ผลไม้ในฤดูร้อน ผลไม้ประเทศไทย ที่ออกผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ผลไม้ในฤดูร้อน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลไม้ตลอดทั้งปี คนไทยจึงเป็นคนที่โชคดีกว่าคนหลายประเทศ  เพราะมีผลไม้อร่อยและมีคุณค่ากับสุขภาพให้กินในทุกฤดูกาล และในแต่ละฤดูก็จะมีผลไม้ชนิดต่างๆ ที่แตกต่างกันออกมาให้เลือกกิน ผลไม้ไทยนั้น มีให้เลือกกินหลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีหลายพันธ์ุ และในแต่ละฤดูผลไม้ไทยที่ออกมาก็ชวนให้ทานเป็นอย่างมากหลายชนิด และนอกฤดูกาลก็ยังมีให้ได้เลือกซื้ออีกด้วย

โดยผลไม้ในฤดูร้อน ผลไม้ในประเทศไทยก็จะเริ่มตั้งออกผลตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม โดยในช่วงต้นฤดูจะมีกล้วยหอม  กล้วยน้ำว้า มะม่วง มะปราง มะยงชิด มะไฟ มะละกอ ทุเรียน มังคุด ขนุน ลิ้นจี่ แตงโม ลูกหว้า ชมพู่ ทับทิม ส่วนช่วงปลายฤดูก็จะมีเงาะ ทุเรียน ลิ้นจี่ ระกำ ขนุน ลูกหว้า มะม่วง มังคุด 

รสชาติและประโยชน์ต่อสุขภาพ

  • กล้วย (Banana) ให้ผลตลอดปี มีหลายพันธุ์ เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหักมุก เป็นต้น มีรสหอมหวาน กล้วยอุดมด้วยโพแทสเซียมสูง มีสังกะสี เหล็ก กรดโฟลิก แคลเซียม วิตามินบี 6 และสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ให้พลังงานสูง ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง ลดภาวะความเป็นพิษ ช่วยให้ปอดชุ่มชื่น แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ และยังมีเพกติน ซึ่งช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกได้ แถมยังทำให้อารมณ์ดี เพราะเชื่อว่าในกล้วยมีสาร Tryptophan เมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนเป็น Serotonin ที่เป็นสารสร้างความสุขให้กับคนเรา
    กล้วยน้ำว้าดิบ
    กล้วยน้ำว้าดิบ เปลือกผลสีเขียว

     

    กล้วยหอม
    กล้วยหอม เปลือกสีเหลือง ปลายจุกจะมีสีเขียว
  • มะม่วง  (Mango) ผลมีรสชาติอร่อย กินได้ทั้งผลดิบและสุก ซึ่งสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารหรือแปรรูปด้วยวิธีการกวน แช่อิ่ม หรือดองก็ได้ ผลดิบเนื้อสีขาวอมเขียวอ่อน รสเปรี้ยวหรือมัน แล้วแต่พันธุ์ ผลสุกเนื้อมีสีเหลืองรสหวาน หรือหวานอมเปรี้ยวขึ้นอยู่กับพันธ์ุ  นิยมกินสด หรือผลดิบจิ้มพริกกับเกลือหรือน้ำปลาหวาน หรือกะปิ หรือนำผลดิบมาแปรรูปเป็นมะม่วงเค็ม มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงดอง น้ำพริกมะม่วง ยำมะม่วง หรือตำมะม่วง ส่วนผลสุกนำมาทำน้ำมะม่วง  แยมมะม่วง  มะมวงกวน ไอสครีมรสมะม่วง ข้าวเหนียวมะม่วง ผลดิบมีเส้นใยอาหารสูงมะม่วงสุก มะม่วงมีวิตามินเอ และซีสูง วิตามินบี 1 และบี 2 ไนอาซิน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และสารแคโรทีนอยด์ มะม่วงดิบใช้บำรุงกระเพาะอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน กระหายน้ำ ผลสุกกินแก้คลื่นไส้ วิงเวียน โรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันโรคเหน็บชา ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและมะเร็ง สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เสริมการทำงานของระบบประสาท และชะลดการเกิดกระที่ผิวหนัง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการกินมะม่วงสุก เพราะมีน้ำตาลสูง เนื้อในเมล็ดมีฤทธิ์ฝากสมานใช้รักษาอาการท้องเสีย แก้บิดและอาเจียนได้ ส่วนใบอ่อนใช้รักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือนำมาพอกรักษาแผลสด ทั้งนี้ผู้ป่วยด้วยโรคไตไม่ควรกินมะม่วงมากเกินไป เพราะจะทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น
    มะม่วง
    มะม่วง ผลดิบมีสีเขียวเมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเหลืองส้ม

     

    ข้าวเหนียวมะม่วง
    ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมไทยโบราณ
  • มะปราง มะยงชิด (Plum mango)  มะปราง/ มะยง เนื้อมะปรางมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม ส่วนเนื้อมะยงมีสีเหลืองอมส้มมากกว่ามะปราง มีรสหวาน หวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับพันธ์ุ แต่มะปรางจะมีรสหวานมากกว่ามะยง มะปรางและมะยงจะออกมากช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ผลไม้ทั้งสองชนิดมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน นอกจากนี้ ยังมีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี และซี
    มะปราง
    มะปราง ผลสุกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม

     

    มะยงชิด
    มะยงชิด ผลรูปทรงไข่ ผลสุกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม
  • มะไฟ (Burmese grape, Rambai Lutqua or Baccaurea ramiflora Lour) เนื้อสีขาวขุ่น มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมผลสด ซึ่งมีวิตามินซี น้ำตาล และกรดอินทรีย์หลายชนิด สรรพคุณใช้เป็นยาช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยละลายเสมหะ ส่วนน้ำคั้นจากผลมะไฟสดใช้ทำสบู่บำรุงผิว รากสดหรือรากแห้งใช้แก้พิษซาง แก้วัณโรค แก้ฝีภายใน ดับพิษร้อน เริม แก้ผิวหนังอักเสบชนิดที่เป็นถุงน้ำและลอกออกมา และใช้บรรเทาไข้ที่มีอาการปวดข้อปวดเข่า และมีผื่น เป็นคล้ายๆ ลมพิษที่เรียกกันว่า “ไข้ประดง” เปลือกทำยาทาภายนอกและโรคผิวหนังบางชนิด ใบของมะไฟมีรสเผ็ด เย็น มีสรรพคุณแก้หวัด แก้ไอ มาลาเรีย และขับปัสสาวะ
    มะไฟ
    มะไฟ ผลออกเป็นช่อ ผิวเกลี้ยง เปลือกสีเหลือง
  • มะละกอ (Papaya) ผลดิบมีสีเขียว และมีน้ำยางสีขาวสะสมอยู่ที่เปลือก ส่วนผลสุก เนื้อในจะมีสีเหลืองถึงส้ม มีเมล็ดสีดำเล็ก ๆ อยู่ภายในกินไม่ได้ นอกจากการนำไปรับประทานสด ๆ แล้ว เรายังสามารถนำไปปรุงอาหาร เช่น ส้มตำ แกงส้ม ฯลฯ หรือนำไปหมักเนื้อให้นุ่มได้อีกด้วย เพราะในมะละกอมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งเรียกว่า พาเพน (Papain) ซึ่งสามารถนำเอนไซม์ชนิดนี้ไปใส่ในผงหมักเนื้อสำเร็จรูป บางครั้งนำไปทำเป็นยาช่วยย่อยสำหรับผู้ที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อยก็ได้
    ผลมะละกอดิบ
    ผลมะละกอดิบ ผลเป็นรูปรี สีเขียว


    มะละกอสุก
    มะละกอสุก เนื้อสีเหลืองถึงส้ม มีเมล็ดสีดำเล็กอยู่
  • ทุเรียน (Durian) เป็นผลไม้ที่ได้รับยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งผลไม้”  มีรสชาติอร่อย กลิ่นหอม รสหวานและมัน ให้พลังงานมาก นิยมกินสด แต่ก็มีการนำไปกวนหรือทอดเก็บไว้กินนอกฤดู หรือทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน เป็นต้น เนื้อทุเรียนให้สารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและให้พลังงานความร้อน ถ้ากินทุเรียนในช่วงอากาศร้อนมากๆ จะทำให้รู้สึกร้อนและอึดอัด ทุเรียนให้สารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน น้ำตาล ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายมาก มีสารกำมะถันมาก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ เป็นต้น ไม่ควรดื่มสุราเมื่อกินทุเรียน เพราะจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คนโบราณถือว่าทุเรียนเป็นผลไม้มีฤทธิ์ร้อน หลังกินทุเรียนควรกินมังคุดที่เป็นผลไม้มีฤทธิ์เย็นตาม เพื่อให้อุณหภูมิภายในร่างกายสมดุล
    ผลทุเรียน
    ผลของทุเรียนจะมีขนาดใหญ่มีหนามแข็งทั่วทั้งเปลือก
  • มังคุด (Mangosteen) เป็นผลไม้รสชาติดีจนได้รับสมญานามว่า “ราชินีไม้ผลเมืองร้อน” เนื้อมังคุดมีสีขาวนวล มีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ให้พลังงานต่ำ มีเส้นใยอาหารมาก ส่วนมากจะกินสด และกากใยจากเนื้อของมังคุดช่วยในการขับถ่าย  ถ้ากินมังคุดหลังจากกินทุเรียนจะช่วยลดความร้อนในร่างกาย เพราะมีฤทธิ์เย็น ทำให้ไม่เป็นแผลร้อนใน เนื้อมังคุดมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี 1 บี 2 และซี ส่วนเปลือกของมังคุดมีรสฝาด มีสารแทนนิน (Tanin) ออกฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน ช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้โรคบิดหรือท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยการใช้เปลือกสดหรือเปลือกแห้งฝนกับน้ำกินหรือจะใช้เปลือกแห้งต้มกับน้ำกินก็ได้  และยังมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว โดยใช้รักษาน้ำกัดเท้า แผลพุพอง แผลเป็นหนอง และแผลเน่าเปื่อยได้ เพราะมีสารแทนนินที่ออกฤทธิ์สมานแผลช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และมีสารแมงโกสติน (Mangostin ) ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง การรักษาโดยนำเปลือกผลแห้งมาฝนกับน้ำปูนใสจนข้น ทาวันละ 1 – 3 ครั้ง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่เพื่อช่วยดับกลิ่นตัว ช่วยบรรเทาโรคผิวหนัง รักษา สิวฝ้า เป็นต้น และยังใช้ประโยชน์ในการทำสีย้อมผ้าได้อีกด้วย   
    ผลมังคุด
    ผลมังคุด ภายในมีมีเนื้อสีขาว รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว
  • ขนุน (Jack fruit) คนไทยนิยมปลูกขนุน เพราะมีความเชื่อว่า เป็นไม้มงคล บ้านไหนที่ปลูกขนุนไว้ จะทำให้ได้รับการสนับสนุน เกื้อหนุน หรือมีคนค้ำจุน ทำให้คนในบ้านได้รับความมเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและในหน้าที่การงาน และเป็นผลไม้ที่ออกมาให้กินตลอดปี ขนุนจะมีมากในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม สามารถกินขนุนได้ตั้งแต่ส่วนของเนื้อ ซัง และเมล็ด เนื้อขนุนส่วนที่นำมากินเรียก “ยวง” มีสีเหลือง เหลืองอมส้ม หรือสีจำปา มีเนื้อหนาจนถึงไม่หนา มีรสตั้งแต่หวานสนิทจนถึงหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ขึ้นอยู่กับพันธ์ุ  คนนิยมกินเนื้อขนุนสดๆ หรือนำเนื้อขนุนมาเป็นส่วนประกอบของอาหารคาวหวาน เช่น นำขนุนอ่อนมาประกอบอาหาร เช่น ซุปขนุน เป็นต้น หรือนำเนื้อขนุนแก่ฉีกใส่ในขนมรวมมิตรหวานเย็น ไอศกรีมกะทิสด ลอดช่องสิงคโปร์ น้ำเชื่อมสำหรับขนมหวานเย็นที่ใส่น้ำแข็ง หรือทำเป็นหน้าข้าวเหนียวมูน เพื่อชูกลิ่นชูรสให้หอมหวานน่ากิน หรือนำมาอบแห้งเป็นขนุนแห้งเพื่อเป็นของว่างกิน ส่วนเมล็ดของขนุนจะนำมาต้มใส่เกลือกิน หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง คุณประโยชน์ของขนุนมีมาก เช่น เนื้อขนุนมีเบต้าแคโรทินช่วยต้านอนุมูลอิสระในการป้องกันมะเร็ง มีวิตามินเอช่วยในการบำรุงสายตา มีคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง บำรุงกำลัง แก้กระหายน้ำ ช่วยให้หายเมา ช่วยในการย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ผิวพรรณดี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ควรกินขนุนอ่อน เพราะในผลอ่อนมีเส้นใยอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ขนุนสุกมีสรรพคุณรักษาโรคเกี่ยวกับทรวงอกของผู้หญิงอีกด้วย ส่วนเมล็ดนั้น เป็นยาบำรุง ช่วยขับน้ำนมในหญิงหลังคลอดใหม่ๆ และบำรุงร่างกาย
    ขนุน
    ขนุน ผลดิบเปลือกสีเขียว หนามทู่


