาจผสมสารจับใบเล็กน้อยฉีดพ่นในช่วงเช้า ด้านที่มีร่มเงา และฉีดพ่นที่ใบแก่ ห้ามฉีดพ่นที่ใบอ่อนและยอดอ่อน ให้ฉีดพ่นต้นละ 50-100 ซี.ซี.

    ข้อแนะนำเพิ่มเติม
    ในการใช้เหยื่อพิษนี้ ควรมีการสำรวจปริมาณการระบาดของแมลงวันทองในสวนเสียก่อน โดยใช้กับดักใส่สารล่อ เมทธิล ยูจินอล (methyl eugenol) แล้วตรวจนับทุก ๆ 7 วัน ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองประมาณ 10 ตัวต่อกับดัก 1 อัน ให้ฉีดพ่นเหยื่อพิษ (นาสิมาน + มาลาไธออน + น้ำ) 7 วันต่อครั้ง แต่ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองมากกว่านี้ให้ฉีดพ่นทุก ๆ 4-5 วัน ในฤดูฝนควรผสมสารจับใบลงไปด้วย จำนวน 5-10 ซี.ซี. นอกจากนี้ยังมีพืชที่แมลงวันทองชอบไปตอมเป็นจำนวนมากได้แก่ หวี ใบกล้วย กระเพา ซึ่งเป็นการง่าย ในการกำจัดโดย สารเคมีฉีดพ่นเพื่อลดปริมาณของแมลงวันทองได้

  11. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่ง ลำตัวขนาด 2×3 มิลลิเมตร ลำตัวปกคลุมด้วยผงสีขาว ชอบเกาะกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน อาการเข้าทำลาย มักพบตามผิวกาบใบ และคอยอด หากมีการทำลายมากทำให้ ผลกล้วยมีขนาดเล็กลง ผลผลิตลดลง

    การป้องกันและกำจัด
    ควรทำความสะอาดต้นกล้วย หรือพ่นด้วยสารเคมี เช่น เซฟวิน-เอส 85 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบเพนโนไธออน 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ด้วงกล้วย
ด้วงเจาะกล้วย

 

โรคหนอนกอกล้วย ผลกระทบของโรคกล้วย
โรคหนอนกอกล้วย

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
https:// www.opsmoac.go.th
https://www.flickr.com

3 Comments

Add a Comment