สายพันธุ์ของกล้วย
กล้วยเป็นพืชเมืองร้อน และมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเทศไทยอยู่รวมด้วย ดั้งนั้นในประเทศไทยจึงพบว่ามีกล้วยอยู่หลายพันธุ์ ทั้งกล้วยป่า และกล้วยที่ปลูกตามบ้าน ซึ่งจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2522 – 2525 โดย Silayoi and Babpraserth (1983) ได้ทำการสำรวจกล้วยจาก 39 จังหวัด จากภาคต่าง ๆ โดยเลือกตัวแทนของจังหวัดตามแนวเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล้วยทั้งหมด 323 สายพันธุ์ แต่เมื่อนำมาจำแนกชนิดโดยวิธีของ Simmonds & Shepherd (1955) ซึ่งเป็นการให้คะแนน 15 ลักษณะที่เหมือนกล้วยป่า (Musa acuminata) และกล้วยตานี (Musa balbisiana) โดยถือว่าทั้ง 2 ชนิดเป็นบรรพบุรุษของกล้วยปลูก ประกอบกับการนับจำนวนโครโมโซม พบว่ามี 59 สายพันธุ์ หลังจากปี พ.ศ. 2525 ผู้วิจัยยังได้ทำการเก็บรวบรวมกล้วย และทำการจำแนกต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากกล้วยในประเทศไทยแล้วยังได้มีการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นกล้วยที่ปลูกกันอยู่จึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นพันธุ์กล้วยป่าซึ่งอาจจะนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับมีทั้งหมดประมาณ 23 ชนิด ส่วนกล้วยปลูกมีทั้งหมดประมาณ 70 ชนิด ดังนี้
สายพันธุ์กล้วยป่า
- กล้วยป่า (Wild Acuminata) มี กล้วยป่ามูเซอร์ กล้วยป่าระยอง กล้วยแข้ กล้วยป่าสงขลา กล้วยทอง
- กล้วยป่าจากต่างประเทศ มี กล้วยฟลาวา (Pisang flava) กล้วยสีกัน (Pisang segun) และกล้วยป่าอบิสซีเนีย
- กล้วยตานี (Wild Balbisiana) มี กล้วยตานีเหนือ กล้วยตานีอีสาน กล้วยตานีใต้ กล้วยตานีดำ (นำมาจากประเทศฟิลิปปินส์)
- กล้วยป่า (Wild Itinerans) มี กล้วยหก กล้วยแดง
- Wild Rhodochlamys มี กล้วยบัวสีชมพู กล้วยบัวสีส้ม กล้วยรุ่งอรุณ
- Wild Ensete มี กล้วยผา กล้วยนวล กล้วยนวลแดง
- Wild Callimusa มี กล้วยรัตกัทลี กล้วยทหารพราน
- Wild Australimusa มี กล้วยอะบากา
กล้วยกินได้
- กล้วยกินได้ (Acuminata cultivars)
– AA group มี กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมจันทร์ กล้วยไข่ทองร่วง กล้วยน้ำนม กล้วยไข่จีน กล้วยไล กล้วยสา กล้วยหอมจำปา กล้วยหอม กล้วยทองกาบดำ กล้วยอัมเพียง กล้วยมานัง กล้วยแดงเล็ก
– AAA group มี กล้วยนาก กล้วยครั่ง กล้วยกุ้งเขียว กล้วยหอมเขียวค่อม กล้วยหอมแกรนด์เนน กล้วยหอมวิลเลี่ยมส์ กล้วยหอมโฮชูชู กล้วยหอมเสียนเจนเชียว กล้วยหอมโคคอส กล้วยหอมเขียวไต้หวัน กล้วยหอมอุมาลอก กล้วยหอมฮัมเวย์ กล้วยหอมพจมาน กล้วยหอมทอง กล้วยหอมทองไต้หวัน กล้วยหอมไฮเกท กล้วยคลองจัง กล้วยไข่บอง กล้วยหอมแม้ว - กล้วยกินได้ลูกผสม (Acuminata x Balbisiana)
– AB group มี กล้วยเนย์
– AAB group มี กล้วยน้ำฝาด กล้วยนมสวรรค์ กล้วยร้อยหวี กล้วยหวาน กล้วยไข่โบราณ กล้วยทองเดช กล้วยนางนวล กล้วยน้ำ กล้วยกล้าย กล้วยงาช้าง กล้วยนิ้วจระเข้ กล้วยขม กล้วยนมสาว กล้วยคอร์นแพลนเทน