    ขนุนสุก
    ขนุนสุก มีสีเหลือง เหลืองอมส้ม
  • ลิ้นจี่ (Lychee) เนื้อลิ้นจี่มีสีขาวใสหรือสีเหลืองอ่อนหรืออมส้มเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับพันธ์ุ รสชาติออกเปรี้ยวหวาน นิยมกินสด แต่ก็ยังนำมาแปรรูปเป็นน้ำลิ้นจี่ ลิ้นจี่ในน้ำเชื่อม ลิ้นจี่อบแห้ง เป็นต้น  เนื้อลิ้นจี่ประกอบด้วยวิตามินซีสูง วิตามินบี 1 และบี 2 ไนอะซิน คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และน้ำตาล เป็นต้น สรรพคุณป้องกันโรคหวัดและโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน แก้กระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงอวัยวะภายในต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบำรุงม้าม และบำรุงประสาท แต่ถ้ากินมากอาจทำให้เกิดอาการร้อนในได้ เพราะลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน ถ้านำเนื้อลิ้นจี่มาตากแห้งและนำมาต้มกินเป็นประจำก็จะช่วยบรรเทาอาการปวด อันเนื่องมาจากโรคไส้เลื่อนหรือลูกอัณฑะบวม และยังช่วยรักษาโรคโลหิตจาง ส่วนเมล็ดของลิ้นจี่มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน ช่วยระงับความเจ็บปวดในกระเพาะอาหาร
    ลิ้นจี่
    ลิ้นจี่ ผลผิวขรุขระ ผลสุกมีสีแดงสด
  • แตงโม (Watermelon) เป็นผลไม้ออกตลอดปี มีมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน แตงโมมีเนื้อสีแดงหรือสีเหลืองขึ้นอยู่กับพันธ์ุ มีปริมาณน้ำสูงทำให้มีเนื้อฉ่ำน้ำ กรอบ รสหวาน เย็นชื่นใจ นิยมกินแบบสด หรือนำมาปั่นทำเป็นน้ำแตงโม แก้กระหายยามอากาศร้อน เพราะจะให้ความเย็นฉ่ำชื่นใจ แตงโมอุดมด้วยเส้นใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารต่างๆ เช่น วิตามินเอ ซี และบี 6 กลูโคส ฟรุคโตส ซูโครส คาโรทีน โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เหล็ก กรดกลูตามิค กรดฟอสฟอริค กรดนิโคตินิค กรดมาลิค กลัยโคไซด์ เป็นต้น แตงโมช่วยกระตุ้นการทำงานของไต ที่ทำให้ร่างกายขับปัสสาวะได้ดี ช่วยล้างไตและกระเพาะปัสสาวะ รักษาโรคไตอักเสบ บรรเทาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดความร้อนในร่างกาย  แก้ร้อนใน ปากเป็นแผล แก้อ่อนเพลียและวิงเวียน ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการผิวหนังแห้งกร้านอันเนื่องมาจากภาวะเลือดเป็นกรด เพราะกินเนื้อสัตว์ ของทอด ขนมหวาน อาหารแป้งขัดขาว และเครื่องดื่มพวกกาแฟหรือน้ำอัดลมมากเกินไป น้ำแตงโมจะช่วยไม่ให้ร่างกายสะสมกรดยูริก อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขข้อและโรคเกาต์ ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ  มีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร มีสาร citrulline ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยถอนพิษสุราได้ และ ถ้าจะทำให้ผิวหน้าหน้าชุ่มชื่นและสดชื่นโดยนำเนื้อแตงโมที่หั่นเป็นชิ้นวางบนหน้าประมาณ 20 นาที จะทำให้ผิวนุ่มขึ้น นอกจากนี้ เปลือกแตงโมใช้แก้ปากและลิ้นเป็นแผลได้เช่นเดียวกับน้ำแตงโม และช่วยลดความมันบนผิวหน้าด้วยการนำเปลือกมาปั่นแล้วคั้นเอาน้ำมาล้างหน้า จะเห็นได้ว่าแตงโมมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรกินมากไป เพราะน้ำจากแตงโมจำนวนมากจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารเจือจางลง ทำให้อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสีย
    แตงโม
    แตงโม เนื้อข้างในสีแดง
  • ลูกหว้า (Jambolan plum) ผลสดรูปทรงกลมแป้น ผลมีสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพู เมื่อสุกมีสีแดงเข้ม ถึงม่วงดำ ปลายหรือก้นผลบุ๋ม รวมกันเป็นพวง ผลสุกรสหวานอมเปรี้ยว มีรสฝาดเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ รับประทานได้ มี 1 เมล็ด ผลใช้รับประทานสดแล้ว ยังมีสรรพคุณ แก้บิด ท้องร่วง ถอนพิษแสลงใจ ลดน้ำตาลในเลือด ตำเป็นผงแก้ปัสสาวะมาก
    ลูกหว้า
    ลูกหว้า ผลกลมเมื่อสุกมีสีแดงเข้มถึงม่วงดำ
  • ชมพู่ (Rose apple or Wax jambu) เป็นผลไม้ที่มีหลายสี ไม่ว่าสีขาว ชมพู หรือเขียว มีเปลือกบาง มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีรสชาติตั้งแต่จืดกระทั่งหวานจัด ขึ้นอยู่กับพันธ์ุ มีเนื้อฉ่ำน้ำเมื่อกินแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น ชุ่มคอ แก้กระหายได้ดี เนื้อชมพู่มีคุณค่าทางอาหารที่ให้พลังงานต่ำ มีใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินซีป้องกันโรคหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีเหล็ก วิตามินเอ บี 1 และบี 2 ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังเป็นยาชูกำลังและบำรุงหัวใจ ส่วนเมล็ดชมพู่ใช้เป็นยาแก้ท้องเสียและโรคเบาหวาน
    ชมพู่
    ชมพู่ ผลมีเปลือกบาง มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน
  • ทับทิม (Pomegranate) คนจีนมีความเชื่อว่า ทับทิมเป็นผลไม้มงคล เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม และโชคลาภ เนื่องจากทับทิมมีเมล็ดมาก และได้รับการยกย่องว่าเป็น “อัญมณีแห่งผลไม้” ผลทับทิมมีกลิ่นหอม เมล็ดทับทิมมีเนื้อหุ้มใสสีแดงเข้ม มีรสหวานหรือเปรี้ยวอมหวาน ทับทิมเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยน้ำทับทิมมีวิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด น้ำตาล แมกนีเซียม แคลเซียม และสารเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูง เหมาะสำหรับการดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย แก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิด สามารถลดภาวะการสะสมไขมันในผนังเส้นเลือด ป้องกันเส้นเลือดอุดตันและแข็งตัว ลดภาวะการแข็งตัวของเลือดจากไขมันในเลือดสูง บำรุงหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โดยเพิ่มการไหลเวียนที่ดีขึ้นและลดภาวะหัวใจขาดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง บำรุงตับ ช่วยเพิ่มพลังและความงาม การดื่มน้ำทับทิมวันละแก้วจะช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือด ลดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง