พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถใช้เป็นยาและเป็นอาหารได้ เช่น สะเดา ผักแพว กะเพรา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อาหารไทยยกกำลัง 2 ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากอาหารชาติอื่น จึงมีนโยบายให้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ทำการศึกษาวิจัยหาคุณค่าของผักพื้นบ้านที่คนไทยทั้ง4 ภาค นิยมกินกันอยู่ทั่วไปทั้งดอก ใบ ยอดอ่อน ฝัก ผล หัวและราก เพื่อเผยแพร่สรรพคุณและส่งเสริมให้มีการนำมาเป็นอาหารบำรุงสุขภาพในปี2555 เพิ่มภูมิต้านทานโรค และจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเผยแพร่ส่งเสริมประชาชนใช้บริโภคและให้โรง พยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขนำมาปรุงเป็นอาหารของผู้ป่วย เป็นตัวอย่างประชาชน เมื่อออกจากโรงพยาบาลสามารถนำไปทำกินเองที่บ้านได้

ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นริมห้วย หนองคลองบึง และป่าเขา ในการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 นี้ กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน รวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ประกอบด้วย
- ภาคกลาง 12 ชนิด
- ภาคเหนือ 6 ชนิด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ชนิด
- ภาคใต้ 22 ชนิด
โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่
- พลังงาน
- โปรตีน
- ไขมัน
- คาร์โบไฮเดรต
- เบต้าแคโรทีน
- วิตามินซี
- ใยอาหาร
- ธาตุเหล็ก
- แคลเซียม
ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักทุก 100 กรัมเท่ากัน พบว่าผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่าผักเหล่านี้กินแล้วไม่ทำให้อ้วน

ผักที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
- หมาน้อยมี 423 มิลลิกรัม
- ผักแพวมี 390 มิลลิกรัม
- ยอดสะเดามี 384 มิลลิกรัม
- กระเพราขาวมี 221 มิลลิกรัม
- ใบขี้เหล็กมี 156 มิลลิกรัม
- ใบเหลียงมี 151 มิลลิกรัม
- ยอดมะยมมี 147 มิลลิกรัม
- ผักแส้วมี 142 มิลลิกรัม
- ดอกผักฮ้วนมี 113 มิลลิกรัม
- ผักแมะมี 112 มิลลิกรัม
โดยแคลเซียม มีบทบาทหลักคือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยในการแข็งตัวของเลือด และควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด

ผักที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ใบกระเพราแดงมี 15 มิลลิกรัม
- ผักเม็กมี 12 มิลลิกรัม
- ใบขี้เหล็กมี 6 มิลลิกรัม
- ใบสะเดามี 5 มิลลิกรัม
- ผักแพวมี 3 มิลลิกรัม
ส่วนธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำอ็อกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกาย และมีบทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ สมรรถภาพในการทำงาน สร้างภูมิต้านทานโรค และเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย

ผักที่มีใยอาหารสูง 10 อันดับ ได้แก่
- ยอดมันปู มี 16.7 กรัม
- ยอดหมุย มี 14.2 กรัม
- ยอดสะเดา มี 12.2 กรัม
- เนียงรอก มี 11.2 กรัม
- ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม
- ผักแพว 9.7 กรัม
- ยอดมะยม 9.4 กรัม
- ใบเหลียง 8.8 กรัม
- หมากหมก 7.7 กรัม
- ผักเม่ามี 7.1 กรัม
ซึ่งใยอาหารในผัก ทำให้ร่างกายขับถ่ายอุจจาระได้เร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน นอกจากนี้ใยอาหารบางชนิด ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผักที่มีเบต้าแคโรทีน สูง 10 อันดับ ได้แก่
- ยอดลำปะสีมี 15,157 ไมโครกรัม
- ผักแมะมี 9,102 ไมโครกรัม
- ยอดกะทกรกมี 8,498 ไมโครกรัม
- ใบกระเพราแดงมี 7,875 ไมโครกรัม
- ยี่หร่ามี 7,408 ไมโครกรัม
- หมาน้อยมี 6,577 ไมโครกรัม
- ผักเจียงดามี 5,905 ไมโครกรัม
- ยอดมันปูมี 5,646 ไมโครกรัม
- ยอดหมุยมี 5,390 ไมโครกรัม
- ผักหวานมี 4,823 ไมโครกรัม

ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ ได้แก่
- ดอกขี้เหล็กมี 484 มิลลิกรัม
- ดอกผักฮ้วนมี 472 มิลลิกรัม
- ยอดผักฮ้วนมี 351 มิลลิกรัม
- ฝักมะรุมมี 262 มิลลิกรัม
- ยอดสะเดามี 194 มิลลิกรัม
- ผักเจียงดามี 153 มิลลิกรัม
- ดอกสะเดามี 123 มิลลิกรัม
- ผักแพวมี 115 มิลลิกรัม
- ผักหวานมี 107 มิลลิกรัม
- ยอดกะทกรกมี 86 มิลลิกรัม

โดยทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย
การ นำผักพื้นบ้านประจำถิ่นมาปรุงประกอบอาหาร นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ในการสร้างเสริมสุขภาพและรักษาโรคโดยไม่ต้องพึ่งยาและสารเคมี ในแต่ละภาคของประเทศไทยมีผักพื้นบ้านสามารถเลือกรับประทานได้ตลอดปี และประชาชนควรเพิ่มการกินผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านให้ลูกหลานรู้จักและบริโภคต่อได้
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https ://www.tpa.or.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com
12 Comments