การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต (carbon credit)  คือ ผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การใช้พลังงานชีวภาพ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า) หรือผลการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การปลูกต้นไม้) ที่ได้รับรองและบันทึกในระบบทะเบียนของหน่วยงานเจ้าของมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะตกลงกันระหว่างประเทศที่จะทำการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

ทำไมต้องคาร์บอนเครดิต?

จุดประสงค์ในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตมีทั้งจุดประสงค์ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ การถ่ายโอนภายในประเทศเกิดขึ้นเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่วนการถ่ายโอนระหว่างประเทศนั้นเป็นการใช้คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของอีกประเทศหนึ่งที่ทำข้อตกลงร่วมกัน

carbon credit-3
การใช้ธรรมชาติเพื่อผลการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจก

คาร์บอนเครดิต ยังแบ่งได้หลายประเภทตามหน่วยของคาร์บอนเครดิตได้แก่

  1. คาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเป็น AAU (Assigned Amount Unit) คาร์บอนเครดิตประเภทนี้จะมีเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex I) โดยจะได้รับอนุมัติปริมาณก๊าซที่สามารถปล่อยได้ในแต่ละปีให้ไม่เกิน AAU ที่ได้รับ หรือหมายถึง ปริมาณคาร์บอนที่มีสิทธิในการปล่อยนั่นเอง
  2. คาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเป็น ERU (Emission Reduction Unit) คาร์บอนเครดิตประเภทนี้ ได้มาจากการโอนย้ายปริมาณก๊าซให้กันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจะมาจากการช่วยเหลือ ลงทุนทำโครงการด้วยกัน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในพิธีสารเกียวโต เรียกว่า กลไกการดำเนินการร่วม (Joint Implementation : JI)
  3. คาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเป็น CER (Certified Emission Reduction Unit) คาร์บอนเครดิตประเภทนี้ได้มาจากการโอนย้ายปริมาณก๊าซจากประเทศที่กำลังพัฒนา (Non Annex I) ภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) อีกหนึ่งกลไกในพิธีสารเกียวโต ที่ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนลงทุนให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาลดก๊าซ แต่ปริมาณก๊าซที่ลดได้นั้นจะถูกโอนย้ายเป็นของประเทศที่ลงทุนให้ กลไกดังกล่าวดำเนินการด้วยความสมัครใจ
  4. คาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเป็น RMU (Removal Unit) คาร์บอนเครดิตประเภทนี้ได้มาจากการลดการคายก๊าซจากการปลูกป่า (Afforestation) และการฟื้นฟูป่า (Reforestation) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตามที่ได้กล่าวถึง 2 กลไกข้างต้น ยังมีกลไกอีกกลไกหนึ่งในพิธีสารเกียวโต คือ กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย เรียกกลไกนี้ว่า กลไกการซื้อสิทธิการปล่อย (Emission Trading: ET) อย่างไรก็ตาม ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็สามารถขายคาร์บอนเครดิตประเภท CER ได้ โดยเข้าร่วมโครงการ CDM ในปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาส่งเสริมกลไกดังกล่าว

5 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลก

ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของโลก และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด

(ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วันที่ 21 ก.ย. 65)

ตลาดคาร์บอนเครดิต

Carbon market เป็นเหมือนสถานที่หรือชุมชนที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งก็คือ คาร์บอนเครดิต กับผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเครดิต ตลาดคาร์บอนถูกจัดขึ้นเพื่อมุ่งสู้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนยังเป็นตัวกลางในการดำเนินการซื้อขายคาร์บอน ที่สามารถส่งผลถึงการประสบความสำเร็จทางอ้อมของการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

ต้นไม้ที่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้

สำหรับปัจจุบันมีไม้ยืนต้นที่สามารถเป็นหลักประกันได้ 58 ชนิด ได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ไม้สกุลจำปี ทั้งจำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม ทั้งนี้ ประชาชนที่มีที่ดินและต้องการปลูกต้นไม้ สามารถขอรับกล้าไม้ได้ฟรีที่กรมป่าไม้ (ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ ในทุกจังหวัด ใกล้บ้าน)

รูปแบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market)
    คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ได้รับการรับรองทางกฏหมาย บังคับให้โดยภาพรวมแล้วมีการปล่อยคาร์บอนในระดับที่กำหนด มักเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ลงนามในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารโตเกียว เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
  2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)
    คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ไม่ได้ใช้กฏหมายควบคุมการปล่อยคาร์บอน แต่เป็นผู้ที่มีความสมัครใจในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก มีอัตราการเติบโตร้อยละ 8.5 ต่อปี เพราะยังเป็นนโยบายแบบสมัครใจ (Voluntary carbon market)
รูปแบบความร่วมมือ
การจัดทำความร่วมมือลดก๊าชเรือนกระจก

อุตสาหกรรมต้องการคาร์บอนเครดิตไปเพื่ออะไร?

เพราะมันคือเครดิตที่เป็นเสมือนเป็นกรรมสิทธิ์ให้โรงงานที่ซื้อไปมีสิทธิในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตของตนเพิ่ม หลังมีความจำเป็นต้องปล่อยเพิ่มมากกว่าโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ ประเทศผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ดังกล่าวจะสามารถทำการซื้อหรือขายกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ได้ด้วย

หลายประเทศที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ในบางครั้งการผลิตอาจไม่เพียงพอในปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอเครดิตในการปล่อยก๊าซเพิ่ม นั่นคือการไปซื้อคาร์บอนเครดิตของผู้ผลิตดังกล่าว เพื่อให้โรงงานของตนสามารถปล่อยก๊าซได้เพิ่มขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น

คาร์บอนเครดิตหาได้จากไหน?

อุตสาหกรรมต่าง ๆ เขาไปหาคาร์บอนเครดิตมาจากไหน แล้วคาร์บอนเครดิตหาได้จากอะไรบ้าง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างง่ายเลย คือ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากสังเกตดี ๆ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีนโยบาย กิจกรรมอาสาต่าง ๆ ในการลุยปลูกป่าหรือกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม นี่แหละคือแหล่งกำเนิดคาร์บอนเครดิต

ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลายไร่ ลองคำนวณดูก่อนสัก 1 ไร่ 1 ไร่นี้มีต้นไม้กี่ต้นที่เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่ เป็นต้น ส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับ อบก. คำนวนคาร์บอนเครดิตให้ รวมไปถึงขอใบรับรองด้วย ว่าเราได้คาร์บอนเครดิตของไร่นี้เท่าไหร่ และเราจะขายเท่าไหร่ โดยมีใบรับรองจาก อบก. ว่าเราสามารถขายได้ เป็นต้น

ในตลาดของโครงการ Verified Emission Reductions (VERs) ตอนนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 231,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลอัพเดตปี พ.ศ.2565)

แน่นอนว่าในอนาคต โครงการเหล่านี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มาแรงในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมสักวัน โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่ผู้ซื้อผู้ขายยังน้อย เนื่องจากอยู่ในตลาดภาคสมัครใจ ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับชัดเจน ยังคงเป็นการตลาดที่มีอิสระในการซื้อขายอยู่พอสมควร

carbon credit-2
การปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะช่วยในการจูงใจภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายให้หันมาลดการปล่อยก๊าซแต่พอดีในกระบวนการผลิตสินค้าของตนตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้ด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมสาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการจัดการของเสียให้ได้ 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.gotoknow.org, www.erdi.cmu.ac.th, www.re-fti.org, www.soc.swu.ac.th, www.gfms.gistda.or.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment