สมุนไพรไทยที่ใช้แก้โรคผิวหนัง และแก้อาการคัน
โรคผิวหนัง (Skin Disease) เป็นโรคที่มีลักษณะอาการเป็นผื่น ตุ่ม วงด่างขาว หรือขึ้นเป็นก้อนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งอาจจะมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังมีหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ การใช้ยา ปรสิต อาการแพ้ที่เกิดจากภูมิแพ้ เป็นต้น
การรักษาโรคผิวหนังนั้น นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว ยังสามารถนำสมุนไพรไทยต่างๆ มากรักษาได้อีกด้วย
1. ขมิ้นชัน
เหง้าของขมิ้นชันสามารถใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคันได้ โดยนำมาบดให้เป็นผงผสมเข้ากับน้ำ หรือจะนำเหง้าสดมาฝนน้ำทาบริเวณที่มีอาการของโรคผิวหนังก็จะสามารถรักษาโรคผิวหนังได้เช่นกัน นอกจากนี้ เหง้าของขมิ้นชันยังสามารถใช้รักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
2. ขันทองพยาบาท
เนื้อไม้ของขันทองพยาบาทสามารถนำมาใช้รักษาโรคลมพิษ และแก้กามโรคได้ เปลือกของต้น เป็นยารักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาบำรุงสุขภาพเหงือก และเป็นยาสำหรับถ่ายพยาธิได้อีกด้วย
3. ข่อย
เปลือกของต้นข่อยสามารถนำมาใช้แก้โรคผิวหนัง รักษาแผลได้ โดยการนำมาหุงเป็นน้ำมันเพื่อใช้รักษาริดสีดวงทวาร โรครำมะนาด โรคท้องร่วง ส่วนเม็ดข่อยให้นำมาผสมกับหัวของแห้วหมู เปลือกทิ้งถ่อน เปลือกตะโกนา ผลพริกไทยแห้ง และเถาบอระเพ็ด จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดไปดองเหล้า หรือต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้
4.ข่า
เหง้าสดของข่านำมาตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน ส่วนเหง้าอ่อนสามารถนำมาต้มเป็นน้ำดื่มเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยขับลมได้
5. ตะเคียนทอง
แก่นของตะเคียนทองจะมีรสขมหวาน สามารถนำมาใช้รักษาโรคคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหินและกำเดา รักษาอาการเป็นไข้ ที่มีอาการแสดงที่ตา เช่น อาการตาแดง อาการตาเหลือง หรือตามีสีขุ่นคล้ำ เป็นต้น
ยางแห้งของตะเคียนทองนำมาบดเป็นผงสามารถใช้รักษาบาดแผลได้
6. ทองพันชั่ง
ทองพันชั่งนำใบสดและรากมาโขลกให้ละเอียด แล้วเอาไปแช่เหล้าโรง 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นสามารถนำเหล้าที่ได้มาทาผิวหนังบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนได้
7.น้อยหน่า
น้อยหน่า นำใบสด และเมล็ด ใช้รักษาโรคหิด และกลากเกลื้อนบนผิวหนัง
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้รักษาเหา โดยนำเมล็ด 10 เมล็ดและใบสด 1 กำมือมาตำให้ละเอียด ผสมเข้ากับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาขยี้ให้ทั่วศีรษะ และใช้ผ้าคลุมโพกศีรษะเอาไว้ 2 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาก็เอาหวีสางออก สระผมให้สะอาด แต่ต้องระวังให้มากอย่าให้เข้าตาเพราะจะทำให้ตาอักเสบ
8.บัวบก
ใบบัวบกสดนำมาใช้รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยสมานบาดแผล และเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ทั้งยังช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดหนองลดการอักเสบของแผล และรักษาโรคกลากได้
โดยให้เตรียมใบสด 1 กำมือนำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาเฉพาะน้ำทาบริเวณแผลบ่อยๆ นอกจกานี้ยังสามารถนำกากมาพอกบริเวณแผลได้อีกด้วย เมื่อทำเป็นประจำแผลก็จะปิดสนิทและเกิดแผลเป็นชนิดนูนได้น้อย
น้ำต้มใบบัวบกนำมาดื่มลดไข้ รักษาอาการปากเปื่อย ปากเหม็น เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะและแก้ท้องเสียได้
9. ปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมัน นำเมล็ดมาบีบน้ำมันออก เพื่อใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหารได้ นอกจากนี้ น้ำมันที่ได้ยังใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาทาแก้โรคผิวหนังอีกด้วย
10. พุดตาน
รากพุดตานสามารถนำมาต้มดื่ม หรือฝน เพื่อใช้ทารักษาโรคผิวหนัง ผด ผื่นที่ขึ้นเป็นเม็ด โดยเฉพาะอาการที่มีไข้ร่วม และปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายร่วมด้วย
11. มะคำดีควาย
นำผลมะคำดีควายมาทุบให้แตก แช่น้ำ 15 นาที และกรองเอาแต่น้ำ โดยน้ำที่ได้สามารถนำมาล้างหน้า ช่วยรักษาผิว แก้รังแค แก้ชันนะตุได้ เนื่องจากมะคำดีควายสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ จึงใช้ในการรักษาโรคกลากได้เป็นอย่างดี
12. รามใหญ่
สรรพคุณของรามใหญ่ ลำต้นนำมาใช้แก้โรคเรื้อน โดยได้มีการนำไปทดลองกับหนูที่เป็นโรคเรื้อน 6 เดือนถึง 1 ปีสามารดลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อโณคที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อนได้ ส่วนของรากใช้รักษาโรคกามโรค หนองใส ผลใช้แก้ไข้ และท้องเสียได้
13. สำโพงกาสลัก
เมล็ดของลำโพงกาสลักสามารถนำมาหุงเป็นน้ำมันใส่แผล แก้โรคกลากเกลื้อน ผดผื่นคันได้ ใบนำใบสดมาตำพอกฝี แก้อาการปวดบวมและอักเสบ ใช้ใบร่วมกับยอดแก้อาการปวดท้องเกร็ง และช่วยขยายหลอดลม แก้โรคหอบหืด ดอกนำมาจุดไฟสูบแก้อาการหอบหืด
14. ว่านมหากาฬ
รากและใบสดของว่านมหากาฬนำมาตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวด ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนได้ ส่วนใบสดใช้รักษาโรคเริม โรคงูสวัดได้
15. หนอนตายยาก
นำรากของหนอนตายยากมาทุบหมักกับน้ำ ใช้ส่วนน้ำที่ได้จากการหมักมาเป็นยาฆ่าหิดและเหาได้
สมุนไพรไทย เป็นหนึ่งในแพทย์ทางเลือกในการนำมารักษาโรคทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับสมุนไพร รวมถึงยาตัวอื่นๆ และอาหารเสริมทุกครั้ง เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับตัวยาได้
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://hd.co.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com
4 Comments