– ABB group มี กล้วยเปลือกหนา กล้วยนมหมี กล้วยพญา กล้วยหักมุกขาว กล้วยหักมุกเขียว กล้วยส้ม กล้วยตีบ กล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้าขาว กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยน้ำว้าค่อม กล้วยน้ำว้านวล กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยโอกินาวา
– ABBB group มี กล้วยเทพรส
– AABB group มี กล้วยเงิน - กล้วยกินได้ (Balbisiana cultivars)
– BBB group มี กล้วยเล็บช้างกุด กล้วยพม่าแหกคุก กล้วยเทพพนม กล้วยหิน กล้วยคาดาบา
กล้วยพันธุ์ใหม่
ภาควิชาพืชสวนได้ทำการวิจัยเรื่องกล้วยมานาน สำหรับกล้วยไข่ได้ทำการวิจัยเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ตั้งแต่ปี 2534 โดยทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และใช้ทั้งสารเคมี และรังสีแกมมาในการปรับปรุงพันธุ์ โดยไม่ได้มีการผสมพันธุ์ ทั้งนี้เพราะกล้วยไข่ไม่มีเมล็ด ผลการวิจัยพบว่าได้กล้วยไข่ที่กลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ ดังนี้
- กล้วยเบพ (BEP) ได้เริ่มทำการทดลองเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยใช้สาร oryzalin กับต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และปลูกเปรียบเทียบกับต้นปกติเมื่อปี พ.ศ. 2540 พบความผิดปกติ ซึ่งมีลักษณะเตี้ยมาก จึงให้เป็นกล้วยไข่ประดับ และได้ทำการปลูกทดลองดูความคงตัวของพันธุ์ และทำการจดทะเบียบพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2543
- กล้วยไข่เกษตรศาสตร์บานาน่า ได้มีการทดลองใช้รังสีแกมมากับกล้วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อการทดลองในเบื้องต้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไข่จากจังหวัดกำแพงเพชร และนำมาฉายรังสีแกมมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 ได้นำไปปลูกที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทดสอบสายพันธุ์ รูปร่าง ลักษณะของผลสด การเจริญเติบโต และคุณภาพของผล ในปี 2544 พบว่ามีพันธุ์ที่กลายไป 5 พันธุ์ จึงให้ชื่อว่า เกษตรศาสตร์บานาน่า หรือ ก.บ. 1, 2, 3, 4 และ 5 (Kasetsart Banana or K.B. 1, 2, 3, 4 and 5) และในปี พ.ศ. 2545 – 2546 ได้ทำการปลูกทั้ง 5 พันธุ์ เปรียบเทียบกับพันธุ์ปกติ ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ก.บ. 1, 2, 3 และ 5 มีความคงที่ ส่วน ก.บ. 4 ไม่คงที่ และได้ทำการตรวจสอบ DNA ด้วยเทคนิค SRAP พบว่าทุกสายพันธุ์มีความแตกต่าง แสดงให้เห็นว่า กล้วย ก.บ. ทุกสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์จริง จึงได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ ก.บ.1,2,3 และ 5 ไว้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป
- กล้วยบัวสีส้ม ได้ทำการทดลองในปี พ.ศ. 2543-2545 ใช้รังสีแกมมากับกล้วยบัว ได้ดอกกล้วยบัวที่ต่างไป โดยมีกลีบที่หนาและแข็ง สีสดใส กำลังทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์อยู่
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www3.rdi.ku.ac.th, www.flickr.com
สายพันธุ์ของกล้วยและสายพันธุ์ใหม่ของกล้วย