และช่วยเสริมสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำทับทิมมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมและเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม และยับยั้งเซลล์มะเร็งในคนที่ป่วยแล้ว ไม่ให้แพร่กระจายลุกลามมากขึ้น แต่ไม่ได้รักษาโรคมะเร็งให้หายขาด เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำทับทิมจะไปยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังจะไปดูแลเซลล์ดีๆ ที่อยู่รอบๆ เซลล์มะเร็งให้มีความแข็งแรงและมีภูมิต้านทานมากยิ่งขึ้นเซลล์มะเร็งจึงลุมลามมาทำอันตรายไม่ได้หรือได้น้อยมาก ส่วนเปลือกทับทิมใช้รักษาโรคท้องเดินและโรคบิด และมีสารในกลุ่มแทนนินสูงที่มีคุณสมบัติเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่ดี โดยมีสรรพคุณลดอาการอักเสบ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ ต่อต้านมะเร็งกว่า 13 ชนิด ไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้น และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
    ทับทิม
    ทับทิม ผลรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกหนาเกลี้ยง
  • ระกำ (Salacca) เนื้อผลในสีน้ำตาลแดงอ่อน เป็นกลีบ มี 2-3 กลีบ มีรสหวานอมเปรี้ยว หรือหวานจัด เนื้อผลมีกรดอินทรีย์ วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต และเหล็ก เป็นต้น มีสรรพคุณทางยา ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการกระหายน้ำ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ช่วยป้องกันโรคหวัด คลายร้อน ช่วยย่อยอาหาร และทำให้เจริญอาหาร
    ระกำ
    ระกำ เปลือกผลมีหนามแข็งเล็ก ผลอ่อนสีน้ำตาลเข้ม ผลสุกเป็นสีแดงอมส้ม
  • เงาะ (Rambutan) เนื้อมีลักษณะอ่อนนุ่ม สีขาวใสหรืออมเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติอร่อย รสหวานไม่จัด มีทั้งหวานและหวานอมเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับพันธุ์ เงาะเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซีและน้ำตาล และมีสารอาหารอีกมาก เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น เงาะมีสรรพคุณในการแก้บิด ท้องร่วง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแก้ไข้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถกินได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป ส่วนเปลือกเงาะมีรสฝาด มีสารแทนนินใช้เป็นยาขับพยาธิ เมล็ดมีฤทธิ์ทำให้หลับ ถ้านำผลเงาะมาต้มแล้วนำน้ำที่ได้มาใช้เป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก ข้อควรระวัง คือ เม็ดในของเงาะมีพิษแม้ว่าจะเอาไปคั่วจนสุกแล้ว แต่ถ้ากินมากเกินไปจะมีอาการปวดท้อง เวียนศรีษะ มีไข้ คลื่นไส้ และ/ หรืออาเจียนได้
    เงาะ
    เงาะ ผลเมื่อสุกจะมีสีแดง เหลือง หรือสีส้มปนเหลือง มีขนอ่อนนุ่ม

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.stou.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

One Comment

Add a Comment