ข้อดีของการปลูกผักไว้ทานเอง

การปลูกผักพื้นบ้านเป็นพืชผักที่สามารถปลูกเองได้ เป็นพืชผักที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยา ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรหลายชนิดบางบ้านก็มักมีติดครัวเรือนกันอยู่แล้ว ในรูปแบบของพืชผักสวนครัว เช่น พริกขี้หนู ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด มะนาว กะเพรา สาระแหน่ มะระขี้นก แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีผักพื้นบ้านและไม้สมุนไพรอีกหลายชนิดที่ควรอนุรักษ์ เพราะฉะนั้น การหันมาปลูกผักพื้นบ้านกินผักไทยมากขึ้น จะช่วยสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหายไป

ปกติการเลือกซื้อผักเพื่อนำมาปรุง และรับประทานเองเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพ เพราะเราสามารถกำหนดสัดส่วนเครื่องปรุงให้ไม่มัน เค็มหรือหวานมากเกินไปได้ แต่วันนี้เราจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะผักเหล่านั้นอาจมีสารพิษปนเปื้อนจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกได้ การปลูกผักกินเองมีข้อดีอย่างไรบ้างมาดูกันเลยค่ะ

ผักสวนครัว
ผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว พริก ผักกาด กระเทียม

ข้อดีของการปลูกผักทานเอง

  1. สร้างความสัมพันธ์ในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ด้วยการปลูกผักหรือการทำเกษตรในเมืองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้คนได้ร่วมกันเรียนรู้ ทำกิจกรรม และแบ่งปันกัน
  2. ลดรายจ่าย มีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค และยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งหากมีผลผลิตเหลือจากกินเองแล้ว ก็สามารถแบ่งขาย สร้างรายได้เสริมได้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่นการแปรรูปอาหาร เป็นต้น
  3. การปลูกพืชผักไว้บริโภคเอง ถือเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรารู้จักนำพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ใกล้สูญพันธุ์ ก็จะเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญการปลูกผัก ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น บางแห่งนอกจากมีผักแล้ว ยังตามมาด้วยนก และแมลงนานาชนิดช่วยกำจัดศัตรูพืชได้อีกด้วย
  4. ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือหลังคา สามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ และมีส่วนช่วยลดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศได้ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมจากฝนตกหนักได้อีกด้วย
มะเขือ
มะเขือเปราะ เปลือกลำต้นบาง สีเขียว

การปลูกผักเองอาจเริ่มต้นแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สำหรับชาวเมืองที่อาศัยอยู่อพาตเม้นท์ คอนโด ก็สามารถทำได้เริ่มจากการเพาะเมล็ดงอก เช่น เมล็ดงอกทานตะวัน

โดยวิธีการเพาะคือ
1. เตรียมขุยมะพร้าวร่อน 4 ส่วน ขี้เถ้าแกลบร่อน 1 ส่วน หรือจะใช้ขุยมะพร้าวร่อนกับดินร่อน 1 ต่อ 1 นำมาผสมให้เข้ากัน
2. แช่เมล็ดทานตะวันในน้ำอุ่นทิ้งไว้ 1 คืน หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
3. นำวัสดุปลูกใส่ภาชนะที่เป็นตะกร้า หากไม่มีก็สามารถใช้ภาชนะปลูกอะไรก็ได้ แต่ต้องมีรูระบายน้ำ โดยแนะนำให้ใส่วัสดุเพาะประมาณ 3 ต่อ 4 ส่วนของภาชนะแล้วรดน้ำ
4. โรยเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้ว เกลี่ยให้ทั่วแล้วโรยขุยมะพร้าวที่เหลือกลบด้านหน้าเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง นำไปวางไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 4-5 วันก็สามารถตัดมาบริโภคได้

ซึ่งเมล็ดงอกทานตะวัน เป็นผักที่มีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอ และวิตามินอีสูง บำรุงสายตา ผิวพรรณและชะลอความชรา มีวิตามิน บี 1 บี 6 โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 ซึ่งช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม และธาตุเหล็กสูงอีกด้วย

นอกจากนี้ หากมีพื้นที่ระเบียงว่างสามารถปลูกผักตะกร้า หรือปลูกผักแนวตั้ง ถ้วย กะละมัง ขวดพาสติก โดยนำมาเจาะรูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำป้องกันไม่ให้ดินได้รับน้ำจนเกินความจำเป็น โดยพืชผักสวนครัวส่วนใหญ่ที่เหมาะกับคนอาศัยอยู่ในเมืองคือ พืชที่มีอายุสั้น เก็บผลผลิตเร็ว และดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ เช่น ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน  โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ เป็นต้น

ตะไคร้
ตะไคร้ ใบยาวเรียวมีขนหนามลำต้นรวมกันเป็นกอ
มะระขี้นก
มะระขี้นก ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา
กะเพรา
กะเพรา มีขนเล็กตามลำต้น มีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อน
ขิง
ขิง เหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง
พริก
ผลพริก สีเขียว สีแดง รสชาติเผ็ดร้อน

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https:// www.thaihealth.or.th
https://www.flickr.com

5 Comments

Add a Comment